- ปีดับคนดังPosted 4 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
พุทธวจน-สักกายะ-สักกายันตะ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี
คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี
ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่ได้ประสงค์จะทำตัวเป็นหลวงพ่อสอนธรรมะ แต่มีความจำเป็นจะต้องกล่าวอ้างอิงถึง “พุทธวจน” ซึ่งเหตุผลจริงๆที่เขียนมีอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก เนื่องจากนักปราชญ์ใหญ่ทางปรัชญาประวัติศาสตร์อย่าง Arnold Toynbee เคยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ยังมีสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างหนึ่งซึ่งใช้ภาษาอังกฤษว่า command mind หรือจิตสามัญ ยังมีอยู่ในปัจเจกชนทุกคน จิตสามัญนี้เองที่กลายเป็นจิตสำนึกทางสังคม Toynbee ยังกล่าวว่า มันเป็น mind record ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนประวัติศาสตร์
ประการที่ 2 เป็นบริบทที่ใกล้เคียงกับ Toynbee แต่เป็นการเขียนของ Edward Hallett Carr ผู้เขียนกฎเกณฑ์ประวัติศาสตร์ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการชั้นนำทางประวัติศาสตร์ทั่วโลกต้องอ่าน คือหนังสือชื่อ “What Is History” โดยเขากล่าวว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของ “imagine” และ “thought” คือเรื่องของจินตนาการและความคิด ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมต้องพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องจิตพอสมควร
ประการที่สาม เป็นการเฉลยคำตอบของทุกคำถามข้างต้นคือ บังเอิญไปฟังการบรรยายธรรมะของสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในหัวข้อเรื่อง “พุทธวจน สักกายะ สักกายันตะ จะรู้จักตัวเราได้อย่างไร?”
ข้อนี้ต้องยอมรับความจริงพื้นฐานว่า อนุศาสนาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ได้ คือคำพูดของพระพุทธเจ้าเราต้องเชื่อว่าเป็นความจริง เป็นวาจาที่บริสุทธิ์ ไม่มีการกล่าวโกหก ไม่มีวาจาส่อเสียด คือคนเราที่ว่ายวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่รู้จักจบ วนเวียนอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีทางที่จะหลุดไปจากสังสารวัฏ เพราะขาดคุณสมบัติบางอย่าง
อย่างแรกไม่มีโอกาสได้ฟัง หรือไม่มีโอกาสได้สดับฟังธรรมะที่ถูกต้อง อย่างที่สองไม่ได้สมาธิ สำหรับชาวพุทธที่มีโอกาสได้สดับและทำสมาธิในจุดหนึ่ง เมื่อตายไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นก็จะได้ไปเกิดเป็นเทวดา และเมื่อเทวดาผู้นั้นร่างกายแตกดับ ในภพต่อไปก็จะถึงนิพพานได้ แต่ถ้าคนที่ไม่ได้สดับและไม่ได้สมาธิ ภายหลังที่ร่างกายแตกดับก็จะเป็นได้เพียง 3 ประการคือ เดรัจฉาน เปรตวิสัย และสัตว์นรก เป็นการเขียนตามคำตรัสของพระพุทธองค์
ผมเห็นว่าคำสอนดังกล่าวนี้อธิบายเรื่องของ mind process ที่น่าสนใจและน่าศึกษามากทีเดียว ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่านอกจากรูปหรือร่างกายจะเป็นของเราแล้ว ความรู้สึกยังเป็นของเราด้วย คนส่วนใหญ่จะคิดกันเช่นนี้ จึงสรุปได้ว่ามนุษย์ไม่ได้มีเพียงร่างกายอย่างเดียวจึงจะมีชีวิตอยู่ แต่มนุษย์ยังมีนาม หรือใจ หรือความคิด หรือวิญญาณอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อคนถึงแก่ความตายคือกายและสังขารแตกดับ แต่ตัวของความคิดและความรู้สึกนั้นยังคงอยู่
นี่คือสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจพื้นฐานว่า การที่คนตายแล้วไปเกิดในภพใหม่ มิได้หมายความว่าจะไปเกิดในรูปของร่างกายใหม่อย่างเดียว แต่การเกิดดับมีอยู่ครบทั้ง 5 ขันธ์คือ รูป ได้แก่ร่างกาย ประกอบด้วย มหาภูตรูป คือ ดิน ลม น้ำ ไฟ แต่ยังมีอีก 4 ขันธ์คือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ และเฉยๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่าเวทนา
