วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คสช.ยังสืบทอดอำนาจต่อไป / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On July 3, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

สถานการณ์บ้านเมืองภายใต้รัฐบาล คสช. ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่กลับมีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง โครงการต่างๆที่รัฐบาลทำไม่สัมฤทธิผล ความเชื่อมั่นของต่างประเทศไม่มี อย่าลืมว่าระบบเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการส่งออก เมื่อไม่ขยับเงินหมุนเวียนก็ไม่มี ระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีแต่ถดถอย

ด้านการเมืองผมคิดว่าแรงกดดันให้มีการเลือกตั้งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นทางออกที่เป็นเดดล็อกทั้งการเมืองและเรื่องอื่นๆ พูดง่ายๆว่าความเชื่อมั่นระหว่างประเทศไม่มีใครยอมรับเลยหากอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. เพราะที่มามันไม่ถูกต้อง ประเด็นหลักต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น แรงกดดันตรงนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และแรงกดดันที่ใหญ่ที่สุดคือคำถามเรื่องการเลือกตั้งที่จะเป็นตัวปลดล็อกสำคัญของอุปสรรคต่างๆของประเทศเวลานี้

รัฐบาลก็ต้องพยายามจะอยู่ในอำนาจให้อยู่รอดปลอดภัยให้ได้ก่อน ขณะที่คำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมคิดว่าไม่ได้สะท้อนนัยอะไรเลยนอกจากเป็นการโยนหินถามทาง มันไม่ควรเป็นคำถามด้วยซ้ำ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องทำคือ เปลี่ยนผ่านยังไงให้กลับสู่ประชาธิปไตย การถามเท่ากับว่าสิ่งที่คุณเข้ามาทำ ไม่ว่าเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรืออะไรก็ตามนั้นมันล้มเหลว ถ้าไม่ล้มเหลวก็คงไม่ต้องมาถามแล้ว

ผมไม่เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีตั้งคำถามทำไม ไม่ได้มีผลอะไรเลย สิ่งที่ต้องทบทวนคือ คุณจะทำยังไงให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าจะกลับสู่ประชาธิปไตยจริงก็ไม่ต้องมาตั้งคำถามพวกนี้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่รัฐบาล คสช. จะยึดอำนาจ ยืดแผนโรดแม็พออกไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการเซตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ไปถึงไหนเลย

เอาง่ายๆ สมมุติว่าจะเลือกตั้งปี 2561 คำถามคือใครจะจัดการเลือกตั้ง ต้องรอการแต่งตั้ง กกต. ชุดใหม่ก่อน ตรงนี้ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งปี 2561 ถูกเลื่อนออกไปอีกด้วยเทคนิค พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่องกฎหมาย ผมจึงไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในระยะอันใกล้นี้ ปี 2561 ก็ยังตอบไม่ได้ ยิ่งเรื่อง กกต. ยิ่งไปล็อกให้มันยืดเยื้อมากขึ้น ไม่รู้ว่าจะมีเงื่อนไขทางเทคนิคอะไรที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก

ถ้าไม่มีเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 ผมคิดว่าจะเกิดกระแสกดดันทั้งในประเทศและต่างประเทศถาโถมใส่รัฐบาล คสช. แน่นอน เพราะคุณไปสัญญาไว้ทุกที่ แค่ปี 2560 เลื่อนไปปี 2561 ก็แย่แล้ว ถ้าเลื่อนจากปี 2561 ออกไปอีกยิ่งแย่ใหญ่ ผมไม่มองเหตุผลในการเลื่อนการเลือกตั้งคืออะไร เพราะตอนนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย แม้จะมีการสร้างสถานการณ์ให้เลวร้าย แต่บทเรียนจากสังคมต่างๆก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีทางที่จะระงับกระบวนการหรือขั้นตอนประชาธิปไตยได้

ภาคประชาชนทวงสัญญา

ผมคิดว่ายากที่จะเห็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนออกมาชุมนุมอีก เว้นแต่จะมีการจัดตั้งหรือการเตรียมการที่สามารถระดมคนได้จริง การจะเอาคนมารวมกันขณะนี้ยากมากๆ รัฐบาล คสช. คุมเข้ม รวมถึงกลุ่มมวลชนเองก็อ่อนพลังด้วย มันจึงเป็นปัจจัยเสริมซึ่งกันและกัน พลังของภาคประชาชนไม่มี เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าไปควบคุมได้ทุกส่วน ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนยิ่งยากมาก ผมมองไม่เห็นว่าจะเกิดปรากฏการณ์ที่ภาคประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล คสช. โอกาสจะเกิดขึ้นอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หรือปี 2553 เกิดยากมากในสถานการณ์ปัจจุบัน

ผมไม่คิดว่า คสช. แข็งแกร่งกว่าเผด็จการในอดีต แต่เพราะมี 2 ปัจจัยที่เอื้อกันคือ ในแง่การจัดตั้งของมวลชนไม่มีพลัง เพราะฝ่ายรัฐสลายคนเสื้อแดงจนไม่อยู่ในสภาพที่จะออกมาเคลื่อนไหวอะไรได้ ไม่ใช่เคลื่อนไหวไม่สำเร็จแล้วยอมจำนน แต่มองไม่เห็นในแง่ความคุ้มค่าที่จะออกมาเสี่ยงแบบนี้อีก ยิ่งเคลื่อนไหวก็ยิ่งสร้างเงื่อนไขให้ คสช. อยู่ในอำนาจนานขึ้น คสช. จะอ้างความไม่สงบแล้วอยู่ต่อ ภาคประชาชนจึงรอกระบวนการที่เป็นทางการคือการเลือกตั้ง ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ภาคประชาชนหรือคนในสังคมทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ ใช้ยุทธวิธีกดดันอย่างเดียว คือตั้งคำถามกลับไปยัง คสช. ว่าเมื่อไรจะมีการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นคำถามที่ไม่มีความหมาย

