วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

หลุมดำโรดแม็พ

On June 30, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังเกิดข้อครหากำลังเล่นลิเกโรงใหญ่ ทำทีว่าเกิดความเห็นต่างขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางไปสู่การคว่ำกฎหมายลูกอันจะมีผลสะเทือนไปถึงกรอบเวลาจัดเลือกตั้งที่ต้องเลื่อนออกไป ทำให้มีคำชี้แจงออกมาจากฝั่งผู้เกี่ยวข้อง

รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม บอกทำนองว่าอย่าไปคิดเยอะ อย่าไปพูดให้เกิดความตื่นตระหนกแบบลมๆแล้งๆ รัฐบาลพูดมาหลายครั้งแล้วว่ายึดตามโรดแม็พที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หากไม่ยึดตามนี้เท่ากับทำผิดรัฐธรรมนูญ

แถมให้คำแนะนำด้วยว่าหากเก่งจริงทำไมไม่คิดจะบล็อกไม่ให้กฎหมายลูกถูกคว่ำ
คำกล่าวของรองนายกฯสามารถแยกได้ 2 ส่วน

หนึ่งคืออย่าคิดเยอะ เพราะรัฐบาลยึดตามโรดแม็พ กรณีนี้ประชาชนมีบทเรียนมาแล้วจากกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกถูกคว่ำ ครั้งนี้ก็เป็นการหักโรดแม็พทำผิดรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะสามารถใช้อำนาจแก้ผิดให้เป็นถูกได้

เมื่อเรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วจึงไม่มีอะไรรับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องปรกติที่คนจะคิดกันไปได้ว่าการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนไปอีก

สองคือที่บอกว่าหากเก่งจริงทำไม่คิดบล็อกตั้งแต่ร่างกฎหมายลูกยังไม่ถูกคว่ำ คำถามคือ ประชาชนหรือแม้แต่นักการเมืองมีสิทธิมีเสียงในการพิจารณาร่างกฎหมายลูกหรือไม่ เมื่อไม่มีสิทธิมีเสียงร่วมพิจารณาจะบล็อกได้ด้วยวิธีใด

การออกมาพูดดักคอว่ากำลังมีการเล่นลิเกสร้างเรื่องเพื่อล้มกฎหมายลูกเพื่อให้ประชาชนร่วมกันเฝ้าจับตาดูจึงเป็นการบล็อกเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้ทางหนึ่ง

สิ่งที่ประชาชนต้องร่วมกันจับตาดูคือในวันนี้ (30 มิ.ย.) จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับ กกต.

ต้องติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมชุดนี้กันต่อไปว่าจะทำคลอดกฎหมายลูกเกี่ยวกับกกต.ออกมาอย่างไร

นอกจากกฎหมายลูกเกี่ยวกับกกต.แล้ว กฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นอีกฉบับที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง สนช. กรธ. และกกต.เพราะมีปัญหาเห็นแย้งกันเรื่องไพมารีโหวต

ประเด็นคือเมื่อคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายลูกแล้วส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.อีกครั้งจะต้องใช้เสียง 2 ใน3 ในการลงมติเห็นชอบ หากเสียงสนับสนุนไม่ถึง 2ใน 3 จะทำให้ร่างกฎหมายลูกนั้นตกไป ต้องไปเขียนมาใหม่

หากเกิดกรณีนี้จะทำให้เกิดสุญญากาศเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดแต่หน้าที่การร่างกฎหมายและกรอบเวลาที่ต้องทำให้เสร็จเอาไว้เท่านั้น แต่ไม่ได้เขียนรองรับหากเกิดอุบัติเหตุร่างกฎหมายลูกฉบับหนึ่งฉบับใดไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก สนช.ว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้จะทำอย่างไรต่อไป

จะให้กรธ.ทำการยกร่างกฎหมายลูกใหม่หรือไม่หรือว่าต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายอื่น กรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ยังต้องยึดตามกรอบเดิมหรือไม่ หรือว่าต้องมีการแก้ไขขยับขยายกรอบเวลาออกไป

ทั้งนี้ เนื่องจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายลูก 10 ฉบับเขียนไว้แค่เรื่องการลงมติว่าให้ใช้เสียง 2 ใน 3 หากเสียงไม่ถึงให้ร่างกฎหมายลูกนั้นเป็นอันตกไป แต่ไม่ได้เขียนว่าแล้วให้ทำอย่างไรต่อ

สุดท้ายเรื่องก็ต้องกลับไปที่ผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะทำอย่างไรต่อ

เมื่อครั้งหนึ่งการเลื่อนเลือกตั้งตามโรดแม็พเคยถูกเลื่อนมาแล้ว เมื่อแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดเรื่องกรอบเวลาเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ยังมีช่องว่างให้เกิดอุบัติเหตุได้อยู่ จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่าจะมีการเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้ในช่วงปลายปี 2561


You must be logged in to post a comment Login