- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
น้ำผึ้ง(มากกว่า)หยดเดียว / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
“เราจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งโดยระบบไตรภาคี คือทวิต่อทวิและไปเป็นพหุ ไทยแลนด์บวก 1 ในลักษณะสร้างเส้นทางเปิดให้ประเทศเอาไว้ และต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของเราและอาเซียนด้วย ดังนั้น หลายโครงการมีความผูกพันกัน ซึ่งเราต้องมองภาพประเทศให้กว้างกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นจะติดความคิดและปัญหาเดิมๆ ทำให้ไปตรงไหนไม่ได้ แล้วจะไปกับเขาอย่างไร หลายอย่างต้องใช้กฎหมายมาปรับปรุงเพื่อเดินหน้าต่อไปให้ได้ บางอย่างก็ต้องใช้มาตรา 44 ซึ่งความจริงไม่ได้อยากใช้ แต่ก็ต้องใช้ เพราะไม่เช่นนั้นไปไม่ได้”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ (13 มิถุนายน) กรณีที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เร่งรัดโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน เส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เนื่องจากล่าช้ามานาน ซึ่งโครงการรถไฟไทย-จีนติดปัญหาข้อกฎหมายหลายประเด็น จึงขอให้เห็นใจ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลทำไม่ได้ แต่ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุดให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด หลายอย่างต้องทำไปตามพันธสัญญาที่มีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง ถ้ากฎหมายมีปัญหาก็ต้องแก้กฎหมายให้ทำให้ได้ รับรองว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น
วันที่ 15 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่าประมาณ 179,000 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันหลังมีกระแสคัดค้านการใช้อำนาจมาตรา 44 อย่างมากมายว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้จะคิดเฉพาะรายได้จากการโดยสารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ รัฐบาลจะเข้าไปดูข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาประโยชน์จากสองข้างทาง การลงทุนอื่นๆที่ตามมา รวมถึงเกิดเมืองใหม่ ซึ่งผลประโยชน์จะตกกับประชาชนโดยตรง
“อันนี้มันเป็นสายแรกที่เราจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเส้นทางความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ต้องไปมองว่าประเทศไทยจะไปคาซัคสถานอย่างไรโน่น คิดตรงนั้นสิครับ เรื่องผลประโยชน์ตอบแทนจะคิดเอารายได้จากแค่คนขึ้นหรอ มันต้องมองอย่างอื่นด้วย”
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกปัญหาที่ติดขัดทุกเรื่อง เพราะเรื่องนี้เจรจากันมาประมาณ 20 ครั้งแล้ว โดยใช้เวลา 3 ปี ติดอยู่ 4-5 ข้อ จึงต้องใช้มาตรา 44 และต้องไปแก้กฎหมายในอนาคตอีกทีหนึ่ง วันนี้แก้ปมตรงนี้ให้เดินหน้าให้ได้ก่อน อย่างน้อยการก่อสร้างตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (สถานีกลางดง-ปางอโศก) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ต้องทำให้ได้
ปลดล็อกหรือยิ่งเพิ่มปมปัญหา?
คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ใช่แค่ประเด็นกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องพันธสัญญากับจีน ซึ่งอาจมีเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนกว่าที่เปิดเผยก็ได้ เพราะกองทัพไทยซื้อเรือดำน้ำ รถถัง และอาวุธยุทโธปกรณ์อีกหลายชนิดจากจีน การใช้มาตรา 44 ให้จีนดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตรทั้งหมด อาจเป็นหนึ่งในเกมอำนาจที่ฝ่ายไทยต้องยอมจีนและรักษาความสัมพันธ์แบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น หรือจะมีเงื่อนไขแอบแฝงอีกก็ตาม ก็ทำให้กระแสต่อต้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่ม
ยิ่งเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่มีการเจรจาช้ากว่าเกือบปี แต่กลับเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ใกล้จะสรุปผลการศึกษาและเปิดประมูลหาผู้ลงทุนก่อสร้างในเร็วๆนี้ ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นยังสนใจจะเชื่อมต่อระหว่างอยุธยากับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกหรืออีอีซีอีกเส้นทางหนึ่งด้วย การใช้อำนาจมาตรา 44 ครั้งนี้จึงมีทั้งข้อครหาและคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักธรรมาภิบาล หลักนิติรัฐ และผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ
องค์กรต้านโกงกังขาฮั้วประมูล
แม้แต่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่สนับสนุนรัฐบาลทหารยังโพสต์ข้อความ (18 มิถุนายน) ตั้งคำถามการใช้มาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (กฎหมายฮั้วประมูล) ว่า น่าสนใจมากว่าทำไมรัฐบาลจึงใช้มาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เพราะการทำผิดตามกฎหมายนี้ต้องมีพฤติกรรมและเจตนาที่ทุจริตในการจัดซื้อซึ่งเป็นการคอร์รัปชัน ซึ่งสมัยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ผลักดันโครงการนี้ในรัฐบาลชุดที่แล้วทำ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำคือ
1.ยอมรับกลไกการตรวจสอบตามกฎหมายทุกประการเพื่อความโปร่งใส
2.ให้จัดซื้อโดยการประมูลแบบ International Bidding เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี เปิดรับเทคโนโลยีและข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ
3.ประกาศแผนแม่บทโครงการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศให้ประชาชนทราบ
การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่ต้องมีการศึกษาและบริหารโครงการด้วยความรอบคอบโปร่งใสเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว
ธนาคารโลกข้องใจ
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่มีการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนว่า เป็นรูปแบบที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ควรเปิดให้หลายชาติเข้ามาประมูลการก่อสร้าง เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์ที่สูงที่สุดและได้เทคโนโลยีใหม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมถึงการใช้รูปแบบบาร์เตอร์เทรดอาจทำให้เกิดข้อกังวลในเรื่องความโปร่งใส
ขณะที่ ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ นักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Surachet Pravinvongvuth ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะผิดที่ 1.รัฐบาลอาสาจะเข้ามาปฏิรูปแต่กลับมาเร่งอนุมัติโครงการ ผิดที่ 2.โครงการที่อนุมัติมามีความซ้ำซ้อน ทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่า ผิดที่ 3.หลงทางกับนโยบาย Thailand 4.0 ของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ดร.สุรเชษฐ์ได้เสนอแนะรัฐบาล 5 ข้อคือ 1.เปิดเผยผลการศึกษาในประเด็น “ความคุ้มค่า” โดยละเอียด 2.ปฏิรูปกระทรวงคมนาคมอย่างที่สัญญาไว้ ไม่ใช่เร่งอนุมัติโครงการอย่างที่เป็นอยู่ 3.แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในงานก่อสร้าง 4.บูรณาการแผนงานในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ 5.ให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาบนถนนที่มีอยู่แล้ว
“รถไฟตู่” แพงกว่า “รถไฟปู” ถึง 51%
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่ง โพสต์ (16 มิถุนายน) ถามว่า ใช้มาตรา 44 เข็นรถไฟความเร็วสูงได้ผลหรือ? ตนไม่ได้คัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงหากรัฐบาลมีความพร้อมที่จะก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ ที่ผ่านมาได้เสนอแนะให้รัฐบาลทุ่มเทสรรพกำลังไปที่การก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางกว้าง 1 เมตรแทน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการยากที่รัฐบาลจะผลักดันให้รถไฟความเร็วสูงประสบผลสำเร็จได้ แต่เมื่อประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาทางกฎหมายต่างๆ จึงขอเสนอให้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับกระทรวงคมนาคมลงมาถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย เปลี่ยนกำหนดการก่อสร้างรวดเดียวจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นควรขยายเส้นทางไปจนถึงหนองคายทันที โดยให้จีนร่วมลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมและพัฒนาเมืองควบคู่กับรถไฟความเร็วสูง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ (6 มิถุนายน) นายสามารถได้โพสต์ข้อความเปรียบเทียบค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ว่าไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะจะให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งยังเปรียบเทียบค่าก่อสร้างระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคำนวณจากค่าเวนคืน ค่าระบบรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบตั๋ว ระบบสื่อสาร ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ระบุในร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ปรากฏว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีค่าก่อสร้าง 530,000 ล้านบาท ระยะทาง 672 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร 789 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีค่าก่อสร้าง 387,821 ล้านบาท ระยะทาง 745 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร 521 ล้านบาท ดังนั้น ค่าก่อสร้างในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แพงกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึง 268 ล้านบาทต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร หรือแพงกว่า ถึง 51%
นายสามารถไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนด้วย เพราะรู้ว่าจะเจ๊งแน่ ที่สำคัญหากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เห็นค่าก่อสร้างของรัฐบาลนี้ก็อาจจะพูดว่า “รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เจียงใหม่ของรัฐบาลตู่แปงขนาด แปงกว่าของปูจ้าดนัก” แล้วรัฐบาลจะว่าอย่างไร?
ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ค Prinya Thaewanarumitkul (18 มิถุนายน) หัวข้อ “Memento mori” โดยกล่าวว่า โรมันเป็นชาตินักรบ แม่ทัพนายกองที่ไปรบชนะบ่อยๆก็ได้รับความนิยม กลับมาที่กรุงโรมก็ต้องมีการแห่แหนกันไปตามถนน ผู้คนก็ออกมาไชโยโห่ร้องกันเต็มสองข้างทาง เพื่อป้องกันไม่ให้แม่ทัพที่กำลังเห่อเหิมคิดจะทำอะไรมากไปกว่าการเป็นแม่ทัพ พวกโรมันก็มีวิธีการง่ายๆคือ ให้ทาสเดินประกบไปด้วยคนหนึ่ง พอเดินไปได้สัก 100 เมตร ทาสคนนี้ก็จะหันมากระซิบข้างหูแม่ทัพเสียคราหนึ่งว่า “Memento mori” แปลเป็นไทยแบบให้ออกรสหน่อยได้ว่า “ท่านไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า” คือเพื่อไม่ให้ลืมว่าเราทุกคนเดี๋ยวก็ต้องตาย ฉะนั้นอย่าได้หลงเสียงไชโยโห่ร้องจากฝูงชนมากไปจนเหลิง
แต่วิธีการนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล เพราะต่อมาจูเลียส ซีซาร์ แม่ทัพคนดังของโรมัน ก็ยึดอำนาจและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ จักรวรรดิโรมันก็เปลี่ยนจากประชาธิปไตยแบบโบราณกลายเป็นระบอบจักรพรรดิ และสิ้นสุดลงในอีก 400 ปีต่อมา ด้วยชนชาติที่โรมันดูถูกด้วยซ้ำไปว่าเป็นพวกป่าเถื่อนคือพวกเยอรมัน จนอีกกว่าพันปีฝรั่งจึงรู้จักว่าวิธีการควบคุมการใช้อำนาจที่ดีที่สุดคือ ไม่ให้อำนาจรวมอยู่ที่คนเดียว แต่ให้รัฐบาลซึ่งใช้อำนาจบริหารอยู่ภายใต้กฎหมายที่มาจากอีกฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าละเมิดกฎหมายก็มีอีกฝ่ายให้ไปฟ้องร้องคือ ฝ่ายตุลาการ ซึ่งก็คือหลักการแบ่งแยกอำนาจ หรือ Separation of powers นั่นเอง
มาตรา 44 เป็นทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ไม่ได้มีการแบ่งแยกอำนาจเพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆได้เลย ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว มาตรา 44 ก็ควรเลิกใช้ และหันมาแก้ปัญหากันตามระบบปรกติที่จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้เสียที
เพราะต่อให้ผู้มีอำนาจที่รวมศูนย์แบบนี้จะแก้ปัญหาเก่งแค่ไหน แต่ประเทศจะอยู่ด้วยมาตรา 44 ไปเรื่อยๆอย่างนี้ไม่ได้ ต้องให้ประชาชนเขาแก้ปัญหากันเองด้วย และต่อให้ท่านแก้ปัญหาถูกทุกครั้ง -ซึ่งเป็นไปไม่ได้- ก็ต้องนึกถึงด้วยว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า คนที่จะมาต่อจากท่านจะเป็นใคร จะใช้อำนาจโดยชอบทุกครั้งไหม แล้วถ้าใช้ผิดขึ้นมา สังคมไทยจะควบคุมได้อย่างไร
โปรดอย่ารำคาญเสียงทักท้วงของผู้คน ที่พูดไปทั้งหมดนี้ก็เหมือนทาสโรมันที่คอยกระซิบข้างหูแม่ทัพเท่านั้นแหละครับว่า Memento mori – ท่านไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า
น้ำผึ้ง (มากกว่า) หยดเดียว
ที่น่าสนใจคือล่าสุดแม้ 3 องค์กรสำคัญคือ สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) สมาคมสถาปนิกสยาม และสภาวิศวกร ซึ่งมีท่าทีคัดค้านในตอนแรก แต่ต่อมาได้เปลี่ยนท่าทียอมรับคำสั่ง คสช. ให้สถาปนิกและวิศวกรจีนเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในไทยหลังจากเข้าหารือกับนายวิษณุ โดยมีเงื่อนไขว่าฝ่ายจีนต้องเข้ารับการอบรมและผ่านการทดสอบตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ 5 ฝ่ายจัดทำขึ้นก่อน เบื้องต้นจะทดสอบ 2 เรื่องคือ ด้านเทคนิคกับด้านกฎหมายความปลอดภัยของไทย นอกจากนี้ยังขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้วิศวกรรมสถานฯ มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
