วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สู้ตามสเต็ป / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On June 19, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ประเด็นร้อนที่เริ่มส่งสัญญาณออกมาแล้ว นั่นคือการร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ใช้แทนฉบับเก่าที่อ้างว่ามีช่องโหว่และออกมานานแล้ว สมควรแก้ไขปรับปรุงใหม่

อย่างที่ทราบกันว่าตั้งแต่รัฐประหารเมื่อกลางปี 2557 ข่าวคราวเรื่องการปรับแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่คุ้นหูกันดีในชื่อบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคมีมาอย่างต่อเนื่องหลากหลายแง่มุม เช่น ไม่รักษาฟรีทุกคน ใช้ระบบร่วมจ่าย เพราะโครงการนี้เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป

ชัดเจนว่ามีธงการปรับแก้

ขณะนี้มาถึงขั้นตอนการเปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศแล้ว

หลักใหญ่ใจความที่เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนมีทั้งหมด 14 หัวข้อ ประกอบด้วย

1.การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย

2.กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

3.การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด

4.เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯได้

5.นิยาม “บริการสาธารณสุข” คือบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล

6.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการครอบคลุมทุกสิทธิ

7.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย

8.การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย

9.การร่วมจ่ายค่าบริการ

10.การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์

11.องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

12.องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

13.แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

14.การใช้จ่ายเงินบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.

ประเด็นร้อนที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดน่าจะเป็นข้อ 9 การร่วมจ่ายค่าบริการ และข้อ 10 การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะช่วยยืนยันข่าวลือที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าต่อไปจะไม่มีการรักษาฟรีให้ทุกคนเหมือนที่ได้สิทธิอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่อยากทราบรายละเอียดสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์กลางสำหรับการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายไทย (www.lawamendment.go.th) โดยจะมีเอกสารเผยแพร่ 3 ส่วนหลักคือ ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่มีการปรับปรุงแก้ไข เอกสารแนวคิดการแก้ไข (Concept Paper) 14 ประเด็น และตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตรา พร้อมกับคำแนะนำในการอ่านเอกสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน

การรับฟังความเห็นเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดการรับฟังความเห็นในวันที่ 18 มิถุนายนนี้

การเปิดรับฟังความเห็นผ่านออนไลน์และช่องทางอื่นยังไม่ทราบว่ามีใครเข้าไปแสดงความเห็นมากน้อยแค่ไหนและแสดงความเห็นกันอย่างไร แต่สำหรับเวทีประชาพิจารณ์ระดับภูมิภาคที่จะจัดขึ้น 4 เวทีทั่วประเทศนั้นตอนนี้ล่มไปแล้ว 2 เวที คือที่สงขลาและเชียงใหม่

ยังเหลืออีก 2 เวที คือที่ขอนแก่นในวันที่ 17 มิถุนายน และกรุงเทพฯวันที่ 18 มิถุนายน

ความจริงเวทีประชาพิจารณ์ที่สงขลาและเชียงใหม่ไม่ถึงกับล่มเสียทีเดียว แต่มีคนเข้าร่วมแสดงความเห็นน้อยมาก เพราะถูกบอยคอตจากกลุ่มต่างๆในพื้นที่เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้กฎหมาย เพราะไม่เชื่อว่าเมื่อร่วมแสดงความเห็นแล้วจะถูกนำไปปรับแก้กฎหมาย โดยเชื่อว่าเป็นเพียงพิธีกรรมทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนเท่านั้น เพราะผู้ที่ปรับแก้มี “ธง” อยู่แล้ว

ทั้งนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เพราะเห็นว่าหลักการของกฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานการบริการที่มีคุณภาพ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้ประชาชนจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองและให้เกิดความสมัครใจร่วมจ่ายเพื่อทำให้เกิดความสมดุล

หลังรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลขณะนั้นเอาใจประชาชนด้วยการประกาศให้รักษาฟรีไม่เก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท โดยนำไปผูกโยงกับเรื่องทางการเมือง เพราะบัตรทอง 30 บาทเป็นนโยบายที่ครองใจประชาชนอย่างมากของฝ่ายการเมือง

นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารเงินกองทุนใหม่ ใช้วิธีจ่ายเงินตามบริการคัดกรองโรค รักษา หรือการเจ็บป่วย โดยเงินเหมาจ่ายทั้งหมด 100% ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน บริการรักษาพยาบาล บริการเฉพาะ และอื่นๆ ทำให้เกิดการโยกย้ายเงินเหมาจ่ายรายหัวไปให้พื้นที่ที่มีการเจ็บป่วยมาก ทำให้งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องมากขึ้นด้วย

แม้การออกกฎหมายใหม่ยังเหลือขั้นตอนอีกมากพอสมควร คือหลังฟังความเห็น ทำการปรับแก้ตามความเห็น แล้วต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ หากไม่เห็นชอบก็มี 2 ทางคือ นำกลับมาปรับแก้ในส่วนที่คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ หรือแขวนกฎหมายไว้

ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูรายละเอียดถ้อยคำกฎหมายก่อนส่งกลับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง หากได้ไฟเขียวจึงส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเป็นกฎหมายบังคับใช้

แม้เวลาในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปัจจุบันจะเหลืออีกเพียงปีเดียว แต่หากเปิดไฟเขียวตลอดทางร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ก็สามารถออกมาใช้บังคับแทนของเดิมได้อย่างแน่นอน

แน่นอนว่าไม่ว่าจะทำการปรับแก้อะไรความเห็นย่อมมีหลากหลาย ในช่วงที่เวทีประชาพิจารณ์ยังเหลืออีก 2 เวที ผู้ที่ไม่เห็นด้วยควรเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้สื่อนำเสนอประเด็นที่เห็นต่างกัน

การไม่เข้าร่วมทำให้สื่อเสนอแต่ประเด็นการไม่เข้าร่วมซึ่งออกไปในเชิงการเมือง ทำให้ประชาชนขาดโอกาสได้รับข้อมูลเหตุผลว่าที่ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร หากกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้แล้วจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ประชาชนจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง หากไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายใหม่มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

เมื่อยังมีโอกาสควรต่อสู้ด้วยข้อมูลเหตุผลก่อนเผื่อผู้มีอำนาจจะรับฟัง ส่วนการต่อสู้ด้วยแนวทางอื่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนควรรอเวลาที่เหมาะสม


You must be logged in to post a comment Login