วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ลิเกหรือปาหี่?

On June 29, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

“ถ้าให้ผมฟันธง เลิกคิดไปได้เลย เพราะเห็นได้จากความขัดแย้งของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณากฎหมายลูก ดูแล้วมันเป็นละคร เหมือนลิเก มาแสดงเอาดาบ เอาไม้มาเสียบรักแร้กัน ไม่ได้แทงกันจริง ดังนั้น ผมดูแล้ว คิดว่า การเลือกตั้งยังอยู่อีกไกล และหากจะยืดเวลาเลือกตั้งออกไปมีทางเดียวคือคว่ำกฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนตรงนี้ไว้ สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่นายกฯ”

เป็นคำกล่าวของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ทำเนียบรัฐบาลหลังไปยื่นเรื่องให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

นับว่าเป็นคำกล่าวที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ แม้จะมีคำยืนยันจากผู้มีอำนาจหลายครั้งว่ายังเดินตามโรดแม็พ แต่ในทุกคำยืนยันก็มักจะพ่วงต่อท้ายด้วยว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์

สถานการณ์ที่ว่าคืออะไร เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือว่าเป็นสถานการณ์ที่สามารถใช้คนหรือกลุ่มคนสร้างขึ้นมาได้

การจะล้มหรือเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกตอนนี้ดูเหมือนเหลือทางเลือกประตูเดียวคือทำให้การเขียนกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญมีปัญหาไม่ให้เสร็จทันตามกรอบเวลาอย่างที่นายนิพิฏฐ์ระบุ

จากนี้ไปสปอตไลท์ทางการเมืองจึงฉายไปที่ สนช.และกรธ.ว่ามีความเห็นแย้งกันในเรื่องกฎหมายลูกเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างทางความคิดจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นแค่การแสดง เป็นแค่ลิเก

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะต้องจับจ้องดูการเขียนกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญว่าเป็นการแสดงลิเกโรงใหญ่เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เลื่อนเลือกตั้งอย่างที่นายนิพิฏฐ์ตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่ ยังต้องจับตาดูเนื้อหารายละเอียดในร่างกฎหมายลูกหลายฉบับที่มีการเสนอเนื้อหาแตกต่างไปจากหลักการที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมา โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง

ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภา ให้เลือกใครก็ได้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์

ที่มีข้อเสนอเช่นนี้ อาจเป็นเพราะเล็งเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่จะทำให้ไม่มีพรรคใหญ่ที่ได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภา ส.ส.จะเป็นเบี้ยหัวแตก พรรคใหญ่ที่ชนะเลือกตั้งจะมีเสียงไม่ทิ้งพรรคอันดับสอง สาม สี่มากนัก ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองมากเหมือนในอดีต

ข้อเสนอนี้ก็เป็นล้อไปกับหลักการที่ว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อนโดยอัตโนมัติ การจัดตั้งรัฐบาลขึ้นอยู่กับว่าใครรวบเสียงในสภาได้เกินกึ่งหนึ่งก็สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

ความขัดแย้งระหว่างผู้ร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญที่ถูกมองว่าเป็นลิเกเพื่อล้มหรือเลื่อนเลือกตั้ง หากมองอีกแง่นี่อาจเป็นการละเล่นที่มีความลึกซึ้งมากกว่าที่เห็น อาจเป็นความขัดแย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งกติกาตามธงที่ตั้งเอาไว้ก็เป็นได้

ได้ตามธงก็เอา ไม่ได้ตามธงก็ล้มก็เลื่อนเป็นไปได้หมด เพราะผู้มีอำนาจพูดชัดเจนแล้วว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์


You must be logged in to post a comment Login