วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

หนังสืองานศพคณะราษฎร / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On June 19, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

บทความ “อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร” โดยนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ในศิลปวัฒนธรรม (มิถุนายน 2560) เป็นบทความที่น่าสนใจมากในยุคสมัยที่หมุดคณะราษฎรถูกขุดและหายสาบสูญ เป็นบทความเชิงสำรวจข้อมูลชั้นต้นเกี่ยวกับคณะราษฎร และเป็นบทความเรื่องแรกที่พยายามเล่าประวัติศาสตร์คณะราษฎรผ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพ

คณะราษฎรเป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เริ่มก่อตั้งในฝรั่งเศสราว พ.ศ. 2469 เริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ และประยูร ภมรมนตรี ต่อมา ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) เข้าร่วมด้วย เปิดประชุมเป็นทางการครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 (ปฏิทินเก่า) มีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน นอกเหนือจาก 3 คนแรกแล้ว อีก 4 คนคือ หลวงศิริราชไมตรี ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี ตั้ว ลพานุกรม และแนบ พหลโยธิน โดยให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าคณะชั่วคราว บุคคลต่อมาที่ได้รับการชักชวนเข้าร่วมที่สำคัญคือ ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) ซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ

แม้นักเรียนนอกเหล่านี้จะกลับมาประเทศไทยแล้ว แต่โอกาสจะก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังไม่เห็นทาง จนกระทั่งประยูร ภมรมนตรี ประสบความสำเร็จในการชักชวนนายทหารบก 4 คนเข้าร่วมคือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) พระยาพหลฯรับตำแหน่งหัวหน้าคณะราษฎร พระยาทรงสุรเดชเป็นรองหัวหน้าคณะ แต่มีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นผู้วางแผนยึดอำนาจจนการปฏิวัติ 24 มิถุนายนประสบความสำเร็จ

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้พยายามรวบรวมประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จากหนังสืออนุสรณ์งานศพมาแล้วคือ ธีรัชย์ พูลท้วม ซึ่งมิได้เป็นนักประวัติศาสตร์และมิได้เป็นญาติของผู้ก่อการ แต่เกิดใน พ.ศ. 2475 ที่เห็นว่าคณะราษฎรเป็น “คณะบุคคลที่กล้าหาญเสี่ยงต่อชีวิต ไม่เฉพาะตนเองเท่านั้น ยังรวมถึงครอบครัวด้วย เพื่อที่จะนำประชาธิปไตยสู่ประเทศ” ธีรัชย์ พูลท้วม ใช้ความพยายามรวบรวมเรื่องราวจากหนังสืองานศพมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ “ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕” โดยทำงานอยู่กับกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2539 หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสืองานศพของธีรัชย์

สำหรับงานของนริศเริ่มเรื่องด้วยการรวบรวมรายชื่อผู้ก่อการคณะราษฎร ซึ่งส่วนมากยึดตามรายชื่อของประยูร ภมรมนตรี ต่อมาธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ สรุปได้ 102 รายชื่อ แต่ความจริงผู้เข้าร่วมน่าจะมากกว่านั้น เพราะประยูรรวบรวมรายชื่อเฉพาะชั้นสัญญาบัตร อย่างน้อยที่สุดในหนังสือนามานุกรม พ.ศ. 2480 มีรายนาม “ผู้ตั้ง กำเนิดรัฐธรรมนูญ” ที่มีชื่อเพิ่มมาอีก 17 คน แต่ยังมีรายชื่อที่ไม่ได้เข้าร่วมในรายชื่อคณะราษฎร เช่น กระจ่าง ตุลารักษ์ น้องชายของสงวน ซึ่งอธิบายตนเองว่าเป็น “คณะราษฎรคนสุดท้าย” ก็ไม่มีรายชื่อในบัญชีใด ในฝ่ายทหารเรือก็มีรายชื่ออีก 4 คนที่นัดก่อการไว้ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน แต่พอเลื่อนเป็น 24 มิถุนายนจึงตามกันไม่ทัน และยังมีรายชื่อทหารเรือชั้นผู้น้อยที่เข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏในบัญชีรายชื่อ และมีบางราย เช่น พระสิทธิเรืองเดชพล ถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏเมื่อ พ.ศ. 2481 ก็เคยถูกอ้างว่าเป็นผู้ร่วมมือกับคณะราษฎรในสายพระยาทรงสุรเดช

บทความของนริศยังเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของคณะราษฎร เกี่ยวข้องกับหนังสืองานศพ เช่น งานพระราชทานเพลิงศพของพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อ พ.ศ. 2490 วันที่คณะผู้ก่อการได้มาพบกัน และเป็นครั้งสุดท้ายการพบกันของปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังจากนั้นเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ทำให้เส้นทางชีวิตของผู้นำคณะราษฎรทั้ง 2 คนแยกออกจากกัน

พระยาทรงสุรเดชลี้ภัยไปกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2481 และถึงแก่กรรมที่กัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2487 ฌาปนกิจที่วัดปทุมวดี พนมเปญ แต่เมื่อสงครามเอเชียบูรพายุติลง ได้นำอัฐิกลับมาทำพิธีอย่างสมเกียรติที่วัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งปั่น แก้วมาตย์ ส.ส.นครพนม ได้เขียนเรื่อง “บันทึกพระยาทรงสุรเดช” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2490

สำหรับพระประศาสน์พิทยายุทธไปเป็นอัครราชทูตที่กรุงเบอร์ลิน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และอยู่ที่เยอรมนีจน พ.ศ. 2488 เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามและกองทัพโซเวียตเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน พระประศาสน์พิทยายุทธถูกจับเป็นเชลย เพราะถือว่าประเทศไทยเข้าสงครามในฐานะฝ่ายอักษะ โซเวียตจึงปฏิบัติในฐานะชนชาติศัตรู เมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับได้เขียนหนังสือเรื่อง “225 วันในคุกรัสเซีย” และเล่าเบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2492

บทความของนริศยังได้เล่าถึงชีวิตและหนังสืองานศพของผู้ก่อการคณะราษฎรคนอื่นคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลวงทัศนัยนิยมศึก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 คนแรกของคณะราษฎร ถึงแก่กรรมเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 พ.ต.หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) เสียสละชีวิตครั้งกบฏบวรเดช ตุลาคม พ.ศ. 2476 นอกจากนี้หลวงอดุลเดชจรัส หลวงกาจสงคราม หลวงเสรีเริงฤทธิ์ และขุนศรีศรากร ก็มีเรื่องเล่าอันน่าสนใจ

สำหรับสายทหารเรือ งานสำคัญคือข้อเขียนของ น.อ.หลวงศุภชลาศัย เรื่อง “จอมพลในทัศนะของข้าพเจ้า” ซึ่งเขียนเมื่อ พ.ศ. 2492 เรื่องที่เด่นมากคือบันทึกของ พล.ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) เล่าเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงกรณีกบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 และงานเขียนของ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เรื่อง “กุหลาบเพื่อนตาย 24 มิถุนายน 2475” หนังสืองานศพของกำลาภ (กุหลาบ) กาญจนสกุล นอกจากนี้คือ “นิทานชาวไร่” ของ น.อ.สวัสดิ์ จันทนี ในสายพลเรือน หนังสืองานศพของควง อภัยวงศ์ เรื่อง “เรื่องราวของ พ.ต.ควง อภัยวงศ์” ก็น่าสนใจอย่างมาก เล่ากันว่าณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เรียบเรียงตามคำบอกเล่าของนายควง แต่เล่มที่โดดเด่นคือ “ชีวิตห้าแผ่นดินของข้าพเจ้า” เขียนโดยประยูร ภมรมนตรี นอกจากนี้คือหนังสืองานศพของสงวน ตุลารักษ์ และบุญล้อม (ปราโมทย์ พึ่งสุนทร) เล่าเรื่องขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ท้ายที่สุดบทความยังรวบรวมรายชื่ออนุสรณ์งานศพของภรรยาผู้ก่อการคณะราษฎรอีก 12 เรื่อง โดยเฉพาะหนังสืออนุสรณ์งานศพของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เล่าเรื่องราวไว้มากมาย

ในโอกาสวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เป็นวันครบรอบ 85 ปีการปฏิวัติ 2475 ซึ่งนำประเทศมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ จึงขอระลึกถึงคณะราษฎรผ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพเหล่านี้


You must be logged in to post a comment Login