วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มองต่างมุม‘เสกสรรค์’? / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On July 3, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษา กล่าวปาฐกถาเรื่อง “การเมืองไทยกับสังคม 4.0” ในงานเสวนาศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประเด็นที่น่าสนใจที่ขอแลกเปลี่ยนหลายเรื่อง โดยเสกสรรค์นิยาม “นักการเมือง” ว่าไม่ได้หมายถึงนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หมายถึงพวกที่เข้าสู่การเมืองโดยผ่านการแต่งตั้งด้วย

ดังนั้น การสร้างมายาคติว่านักการเมืองหมายถึงผู้ที่มาจากการเลือกตั้งที่เล่นการเมืองเท่านั้น ส่วนฝ่ายอื่นไม่เล่นการเมืองถือเป็นคนดี คนชั่วมีแต่ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด ปัญหาคือ หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 มีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี เอาคนไม่ดีลงจากอำนาจ จากนั้นก็เขียนกติกาขึ้นมาใหม่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่าเป็น “ฉบับต้านโกง” เพื่อไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจ หรือถูกคนดีควบคุมอย่างเข้มข้น การชูธงนี้สะท้อนว่าใครขัดแย้งกับใคร และเพราะอะไร

เสกสรรค์สรุปว่า วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นช่วง พ.ศ. 2556-2557 มิได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่สีเสื้อต่างกัน แต่ยังกินลึกถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนและขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกคุมกลไกรัฐราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านสนับสนุน สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยซึ่งนำไปสู่การแย่งยึดพื้นที่ของกันและกัน ความขัดแย้งที่ลงลึกแก้ไขไม่ได้ง่ายๆด้วยวิธีจับมือปรองดองของบรรดาแกนนำสีเสื้อ ขณะที่ตัวละครเอกถูกจัดไว้นอกสมการ

เสกสรรค์เสนอว่า หลังรัฐประหาร 2557 แทนที่ คสช. จะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่สีเสื้อต่างกัน กลับดำเนินนโยบายหลายเรื่องด้วยการปฏิรูปการเมืองและวางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ การร่างรัฐธรรมนูญก็ตั้งใจให้มีการสืบทอดอำนาจผ่านสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 250 คน เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสัดส่วนผสม ทำให้ความสำคัญของพรรคใหญ่ลดลงอย่างมีนัย ซึ่งจะทำให้เสียงข้างมากพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ และเปิดทางให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก ทำให้เสียงของประชาชนลดความสำคัญลง

นอกจากนี้หากดูบทบัญญัติขั้นตอนการปฏิรูปประเทศกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลจากการเลือกตั้งแทบกำหนดนโยบายเพิ่มไม่ได้เลย และอาจกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบาย คสช. เสียเอง รัฐธรรมนูญก็แก้ไขได้ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ เหมือนผู้ร่างประสงค์จะตรึงโครงสร้างนี้ให้นานแสนนาน เมื่อรวมช่วงรัฐบาลทหารปกครอง การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐจึงต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี

เสกสรรค์เสนอว่า การยึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐครั้งนี้มีมวลชนสนับสนุนไม่น้อย เป็นยุทธการโจมตีรัฐบาลจากการเลือกตั้งและล้มประชาธิปไตยในคราเดียวกัน แม้ทหารและการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า แต่ถ้าติดตามข่าวสารในสื่อหลักและโซเชียลมีเดียจะพบว่าปัจจุบันมีคนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยมากขึ้น ซึ่งคำตอบอยู่ที่นโยบาย 2 ประการคือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศรายได้สูงหรือนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ 2.นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจด้วยกลไกประชารัฐ ซึ่งเป็น “มาสเตอร์แพลน” ในการช่วงชิงมวลชนและการสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก

เสกสรรค์ชี้ในตอนท้ายว่า การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีแนวโน้มได้ทั้ง 2 ทางคือ ทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งกับชนชั้นนำภาครัฐที่กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองระบอบเกี๊ยะเซียะหรือเกี๊ยะเซียะธิปไตย ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ โดยเสนอแนะ โต้แย้งเชิงนโยบายที่แตกต่าง ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการเมืองในประเทศไทย

ที่เสกสรรค์วิเคราะห์เช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าค่อนข้างถูก แต่ต้องพิจารณาด้วยว่ารัฐบาลทหารนั้นไม่ได้เป็นกลาง นโยบายที่ใช้ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เสนอโดยฝ่าย กปปส. นอกจากนี้ยังใช้นโยบายปราบปรามแบบสองมาตรฐานคือ เล่นงานฝ่ายคนเสื้อแดงมาตลอดด้วยข้อหาสารพัด ขณะที่ยกเว้นการดำเนินคดีฝ่ายคนเสื้อเหลือง เป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมอย่างยิ่งในทรรศนะของฝ่ายคนเสื้อแดง อุดมการณ์แห่งรัฐปัจจุบันก็คือแนวคิดอนุรักษ์นิยมย้อนหลังกลับไปสู่วันคืนที่ชนชั้นนำในระบบราชการอยู่ในอำนาจ ฝ่าย คสช. ปฏิเสธแม้กระทั่งอุดมการณ์เสรีนิยมที่เป็นแนวคิดทุนนิยมทั่วโลก

แม้กระนั้นเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ คสช. คิด เพราะตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจจนถึงขณะนี้รัฐบาลทหารต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติ นอกจากนี้ภายในประเทศยังถูกกดดันจากประชาชนจนต้องใช้มาตรการปราบปรามอย่างหนักและใช้กฎหมายเผด็จการมาตรา 44 ความวิตกอย่างหนึ่งคือ การควบคุมเสียงประชาชนที่นิยมพรรคเพื่อไทยไม่ได้ จึงต้องสร้างระบบอันซับซ้อนเพื่อป้องกันพรรคเพื่อไทย และใช้มาตรการทางกฎหมายเล่นงานบุคลากรพรรคเพื่อไทย

ประเทศไทย 4.0 ไม่มีอนาคต เพราะเศรษฐกิจทรุดหนักลงจนขณะนี้ก็ยังไม่เห็นทางออก ดังนั้น ถ้าจะสืบทอดอำนาจ 9-10 ปี ก็ยิ่งเสียหายหนักขึ้น ทางออกที่ไม่มีทางออกคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แต่ถ้ามีการเลือกตั้งก็ยังไม่เห็นทางออก ทั้งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย การเรียกให้ทหารกลับมาทำรัฐประหารอีกครั้งเพื่อนำไปสู่ทางออกน่าจะเกิดขึ้นในระยะไม่นานนัก

ตอนหนึ่งเสกสรรค์ได้วิจารณ์ปัญญาชนและนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยว่า ไม่ค่อยมีการเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ส่วนมากพอใจจะออกความเห็นในเฟซบุ๊ค การแสดงเสรีภาพด้านความคิดเห็นอาจเป็นจุดหมายสูงสุดในตัวเองและความเป็นปัจเจกชน ทำให้สำนึกในองค์รวมหายไป

กรณีนี้เสกสรรค์คงไม่ได้มองถึงกลุ่มนักวิชาการเสื้อแดง กลุ่มนิติราษฎร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านเผด็จการตลอดเวลา การใช้เฟซบุ๊คก็เพื่อแสดงความเห็นต่อต้านเผด็จการ แต่การคุกคามจากอำนาจรัฐ การถูกดำเนินคดีและถูกเรียกไปปรับทัศนคติก็เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหว และเสกสรรค์คงไม่ได้พิจารณาถึงนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนที่ต้องหลบหนีไปต่างประเทศ

นี่เป็นความเห็นแลกเปลี่ยนของผู้เขียนครับ


You must be logged in to post a comment Login