วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สิทธิที่เท่าเทียม? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On June 22, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

การทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “บัตรทอง” ฉบับใหม่ดูไม่ค่อยราบรื่นสักเท่าไร เพราะไม่ว่าจะไปถามความเห็นที่ไหนก็มีแต่ผู้คัดค้าน “ไม่เห็นด้วย” กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น บางแห่งมีการ “วอล์กเอาต์” จนเวทีประชาพิจารณ์ต้องล่มไปโดยปริยาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2560 “เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ” กว่า 200 คน เดินทางมาคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายบัตรทองหน้าโรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ก่อนจะมีการยื้อแย่งป้ายคัดค้านให้ยุติการแก้กฎหมายฉบับนี้จนเกิดความชุลมุนขึ้น ภายหลังจึงควบคุมสถานการณ์ได้โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยังปักหลักประท้วงอยู่หน้าห้องประชุมอย่างสงบ

น่าสนใจอย่างยิ่งว่าร่าง พ.ร.บ.บัตรทองฉบับใหม่มีเนื้อหาอย่างไร เหตุใดภาคประชาชนจึงออกมาคัดค้านการทำประชาพิจารณ์หลายต่อหลายครั้ง ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ติดตามข่าวอาจสงสัยว่าทำไมต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และการออกกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 48.8 ล้านคนทั่วประเทศหรือไม่ อย่างไร ลองมาดูข้อเท็จจริงกันดีกว่า

การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้เกิดจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของท่านผู้นำสูงสุด (อีกแล้ว) เพื่อหวังจะแก้ปัญหาในการบริหารจัดการงบประมาณของโรงพยาบาลให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีแต่เรื่องราวและข้อขัดข้องมาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ในเวลาต่อมา

การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ “คณะกรรมการร่างกฎหมาย” ให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งใช้มานานถึง 15 ปี มีข้อจำกัดหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการเงินกองทุน ทำให้งบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่สามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลได้ เพราะติดขัดในข้อกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ทำ

ดังนั้น หากต้องการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เดินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องปรับปรุงและแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยต้องจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

การประชาพิจารณ์ครั้งนี้มีคำถามทั้งหมด 14 ข้อ แต่ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่มีเพียงแค่ 3 ประเด็นหลักๆเท่านั้นที่ภาคประชาชนมองว่าหากแก้ไขแล้วจะทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” อีกทั้งยัง “ลดการมีส่วนร่วมของประชาชน” เรื่องแรกคือ “ปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ด สปสช.” เรื่องที่ 2 คือ “การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว” และเรื่องสุดท้ายคือ แนวโน้มที่จะให้ “ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่าบริการ”

ทั้ง 3 ประเด็นมีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าภาคประชาชนจะ “เสียเปรียบ” อย่างไร เริ่มจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ด สปสช. จาก 30 คน เป็น 32 คน แทนที่จะปรับสัดส่วนตัวแทนจากภาคต่างๆให้สมดุลกัน แต่กฎหมายฉบับนี้กลับไปเพิ่มโควตาให้ตัวแทนโรงพยาบาลต่างๆพร้อมกับลดจำนวนสมาชิกตัวแทนภาคประชาชน คือจากเดิมที่มีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน ก็ลดลงเหลือแค่ 3 คน ขณะเดียวกันก็เพิ่มผู้แทนของโรงพยาบาลในบอร์ดถึง 7 คน

ดังนั้น บอร์ดในอนาคตจึงมี “ผู้ให้บริการ” มากกว่า “ผู้รับบริการ” เห็นกันชัดๆว่าเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคำถามต่อว่า ถ้า สปสช. จะต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ บอร์ดจะพิจารณาอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมาได้อย่างไร เพราะเชื่อได้ว่าการพิจารณามีสิทธิที่จะโอนเอียงไปทางให้ประโยชน์ต่อสถานบริการมากกว่าผู้รับบริการอย่างแน่นอน

ส่วนการแยกเงินเดือนบุคลากรออกมานั้น ภาคประชาชนมีความกังวลว่าอาจส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ขอย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือกระจุกตัวอยู่ตามโรงพยาบาลในเมืองมากกว่า เพราะไม่มีการ ล็อกเงินเดือนเอาไว้ตามพื้นที่ ดังนั้น อาจทำให้พื้นที่ชนบทขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เกิดความเหลื่อมล้ำและกลายเป็นปัญหาใหญ่อีก ทั้งที่กฎหมายปัจจุบันป้องกันกรณีนี้ไว้อย่างดีแล้ว

ประเด็นสุดท้ายที่ภาคประชาชนเป็นกังวลมากที่สุดคือ “การร่วมจ่ายค่าบริการ” ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยมีแนวคิดจะให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินค่ารักษาด้วย เพราะเห็นว่าการใช้งบประมาณจากฝั่งรัฐเพียงทางเดียวและมีแนวโน้มใช้งบประมาณสูงขึ้น รัฐบาลไม่สามารถรับผิดชอบได้ไหว แต่ประเด็นนี้ถูกแพทย์ส่วนหนึ่งและภาคประชาชนคัดค้าน เพราะมองว่าจะยิ่งทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงการรักษา ประเด็นดังกล่าวจึงเงียบไป

จนกระทั่งในการทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคำถามกรณีที่ประชาชนควรร่วมจ่ายค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่? ทำให้ภาคประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลยังมีแนวความคิดที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายอยู่ จึงออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกเรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการในกฎหมายฉบับนี้ เพราะหากกฎหมายฉบับใหม่ไม่ยกเลิกประเด็นนี้ ประชาชนอาจมีโอกาสร่วมจ่ายในอนาคตก็เป็นได้

เรื่องที่ผมนำมาบ่นให้ฟังในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ผมอยากให้รัฐบาลรับฟังและพิจารณาสาระสำคัญของการแสดงความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในครั้งนี้อย่างถ่องแท้มากกว่าความพยายามปกป้องความมั่นคงของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว การที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่ได้แปลว่า “ใครผิด” และต้องมี “การเมือง” อยู่เบื้องหลัง แต่ควรแปลว่าสิ่งที่รัฐบาลคิดอาจ “ไม่ใช่” สิ่งที่ “ถูกต้อง” และ “ดีที่สุด” สำหรับประชาชนในเวลานี้ก็เป็นได้

สุดท้ายนี้อดไม่ได้ที่จะพูดถึง “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลทักษิณ ให้คำจำกัดความไว้ว่า “การสร้างสุขภาพเป็นหน้าที่ของทุกคน และประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยต้องมีการจัดสรรงบประมาณในการสร้างสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณที่ผิดจะทำให้โครงการต้องใช้งบประมาณสูงเกินจริงและไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้ออื่นๆได้ การจัดงบประมาณที่มุ่งแต่การรักษาโรคอย่างเดียวผิดหลักการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะการสร้างสุขภาพมิได้มีเพียงการรักษาโรค แต่จำเป็นต้องมีนโยบายคู่ขนานที่จำเป็นต่อการสร้างสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายเพื่อลดการเป็นโรค การให้ความรู้ในการป้องกันโรค เป็นต้น”

คุณหญิงหน่อยสรุปไว้ได้ชัดเจนมากๆ คงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมอีก พบกันฉบับหน้าครับ


You must be logged in to post a comment Login