วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อำนาจกับการรีดภาษี / โดย Pegasus

On June 19, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

บ่นกันทั่วว่ายุคนี้เป็นยุคภาษีอาน มีทั้งภาษีที่เก็บจากรายได้ เก็บจากราคาสินค้า และภาษีแอบแฝงที่เกิดจากต้นทุนของทางราชการอีก เช่น มีข้อห้ามข้อจำกัดต่างๆจนทำให้การประกอบธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เสียเวลา เสียเงินทองมาก ทำให้ต้องขายสินค้าราคาแพงกว่าคู่แข่ง เป็นต้น

ปรกติการเก็บภาษีมีเป้าหมายเพื่อนำเงินมาหล่อเลี้ยงระบบราชการและพัฒนาประเทศ จึงต้องใช้ด้วยความประหยัด เพื่อทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข

การเก็บภาษีมีมาแต่สมัยโบราณ แต่ความหมายแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย สมัยศักดินานั้นการเก็บเงินจากราษฎรมีความหมายถึงการเก็บส่วยเพื่อนำมาบำรุงบ้านเมือง โดยให้ผู้ปกครองนำเงินที่จัดเก็บได้ไปใช้ตามใจชอบเพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด รวมถึงใช้ในการสู้รบกับศัตรูและดูแลราษฎร

ในสมัยราชวงศ์ของจีน ผู้เป็นฮ่องเต้ยุคแรกๆเกิดจากความสามารถในการทำชลประทานบ้าง ทำการเกษตรบ้าง ผู้ใดมีความสามารถก็จะได้สถาปนาขึ้นมาปกครอง ในยุคต่อมามีการยึดอำนาจเพื่อสืบทอดอำนาจของราชวงศ์ตามสายเลือดดังในภาพยนตร์

ส่วนในยุโรปยุคโบราณหรือตะวันออกกลางอย่างในอียิปต์มักจะยกให้นักรบที่มีความสามารถขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง ราษฎรยกทรัพย์สมบัติบางส่วนหรือส่งผลผลิตให้เป็นเสบียงในคลังหลวง ซึ่งก็คือส่วย เป้าหมายก็เพื่อให้ผู้ปกครองคุ้มครองการทำมาหากินและอยู่อาศัยอย่างสงบสุข ราษฎรในยุคโบราณต่างก็พอใจ

ที่น่าสนใจคือ เรื่องเล่าในอังกฤษเรื่องจอมโจร “โรบินฮูด” สมัยที่ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ การเก็บภาษีมากหรือน้อยอยู่ที่กษัตริย์เพียงพระองค์เดียว พระเจ้าจอห์นซึ่งนิยมการทำสงครามและใช้เงินอย่างสิ้นเปลือง ทำให้มีการรีดภาษีสร้างความเดือดร้อนกับราษฎร จนถูกนำมาเป็นตัวอย่างเล่าขานกันจนทุกวันนี้

ส่วนยุคสมัยนี้เรื่องที่เป็นต้นกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยคือ กฎบัตรใหญ่หรือแมกนาคาร์ตาที่ทราบกันอยู่แล้ว

อังกฤษสมัยนั้นเรียกเก็บภาษีทุกอย่างในชีวิตประจำวันของราษฎร คือเก็บหมด วันดีคืนดีจะมีทหารออกมาประกาศว่าจะเก็บภาษีอะไรบ้าง จนเป็นที่ติดตลกที่พูดกันว่าเก็บภาษีแม้แต่การหายใจ เพราะถือว่ากษัตริย์เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้ราษฎรลำบากและยากจน ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบไปถึงเหล่าบารอนหรือพวกเจ้าเมืองที่ราษฎรเหล่านั้นสังกัด ซึ่งจะเรียกว่าการปกครองท้องถิ่นก็ได้ เพราะทำให้เงินที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเองลดลง แถมยังต้องเกณฑ์ราษฎรไปออกรบบ่อยครั้ง เศรษฐีคนใดไม่ยอมเสียภาษีจะถูกถอนฟันวันละซี่จนกว่าจะยอมจ่าย

จึงทำให้มีการบีบบังคับให้กษัตริย์จอห์นต้องลงพระนามในมหากฎบัตรใหญ่ ทำให้เกิดระบบรัฐสภาหรือ parliament มีผู้แทนจากเขตต่างๆมาประชุมเพื่อมีมติว่าจะขึ้นภาษีหรือระดมคนไปรบได้หรือไม่และแค่ไหน เป็นต้น แต่ก็ไม่ราบรื่นนัก เพราะมีการขัดขืนอยู่เสมอ จนสุดท้ายเกิดการปฏิวัติอีกครั้งในสมัยพระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรี ทำให้อังกฤษเกิดระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

การรีดภาษีเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาณานิคมอเมริกันประกาศอิสรภาพ เพราะทนต่อการขูดรีดภาษีต่อไปไม่ไหว

ราษฎรในยุโรปปัจจุบัน โดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวียมีการเก็บภาษีสูงกว่าไทยมากและอย่างทั่วถึง แต่ไม่ได้ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เพราะเงินที่เก็บไปนำได้ไปใช้อย่างน่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาฟรีตั้งแต่เด็ก กิจการสาธารณูปโภคและการรักษาพยาบาล เรียกว่าตั้งแต่เกิดจนตายประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตอย่างมาก ซึ่งคุ้มค่ากับภาษีที่ต้องจ่ายในอัตราที่สูง ทำให้กล่าวกันว่าบางครั้งแทบไม่มีกำลังใจทำงาน เพราะคนรวยกับคนจนไม่ต่างกันมาก ปัญหาโจรผู้ร้ายแทบไม่มี คุกก็ว่างเปล่า ทุกคนเต็มใจที่จะเสียภาษี เพราะรู้ว่ามีประโยชน์กับตนเองอย่างแท้จริง

จึงต้องกลับมาคิดว่า การเก็บภาษีหรือรีดภาษีที่ประชาชนเต็มใจกับการเก็บภาษีแล้วนำไปใช้โดยมีข้อกังขาของประชาชนนั้นเป็นอย่างไร


You must be logged in to post a comment Login