- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 2 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 2 months ago
- โลกธรรมPosted 2 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 2 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 2 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 2 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 2 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 2 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 2 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 2 months ago
โครงการ‘อีอีซี’เจ๊งแน่! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย
ที่ผมว่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) เจ๊งแน่นอนนั้น ไม่ได้แช่ง ความจริงอยากให้ประสบความสำเร็จ แต่ดูแล้วไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จึงต้องบอกเพื่อไม่ให้ใครหลงงมงายไปลงทุน ดูให้ดีก่อน อย่าเชื่อตามๆกันไป เพราะอาจพากันลงเหวได้ แม้รัฐบาลจะขายฝันและฝากความหวังกับโครงการนี้มาก แต่ขอมองต่างมุมเพื่อไม่ให้ประเทศชาติถดถอยมากกว่าจะก้าวหน้า 10 ข้อที่เห็นว่าโครงการนี้จะไม่สำเร็จ
1.ปี 2525 โครงการ Eastern Seaboard Region ประสบความสำเร็จ “โชติช่วงชัชวาล” เพราะเรามีท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง รวมทั้งการขุดเจาะก๊าซ และมีอุตสาหกรรมหนักต่อเนื่องคือปิโตรเคมี จึงเปลี่ยนพื้นที่ชนบทแบบกึ่งๆอีสานของชลบุรีและระยองที่ปลูกได้แต่พืชไร่ให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่ครั้งนี้สิ่งเหล่านี้กลับขยายตัวแทบไม่ได้
2.การพัฒนาที่เปรอะไปหมด แต่เดิมครอบคลุม 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ขณะนี้เพิ่มปราจีนบุรี เป็นการพัฒนาที่เปรอะไปหมด จะสร้างปัญหามากกว่า เพราะไม่มีการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษใดๆ ซึ่ง 4 จังหวัดมีพื้นที่ถึง 11.5 เท่าของกรุงเทพมหานคร ความมั่วจึงจะตามมา
3.โครงการนี้ทำให้แทบจะลืมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยเฉพาะภาคตะวันออกคือสระแก้ว จันทบุรี และตราด ซึ่งจะล้มเลิกไปในที่สุดเช่นเดียวกับเมืองชายแดนอื่นๆ
4.การพัฒนานี้จะทำให้ความเป็นเมืองขยายตัวอย่างไร้ทิศผิดทางหรือไม่ กรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งเป็นเมืองแนวราบขนาดใหญ่จะรวมตัวกับฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอาจถึงปราจีนบุรีหรือไม่ ประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่งในเมืองจะมีหรือไม่
5.การที่ฉะเชิงเทราถูกกำหนดให้เป็นเขตที่อยู่อาศัยของกรุงเทพฯเป็นเรื่องที่ “ตลก” มาก เพราะในบริเวณปริมณฑลยังมีพื้นที่ให้พัฒนาเป็นเมืองอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นบางพลี-บางบ่อ ลำลูกกา นนทบุรี นครปฐม และอื่นๆ ทำให้สิ้นเปลืองค่าเดินทางเพิ่มขึ้น การคมนาคมขนส่งต่างๆคงเติบโตไม่ทันแน่
6.รัฐบาลจะสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องผ่านฉะเชิงเทราซึ่งเป็นเสมือนเมืองนอกแถว แสดงว่าคนวางแผนยังมีแนวคิดอนุรักษ์แบบการพัฒนารถไฟหรือถนนสุขุมวิทที่เลื้อยไปตามจังหวัดต่างๆ ไม่คิดจะเชื่อมระหว่างจุดหมาย (สุวรรณภูมิ-แหลมฉบัง-ระยอง) ความคิดแบบนี้ล้าสมัยไปหรือไม่