นอกจากนั้นอาจนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนในอดีตในสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าสัญญาขันธ์ และไม่ใช่คิดถึงแต่เรื่องที่ผ่านพ้นมา เรายังคิดถึงอนาคตที่ปรุงแต่งไป ซึ่งภาษาธรรมเรียกว่า “สังขาร” และสุดท้ายคือวิญญาณ ซึ่งความหมายในศาสนาพุทธไม่ได้หมายถึง Soul หรือเป็นร่างทิพย์อะไรทำนองนั้น แต่วิญญาณคือความรู้สึกตลอดที่เป็น 1 ใน 5 ขันธ์เหมือนกัน
ในกระบวนการทำงานของจิต เราต้องเข้าใจว่าจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้วคนเราก็จะถูกจิตหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา คือเมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปก็มีดวงใหม่เกิดขึ้นทันที และเรามีสิ่งหนึ่งที่ละเอียดมากกว่าจิตที่เรียกว่าสักกายันตะ เป็นสภาวะที่เกิดก็ไม่ปรากฏ ดับก็ไม่ปรากฏ เมื่อจิตดวงเดิมดับไปก็จะเกิดการยึดติดเข้าไปสู่จิตดวงใหม่ทันทีโดยไม่ต้องมีการเดินทาง เป็นความเร็ว แม้จะสมมุติหรืออุปมาก็ยากจะเข้าใจ
ทีนี้เราจะต้องรู้ให้ได้ว่าจิตเกิดดับก็มีสภาวะหนึ่งที่เรียกว่าตัวรู้ เราต้องเอาจิตหรือวิญญาณมาอยู่กับลมหายใจ ซึ่งพระพุทธองค์สอนว่า ลมหายใจคือกายอันหนึ่งในกาย เมื่อจิตหรือความคิดเราจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ลมหายใจจะกลายเป็นที่ตั้งของวิญญาณซึ่งเรียกว่าภพ ภพเปรียบเสมือนผืนนา โดยใจของเราจะอยู่กับความเพลินที่เรียกว่า “นันทิ” ผืนนาเปรียบเสมือนภพ วิญญาณเปรียบเสมือนเมล็ดข้าวที่ตกไปบนผืนนาและอยู่ต่อไปด้วยอำนาจของความเพลินคือนันทิ ราคะ คือเพลินและพอใจ เปรียบเสมือนกับเมล็ดข้าวตกลงบนผืนนาแล้วได้น้ำ เมล็ดข้าวก็จะงอกขึ้น ซึ่งก็คือความหมายของชาติ เมื่อเกิดภพและเกิดชาติก็จะติดตามมาด้วยชราและมรณะ เมื่อมีมรณะก็จะเกิดภพใหม่ ความคิดก็คือภพ ต่อจากความคิดและความเพลินก็คือชาติ ความหมายของการเกิดและการตายของมนุษย์เป็นเช่นนี้ แต่ใจหรือวิญญาณจะอยู่ในขันธ์หนึ่งขันธ์ใดได้ไม่นาน จะวนเวียนไปยังขันธ์อื่นๆต่อไป นี่คือสภาวะการเกิดและดับที่แท้จริง
ดังนั้น หากตัวรู้ทัน โดยเฉพาะในสภาวะที่กายสังขารจะแตกดับแล้ว เราคิดไปในหนทางที่เป็นบุญก็จะสร้างอัตตาขึ้นมาใหม่ไปเกิดในภพชาติที่เป็นบุญอย่างที่เรารู้สึกในวาระสุดท้าย คำว่าตายแล้วไปเกิดใหม่ไปสู่ภพและชาติใหม่จึงไม่ได้หมายถึงเรื่องของร่างกายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของนามธรรมทั้ง 4 ด้วย นี่เป็นความรู้อยู่ในหมวดของอริยสัจ 4 ในข้อที่เรียกว่านิโรธ
ถ้าเราไม่เข้าใจนิโรธที่ถูกต้อง เราก็จะไม่มีวันไปถึงมรรคได้ เพราะมรรคคือทางปฏิบัติ แต่นิโรธคือทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงมรรค ดังนั้น โสดาปฏิผลที่ไปสู่นิพพานได้คือ ผู้ที่มีตัวรู้ที่ติดตามทัน การเกิดดับของจิตไม่ถูกจิตหลอกลวงต่อไป ก้าวไปพ้นสังสารวัฏ แต่อย่างน้อยผู้ที่เข้าใจเรื่องดังกล่าวนี้ ผมเห็นว่าเป็นการอธิบายถึง Mind Process ที่ถูกต้องที่สุด และถ้าเข้าใจความเป็นตัวเองอย่างละเอียดและถูกต้อง ไม่คิดถึงเรื่อง “อบุญ” ในวินาทีที่กายจะแตกดับก็ย่อมไปเกิดในภพภูมิที่ดี อย่างน้อยไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย หรือสัตว์นรก
ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการเขียนให้เป็นทฤษฎีไปสนับสนุนแนวคิดเรื่อง Mind Record หรือขยายความเกี่ยวกับ Mind Process ของ Toynbee แต่อุทิศให้ผู้ที่มีบุญบารมีและมีดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธองค์ที่แท้จริง จะเป็นนักการเมืองหรือทหารก็ได้ทั้งนั้น
You must be logged in to post a comment Login