วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

หมดยุคนโยบาย

On June 23, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เรียบร้อยโรงเรียน คสช.เมื่อเครื่องมือรับประกันความไม่เสียของการทำรัฐประหารครั้งนี้ ผ่านออกมาเป็นกฎหมายเตรียมมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวาน (21 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 216 คะแนนต่อ 0 ผ่านความเห็นชอบวาระ 3 พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 1 วัน สนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้ออกมามีผลบังคับใช้แล้วด้วยคะแนน 218 ต่อ 0

ผลหลังจากที่พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ออกมาบังคับใช้อย่างแรกเลยคือจะทำให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ชุดปัจจุบันพ้นสภาพไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ แม่น้ำสายปฏิรูปเป็นอันแห้งเหือดหายไปอีก 1 สาย คงเหลือเพียง 3 สายคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสนช.

ย้อนไปที่พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เมื่อมีสภาพบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว รัฐบาลต่อไปที่จะมาจากเลือกตั้งจะต้องทำการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านตามที่กำหนดเอาไว้ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมาย 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านการศึกษา 6.ด้านเศรษฐกิจ 7.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.ด้านสาธารณสุข 9.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 10.ด้านสังคม และ 11.ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ผลอีกอย่างที่จะตามมาคือ ครม.จะทำการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับหน้าที่ศึกษาเสนอแนวทางปฏิรูปแต่ละด้าน โดยที่คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านจะมีสมาชิกได้ไม่เกิน 13 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี

ขั้นตอนการทำงานคือเมื่อครม.ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านขึ้นมาแล้ว คณะกรรมการฯจะมีเวลาทำงาน 90 วัน เพื่อสรุปข้อเสนอแนวทางปฏิรูปที่ตัวเองรับผิดชอบเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการฯชุดต่างๆ เพื่อทำข้อเสนอส่งต่อไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อจัดทำเป็นร่างยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

สำหรับกรอบเวลาที่จะได้มาซึ่งร่างยุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้ไปอีก 20 ปีนั้น กฎหมายให้เวลาไว้ 120 วัน เมื่อเสร็จแล้วให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีมีเวลาพิจารณาได้ 30 วัน หากเห็นชอบส่งต่อให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบภายใน 30 วัน ผ่านจากสนช.มีกรอบเวลาสำหรับการนำขึ้นทูลเกล้าอีก 10 วัน

ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ร่างยุทธสาสตร์ชาติมีกำหนดคลอดออกมาภายใน 6 เดือน เท่ากับว่าจะคลอดออกมาในช่วงที่รัฐบาลทหารคสช.ยังบริหารประเทศอยู่อย่างแน่นอน

เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติถูกประกาศออกมาแล้ว จะมีสภาพบังคับตามกฎหมาย รัฐบาลต่อไปที่ไม่ได้มีส่วนร่วมคิดยุทธสาสตร์นี้ต้องนำไปยึดถือปฏิบัติไม่มีสิทธิ์บิดพลิ้ว หากไม่ดำเนินการจะเข้าข่ายมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบทลงโทษรอไว้อยู่แล้ว

การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่มีผลผูกพันไปอีก 20 ปี ดีหรือไม่ดีไม่ว่าใครจะพูดก็คงไม่มีน้ำหนักเท่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า

“น่าเสียดายที่กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ได้วางหลักการแนวทางปฏิบัติที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกฎหมายมากขึ้น โดยจำกัดให้ สนช.หรือวุฒิสภา ในอนาคต เป็นหลักในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ แทนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณามากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการเพิ่มภาระให้กับรัฐบาลในอนาคต ทำให้มีการทำงานที่ยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งแนวทางที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเกิดความชัดเจน และเห็นผลควรสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับประชาชนและสังคมให้มากขึ้นเมื่อประชาชนเข้าใจและปฏิบัติตาม แนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติจึงจะเกิดผล”

จากคำพูดนี้สรุปได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าหมดยุคพรรคการเมืองคิดนโยบายหาเสียงกับประชาชน เพราะนโยบายที่คิดหากไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่รัฐบาลทหารคสช.ไข่ทิ้งไว้ ไม่มีสิทธิ์นำมาใช้ปฏิบัติ


You must be logged in to post a comment Login