- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เหลือคำถามเดียว
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
เพราะตอบคำถามทีไรก็มีแต่ความไม่ชัดเจน ทำให้ต้องตอบซ้ำๆ บ่อยๆ จนตัวเองหัวร้อนหงุดหงิด
จริงอยู่ว่าการจะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล แต่บังเอิญว่าการจะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ จะลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่ของท่านผู้นำเป็นสิ่งที่คนทั่วไปให้ความสนใจ เพราะว่าจะมีผลต่ออนาคตของบ้านเมือง
หากตั้งพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ย่อมมีผลกระทบต่อบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการตอบคำถามจะเลี่ยงบาลีอย่างไร จะบอกเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นไปตามสถานการณ์ แต่ภายในสัปดาห์นี้ประชาชนจะได้คำตอบที่ชัดเจนหนึ่งข้อคือท่านผู้นำจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าหากผู้ที่อยู่ในทีมปฏิรูปบ้านเมืองตอนนี้อยากลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.จะต้องลาออกจากตำแหน่งปัจจุบันภายในกำหนดระยะเวลา 90 หลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา
นับนิ้วดูแล้วจะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ หากพ้นวันที่ 5 กรกฎาคมไปแล้ว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ลาออกจากการเป็นหัวหน้า คสช.จะขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครส.ส.ทันที
ความจริงไม่ต้องรอถึงวันที่ 5 กรกฎาคม ทุกคนก็น่าจะรู้คำตอบอยู่แล้วว่าท่านผู้นำจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.หรือไม่ เพราะอย่างไรก็คงไม่มีวันลาออกจากสองตำแหน่งที่กุมอำนาจสูงที่สุดในประเทศตอนนี้แน่นอน
เมื่อไม่ลงสมัครส.ส.แน่แล้ว การที่จะอยู่ปฏิรูปประเทศต่อให้สำเร็จตามเสียงเชียร์ ตามผลโพลของสำนักต่างๆ ก็เหลือประตูเดียวที่จะเปิดเข้าสู่เก้าอี้แห่งอำนาจได้หลังเลือกตั้งคือการเข้ามาเป็นนายกฯคนนอกที่ทีมงานร่างรัฐธรรมนูญเขียนเจาะช่องเอาไว้ให้
ความจริงถึงรัฐธรรมนูญไม่กำหนดให้ลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันหลังการบังคับใช้ ท่านผู้นำก็ไม่จำเป็นต้องเปลืองตัวลงสมัครส.ส. ไม่ต้องไปลุ้นผลเลือกตั้งว่าจะได้เข้าสภาหรือไม่ ไม่ต้องออกแรงหาเสียงให้เหนื่อย
หากอยากสานต่องานปฏิรูปที่ยังค้างคาทำไม่เสร็จ นั่งอยู่เฉยๆรอเสลี่ยงมารับให้ขึ้นเป็นผู้นำการบริหารง่ายกว่า
อย่างที่ทราบกันว่าคสช.จะเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน นั่งรอไว้ก่อนแล้วในสภา และส.ว.เหล่านี้มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯได้
ไม่ต้องลงเลือกตั้ง ไม่ต้องตั้งพรรคการเมืองก็มี 250 เสียงตุนเอาไว้ในมือ
หากพรรคการเมืองไม่สามารถเจรจาต้าอวยปิดดีลจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ ส.ว.จะมีบทบาทอย่างสูงในการเลือกคนเป็นนายกฯ
ไม่ต้องเสียเวลาถามเรื่องจะตั้งพรรคหรือไม่ จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
คำถามเดียวที่เหลือรอคำตอบตอนนี้คือท่านผู้นำจะเป็นนายกฯคนนอกตามที่ทีมร่างรัฐธรรมนูญเขียนเจาะช่องเอาไว้ให้หรือไม่ คำถามนี้จะได้คำตอบชัดเจนพร้อมกันเมื่อมีเลือกตั้ง
You must be logged in to post a comment Login