7.วางแผนจะพัฒนานี่โน่น แต่ให้เอกชนไปจัดหาที่ดินกันเอง คิดทำกันเอง สุดท้ายอาจออกมาแบบต่างคนต่างคิด ต่างสร้าง ต่างขัดแย้งหรือไม่ จะเป็นผลดีต่อส่วนรวมหรือไม่ ซ้ำซ้อนหรือไม่
8.การเน้นพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุดนั้น มีการประสานแผนกันได้หรือไม่ ขนาดรถแท็กซี่สนามบินยังมีอิทธิพลคุม การฝันเฟื่องว่าสินค้าที่ผลิต ณ เมืองทวายจะส่งออกทะเลท่าเรือเหล่านี้ หรือเลยเถิดถึงท่าเรือในเวียดนาม เป็นเรื่อง “ไกลเกินฝัน” จริงๆ เพราะหากต้องผ่านทางบก 3 ประเทศ คงสู้การขนส่งทางเรือไม่ได้แน่นอน
9.ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความจำเป็นต่อชาติมาก แต่แผน EEC ไม่ได้เน้นการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหรืออุตสาหกรรมหนักเลย ในอนาคตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคงขยายตัวอีกมากทั้งในทวายและเมืองท่าประเทศอื่นๆ ทำให้ “รูจมูกหายใจ” ของไทยยิ่งตีบตันลง แถมยังคิดจะลดขนาดอุตสาหกรรมหนักลงไปอีก
10.งบประมาณการดำเนินงานมีความเป็นจริงเพียงใด เพราะมีโครงการมากมาย แต่งบประมาณมีจำกัด การก่อสร้างจริงคงช้า ที่ผ่านมาถนนหลายสายก็สร้างล่าช้ากว่ากำหนด โอกาสจะเห็นความเป็นจริงจึงมีจำกัด
ถ้าจะทำโครงการ EEC ให้ประสบความสำเร็จผมขอเสนอดังนี้
1.การจำกัดเขตการพัฒนา โดยจัดทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบริเวณที่วางแผนไว้ ไม่ใช่ดำเนินการเปรอะไปทุกที่ใน 4 จังหวัดเป้าหมาย ดังนั้น การวางผังหรือ Zoning พึงชัดเจน
2.รัฐบาลควรเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายแทนที่จะให้เอกชนไปดำเนินการจัดหาเอง ซึ่งใช้เวลานาน
3.ขยายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ย้ายชุมชนออกไปสู่รอบนอก ซึ่งปรกติชาวบ้านก็ไม่ประสงค์จะอยู่ใกล้นิคมอุตฯแห่งนี้อยู่แล้ว หากให้ออกไปด้านนอกชาวบ้านส่วนใหญ่ย่อมยินดีที่จะย้ายเพื่อสวัสดิภาพของตนเอง
เมื่อ 35 ปีก่อนทำให้ภาคตะวันออก “โชติช่วงชัชวาล” ได้ก็เพราะท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม แต่เราจะพัฒนาให้เหนือกว่านี้ได้หรือไม่ต้องอาศัยแผนการที่เป็นจริง ไม่ใช่เพียงการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ผู้เกี่ยวข้องจึงพึงสังวร ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้ที่คิดจะตามแห่ไปลงทุนต้องสังวรให้จงหนัก หากเป็นการลงทุนตามแผนของอีอีซี เช่น ขยายเขตอุตสาหกรรมหนักออกไป หรือทำนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว อุทยานวิทยาศาสตร์ ก็ควรลงทุนและควรได้รับการส่งเสริมที่ดี
หากคิดจะไปลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์รองรับคนมาทำงานในภูมิภาคนี้คงต้องรอก่อน รอให้อุตสาหกรรมต่างๆมาจริงก่อน อย่าแห่ตามๆกันไปเก็งกำไร สร้างหรือซื้อรอท่าไปก่อน เพราะอาจทำให้มีอุปทานส่วนเกิน รอให้มีอุตสาหกรรมหนัก-เบา ภาคบริการเข้ามาจริง มีคนทำงานแน่นอน จึงค่อยทำก็ยังไม่สายเกินไป
นักลงทุนที่ดีต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่หยุดนิ่ง จะได้ทันยุคทันเหตุการณ์และไม่เสียรู้
You must be logged in to post a comment Login