- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เปิดหวูดวิ่งยาว
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
แม้จะมีเสียงคัดค้านเสียงวิจารณ์ดังหนาหู แต่รัฐบาลทหารคสช.เลือกแก้ปัญหาที่ละเปลาะ ปลดไปที่ละเรื่องเพื่อให้การใช้อำนาจมาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเดินหน้าต่อไปตามธงที่กำหนด
ล่าสุด 3 องค์กรสำคัญอย่าง สมาคมสถาปนิกสยาม, วิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทย และสภาวิศวกร เปลี่ยนท่าทีจากคัดค้านเป็นเห็นชอบกับคำสั่งแล้ว หลังเข้าหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
นายวิษณุ ชี้แจงความจำเป็นต้องออกคำสั่งคสช. เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นคนทำโครงการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีต้องมีวิศวกรของไทยเข้าร่วมด้วยอยู่แล้ว ซึ่งในเงื่อนไขต่อไปในการร่างสัญญาก็จะมีการบรรจุเรื่องนี้ซึ่งทุกอย่างจะมีความชัดเจนขึ้น
ส่วนทางสภาวิศวกรไทย โดย นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ก็บอกเพียงว่าจะหารือการพัฒนาหลักสูตรกับทางการจีน ตามคำสั่งคสช.ที่ให้กระทรวงคมนาคมตั้งกรรมการขึ้นมาประสานกับสภาวิชาชีพวิศวกร ทางไทยจะพยายามรักษากฎหมายวิศวกรอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันไม่สามารถที่จะขัดแย้งคำสั่งคสช.ได้ ฉะนั้นวิธีการดีที่สุดคือ ทำให้ทางการจีนมีความรู้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นการรับประกันด้านความปลอดภัยในการดำเนินงานในโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสภาวิศวกรไทย ทั้งนี้ สภาวิศวกร จะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดการถ่ายโอนเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม
สรุปว่า ทั้ง 3 องค์กรยอมรับให้วิศวกรจากจีนเข้ามาทำงานได้โดยที่ไม่ต้องสอบให้อนุญาตประกอบวิชาชีพในไทย แต่มีเงื่อนไขให้เข้ารับการอบรมและต้องผ่านการทดสอบตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ 5 ฝ่ายจัดทำขึ้นก่อน โดยเบื้องต้นจะทดสอบ 2 เรื่อง ด้านเทคนิค กับ ด้านกฎหมายความปลอดภัยของไทย
นอกจากนี้ ยังขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรรมสถานฯ มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกกับการไม่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในไทย
ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีว่าจะให้ฝ่ายจีนถ่ายทอดอย่างไร ถ่ายทอดให้ใคร ถ่ายทอดที่ไหน ถึงจะเป็นไปตามจุดประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อฝ่ายไทย
ทั้งนี้ คงต้องรอดูเพราะตามข่าวบอกว่าจะมีรายละเอียดกำหนดเอาไว้ในสัญญาที่จะมีการลงนามกัน ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นร่างสัญญาภายใน 2-3 เดือนหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม หากกระแสคัดค้านต่อต้านยังไม่เบาบางลง รัฐบาลทหารคสช.วางหมากแก้ไขไว้แล้ว โดยจะนำร่างสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าผ่านความเห็นชอบจากสภา และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
เมื่อ 3 องค์กรที่ออกตัวคัดค้านแรงอย่าง สมาคมสถาปนิกสยาม, วิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทย และสภาวิศวกร ยอมเปลี่ยนท่าทีแล้ว เสียงคัดค้านที่ดังมาจากส่วนอื่นคงไม่มีความหมาย
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลทหารคสช.คิดเร็วทำเร็วโดยเลือกเคลียร์กับกลุ่มคัดค้านที่มีความหนักในสังคมที่อยู่ในรูปของสมาคมหรือสภาวิชาชีพก่อน
ส่วนเสียงคัดค้านที่ดังจากนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ให้น้ำหนักเพราะมั่นใจว่าสามารถชี้ใประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องทางการเมืองได้
เมื่อดูตามท่วงทำนองและจังหวะก้าวย่างของรัฐบาลทหารคสช.ต่อเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนออกคำสั่งมาตรา 44 จะเห็นว่าได้คิดพิจารณาประเมินสถานการณ์มาเป็นอย่างดีแล้ว และหาทางแก้ปัญหาเอาไว้รองรับเป็นอย่างดีแล้วเช่นเดียวกัน
จึงเชื่อได้ว่างานนี้เปิดหวูดวิ่งยาวไม่มีชะงัก ไม่มีทบทวน ไม่ยกเลิก
การลงนามในสัญญาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
You must be logged in to post a comment Login