จึงต้องจับตามองว่ารัฐบาลทหารจะเปิดเผยรายละเอียดร่างสัญญาก่อนจะมีการลงนามอย่างไร แค่ไหน ไม่ใช่แค่เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีว่าฝ่ายจีนจะถ่ายทอดอย่างไรถึงจะเป็นไปตามจุดประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อฝ่ายไทย ซึ่งรัฐบาลทหารอาจลดแรงต่อต้านด้วยการนำร่างสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว แม้จะเป็นแค่พิธีกรรมก็ตาม เพราะ สนช. ต้องทำทุกอย่างตามที่รัฐบาลทหารและ คสช. “สั่ง”
อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่ายที่มากกว่าสภาวิศวกรรมสถานฯ สมาคมสถาปนิกสยาม และสภาวิศวกร ที่ดังกระหึ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้รัฐบาลทหารเกิดความสั่นไหวกับการใช้อำนาจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลและหลักนิติรัฐ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งกับความเชื่อมั่นและศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ถูกตั้งคำถามมากมาย ตั้งแต่การจัดซื้อเรือดำน้ำ รถถัง และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆจากจีน รวมทั้งพฤติกรรมฉาวของคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจทั้งในรัฐบาลและกองทัพที่ไม่ถูกแช่แข็งก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงและปานกลางของรัฐบาลทหารที่ต้องใช้เงินลงทุนถึง 3.3 ล้านล้านบาทนั้น ก็สูงกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ใช้เพียง 2.2 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับถูกกล่าวหาว่าไม่คุ้มค่าและอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยของนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่า “เอาถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทย ก่อนที่จะไปคิดถึงระบบความเร็วสูง”
การใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน ยิ่งถูกตั้งคำถามเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งก่อนหน้านี้นายชัชชาติโพสต์เรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง (18 กันยายน 2556) เปรียบเทียบกับโครงการสร้างอนาคตไทย 2020 พลิกโฉมประเทศว่า มีความคุ้มค่ากว่าโครงการของรัฐบาลทหาร ที่สำคัญโครงการใน พ.ร.บ.สร้างอนาคตประเทศไม่ได้มีแต่เรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่ยังมีรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าใน กทม. ถนนสี่เลน ด่านศุลกากร ศูนย์กระจายสินค้า มอเตอร์เวย์ บูรณะถนนสายหลัก ถนนเชื่อมประตูการค้า ท่าเรือ สะพานข้ามทางรถไฟ โดยกระจายอยู่ในทุกๆด้านและทั่วทุกภูมิภาคตามความจำเป็นและยุทธศาสตร์ของประเทศ โครงการเหล่านี้ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ แต่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)
หากโครงการดังกล่าวไม่ถูกยับยั้งและไม่มีการรัฐประหาร ความหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของอาเซียนคงไม่ไกลเกินเอื้อม บ้านเมืองก็ไม่อยู่ในสภาพอึมครึมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้
การที่รัฐบาลที่เข้ามาอยู่ในอำนาจจากการรัฐประหารโดยมีภารกิจสำคัญคือ “การปฏิรูปโครงสร้าง” แต่กลับมาทำโครงการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การสร้างรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) หรือโครงการมูลค่ามหาศาลที่มีผลผูกพันระยะยาวนานกับรัฐบาลในอนาคต อาจถูกมองได้ว่า “ไม่รู้จักหน้าที่” โดยเฉพาะการใช้อำนาจพิเศษด้วยคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ไม่ใช่ตามวัตถุประสงค์อย่างที่เคยประกาศไว้ จึงอาจถูกครหาได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆอยู่หรือไม่?