การเคลื่อนไหวของสุเทพ เทือกสุบรรณ

ผมคิดว่าไม่มีผลอะไรเป็นนัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาเพียงแต่จะทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจตอนนี้ไม่เสียเปรียบเกินไป เราจะเห็นว่าเมื่อไรที่รัฐบาล คสช. เพลี่ยงพล้ำ คนกลุ่มนี้ก็จะออกมายันไว้ ซึ่งทำได้แค่นี้ สะท้อนให้เห็นว่า คสช. กับกลุ่มนายสุเทพเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่แยกกันเดิน ร่วมกันตีเท่านั้นเอง ขณะเดียวกันถามว่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องระวังมั้ย คือไม่ถลำเข้าไป เพราะตอนนี้สังคมไทยอยู่ในลักษณะเชื่อยังไงก็เชื่ออย่างนั้น คนไม่ได้เปลี่ยนความเชื่อหรือเปลี่ยนทรรศนะจากเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตั้งแต่ต้น

ผมไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะยังเร็วเกินไป วันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร

การเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นอย่างไร

ผมคิดว่ามีแต่ทรงกับทรุด ไม่มีอะไรดีขึ้น ปัจจัยสำคัญคือปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก ถ้าไม่มีการเลือกตั้งปี 2561 หรือ 2562 จะทำให้เกิดแรงกดดันมากขึ้นแน่นอน เพราะปัญหาเศรษฐกิจ ผมขอย้ำว่านโยบายของรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมาทั้งหมดล้มเหลว มีนโยบายเดียวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ คือหวย 80 บาท ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมาก

รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีนัก อาจจะเพิ่มความขัดแย้งเมื่อมีการเลือกตั้งอีกด้วย เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรค เรื่องการสร้างความปรองดองก็ล้มเหลว ไม่เห็นรัฐบาล คสช. ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม การปฏิรูปประเทศก็ไม่มีกระบวนการที่นำไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง คือความร่วมมือโดยรวมไม่ได้เกิดขึ้น แต่ใช้กลไกของรัฐเข้าไปผลักดัน เขาเลือกเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในภาคีหรือที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐ ไม่ได้มองกลุ่มอื่นๆ การปฏิรูปจึงไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง ที่เป็นชิ้นเป็นอันคือ การใช้มาตรา 44 อย่างครอบจักรวาลในทุกๆเรื่อง ทั้งที่ไม่ควรจะใช้

ผมขอเตือนรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้งว่า ต้องเตรียมแก้ปัญหาประเทศเยอะมาก เรื่องแรกที่สุดคือความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ต่อมาคือสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญและกรอบที่ คสช. ยังมีอำนาจ เอาง่ายๆ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นอุปสรรคให้รัฐบาลใหม่ไม่สามารถกำหนดนโยบายของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะเขาบีบให้ทุกอย่างต้องเดินไปตามยุทธศาสตร์ที่ คสช. วางไว้ หลายเรื่องจึงทำไม่ได้

เรื่องต่อมาคือโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งระบบขนส่งมวลชน การจัดการบริหารน้ำ ซึ่งควรเป็นเรื่องที่ทำก่อนหน้านี้ แต่ คสช. ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่เขาไม่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ นักลงทุนชาติไหนจะกล้าร่วม

มองพรรคเพื่อไทยอย่างไร

ผมไม่ค่อยมั่นใจ เพราะรัฐธรรมนูญทำให้ไม่มีหลักประกันใดๆว่าคุณจะชนะการเลือกตั้ง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง แต่จะไม่ได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง คสช. อาจอยู่เบื้องหลังในการรวบรวมพรรคต่างๆจัดตั้งรัฐบาลแล้วผลักดันให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน พูดง่ายๆว่า คสช. คิดว่าตัวเองจะกลับมาหรือฝ่ายตัวเองจะเป็นรัฐบาลต่อ ปัจจุบันผมเชื่อว่า คสช. ก็ยังประเมินว่าตัวเองมีความได้เปรียบทางการเมือง ตรงนี้คือปมใหญ่ที่จะทำให้ยังไม่มีการเลือกตั้ง ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคตหรือไม่ผมไม่รู้ แต่เงื่อนไขมันเปิดไว้

จะมีการสืบทอดอำนาจถึง 10 ปี

ที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ออกมาวิเคราะห์การสืบทอดอำนาจของ คสช. ผมเห็นด้วย เพราะวิธีการจัดวางดุลยภาพขององค์กร หน่วยงาน แม้แต่นโยบาย อยู่ภายใต้ คสช. ทั้งสิ้น ประเด็นของผมคือ พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีอำนาจกำกับการเมืองไทยอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาวางไว้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้การสืบทอดอำนาจของกลุ่มบุคคลยังอยู่ โดยบุคคลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารประเทศ แต่มีอำนาจกำกับการบริหารประเทศเหมือนพม่า บ้านเมืองในอนาคตที่พอมองเห็นจึงอยู่ที่รัฐธรรมนูญที่ทำให้คนเหล่านี้ยังอยู่ในอำนาจโดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งในการบริหารประเทศ


You must be logged in to post a comment Login