จากกรณีที่เกิดความไม่น่าไว้วางใจ ตรวจสอบไม่ได้ ยังอาจเกี่ยวข้องไปถึงความขัดแย้งอื่นๆที่รัฐบาลทหารไม่ยอมฟังความเห็นต่าง อย่างกรณีที่พยายามแก้ไข “ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” เพื่อให้อำนาจการบริหารกลับไปสู่กลุ่มข้าราชการและแพทย์บางกลุ่ม ซึ่งจะมีผลต่องบประมาณและการให้บริการประชาชนที่ยากไร้ จะเป็นอีกประเด็นที่จะเพิ่มความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารกับประชาชนกว่า 40 ล้านคนที่มีโอกาสเข้าถึง “หลักประกันสุขภาพ” ที่ถือว่าทุกคนต้องได้รับการตรวจและรักษาจากโรงพยาบาลรัฐอย่างเท่าเทียม แม้จะเทียบไม่ได้กับโรงพยาบาลเอกชน หรือจะมีปัญหาเรื่องตัวยาที่ได้รับก็ตาม ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้สรุปการวิจัยยืนยันว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นโครงการที่ “แก้จน” ให้แก่ประชาชนได้ดีกว่าโครงการแก้จนหลายๆโครงการที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ในการแก้จนจริงๆเสียอีก แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็ยกย่องให้เป็น “ต้นแบบความสำเร็จของโลก” แต่รัฐบาลไทยและกลุ่มที่ต่อต้านกลับพยายามจะลดความสำคัญหรือยกเลิก
การออกมาคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ 75 เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง 60 เครือข่ายภาคประชาชนใต้และชมรมแพทย์ชนบท ไม่ใช่แค่ต่อต้านเวทีประชาพิจารณ์ซึ่งเป็นแค่ “พิธีกรรม” แบบรัฐราชการเท่านั้น แต่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวยืนยันว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุชัดเจนว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ต้องถือปฏิบัติ และรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลกับประชาชนอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ต้องร้องขอ
การพยายามแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีข่าวลือมาตลอดว่าเป้าหมายที่แท้จริงอาจต้องการล้มเลิก “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” หรือไม่นั้น อาจเป็นการประกาศสงครามกับประชาชนอย่างไม่ทันได้คิดก็ได้ โดยเฉพาะคนยากจน ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและมีผลได้ผลเสียโดยตรง
การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. เร่งรัดรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน และการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บวกกับอีกหลายเรื่องที่รัฐบาล คสช. ได้ฝากผลงานที่มีคำถามคาใจไว้ตลอด 3 ปีที่เข้ามาบริหารประเทศโดยวิถีทางรัฐประหาร จึงอาจไม่ใช่แค่ “น้ำผึ้งหยดเดียว” แต่มันคือ “น้ำผึ้งมากกว่าหยดเดียว” ที่กำลังไหลหยดลดเลาะมารวมกัน..
เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศที่ประชาชนอยู่ภายใต้ระบอบพิสดาร!!??
You must be logged in to post a comment Login