- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
สธ.ชวนชาวพุทธห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ ใส่บาตรอาหารสุขภาพ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่าช่วงเทศกาลเข้าพรรษาตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2560 พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญในการทำบุญ รักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ส่วนใหญ่จะเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา และถวายปัจจัยสำหรับพระสงฆ์ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยจะเลือกอาหารที่คิดว่าดีที่สุด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด มีไขมันสูง และขนมหวาน ทำให้พระสงฆ์มีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDsเช่น ไขมันในเลือดสูงโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลกรมการแพทย์ ปีงบประมาณ 2559 มีพระสงฆ์- สามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง 9,609 ราย โรคความดันโลหิตสูง 8,520 ราย โรคเบาหวาน 6,320 ราย โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 ราย และโรคข้อเข่าเสื่อม 2,600 รายจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ให้ความสำคัญกับการอาหารที่จะถวายพระสงฆ์ให้มากขึ้น
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำบุญตักบาตรเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นิยมทำกันในช่วงวันสำคัญนี้แต่เนื่องจากในสภาวะปัจจุบัน ประชาชนมักเลือกอาหารสำเร็จรูปที่หาง่ายตามท้องตลาดเพื่อใส่บาตร อีกทั้งพระสงฆ์ก็มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้มากเหมือนคนปกติ จึงพบว่าพระสงฆ์จำนวนมากมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน เป็นเหตุไปสู่โรคร้ายแรงในอนาคตเช่นโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ไขมันและความดันโลหิตสูง จึงควรใส่ใจเลือกอาหารใส่บาตรที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะเกิดกุศลผลบุญที่ดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงดังกล่าวแก่พระสงฆ์ด้วย
จึงขอแนะนำประชาชนให้เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อย่างน้อย 4 หมู่ ได้แก่ 1.ข้าวกล้อง 2.เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เพื่อลดพลังงานส่วนเกินไปสะสมในร่างกาย 3.ผักต่างๆ ที่มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย 4.ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน อาทิ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล และมะละกอ ในการประกอบอาหารควรใช้วิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือน้ำพริก หากจำเป็นต้องผัดหรือใช้กะทิควรใช้ในปริมาณน้อย รสชาติอาหารต้องไม่หวานจัด มันจัดและเค็มจัด ลดขนมหวานเพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง และควรเลือกนมจืดนมพร่องมันเนย น้ำสมุนไพรสูตรหวานน้อยหรือน้ำเปล่า
ด้านนายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าจากการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์-สามเณรทั่วประเทศจำนวน 122,680 ราย พบการป่วยมากที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และข้อมูลการตรวจคัดกรองในเขตกทม. -สามเณร จำนวน 6,375 ราย ของโรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2549 พบว่า พระสงฆ์ – สามเณร มีสุขภาพดีลดลงจากร้อยละ 60.3 เป็นร้อยละ 52.3 และมีภาวะความเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 28.5 พบพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพได้แก่ สูบบุหรี่ เป็นโรคอ้วน และป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ในปีนี้ ได้มอบให้โรงพยาบาลสงฆ์ดำเนินการตามแผนงานพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ –สามเณร ประกอบด้วยการเสนอข้อมูลปัญหาสุขภาพให้เขตสุขภาพวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหา จัดอบรมอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) จัดทำคู่มืออสว. คู่มือการออกกำลังกาย และคู่มือการดูแลพระสงฆ์สามเณรอาพาธ จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ สามเณรกลุ่มเสี่ยงเช่น โครงการลดน้ำหนัก ลดพุงเป็นต้น และรณรงค์ถวายอาหารที่เหมาะสมแด่พระสงฆ์ – สามเณร
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าจากการสำรวจการออกกำลังกายของพระสงฆ์ สามเณร พบว่ามีการออกกำลังกายจำนวนมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพียงร้อยละ 7.35 เท่านั้น ดังนั้นในการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์-สามเณร เป็นการบริหารขันธ์หรือการบริหารร่างกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงของโรค ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.การสร้างความทนทานของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยการเคลื่อนไหวแขนขาและลำตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นการเดินเร็ว หรือการก้าวสลับขาขึ้นลงบันได 2.สร้างความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ เช่นการยกน้ำหนักในท่าต่างๆการดันพื้นการดึงข้อการนอนยกเท้าขึ้นลง การนอน ลุก-นั่งเพื่อบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นต้น 3. 3.สร้างความอ่อนตัวและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เป็นการเหยียดตัวของข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกายในขณะทำงานเช่นการก้มตัวใช้มือแตะพื้นโดยไม่งอเข่าการแอ่นตัวใช้มือแตะขาพับได้โดยไม่งอเข่าเป็นต้น
นอกจากนี้ กรมอนามัย ได้จัดทำโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพมาเป็นตั้งแต่ปี 2552 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์และชุมชน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน/ภาคีสุขภาพ คณะสงฆ์ ชุมชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ตั้งเป้าหมายปี 2560 พระสงฆ์มีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80ขณะนี้มีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว 2,772 แห่ง โดยปี 2560 มหาเถรสมาคม ได้มีมติพัฒนา 3 เรื่องสำคัญ คือ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม
นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติคือการถวายสังฆทาน เพื่อเป็นปัจจัยในการจำพรรษา พบว่า มีผู้จัดทำชุดสังฆทานสำเร็จรูปไว้จำหน่าย และนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใส่ไว้รวมกัน ทั้งที่เป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง รวมกับผลิตภัณฑ์อื่น ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง เป็นต้น ซึ่ง อาจเกิดการปนเปื้อนสารอันตรายและมีกลิ่นเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหาร เกิดอันตรายต่อภิกษุสงฆ์ได้ จึงได้เร่งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการเลือกซื้อสังฆทาน
ในการซื้อถังสังฆทานขอให้สังเกตผลิตภัณฑ์ที่ใส่ในถัง ต้องไม่นำผลิตภัณฑ์อาหารยา มาใส่รวมกับผลิตภัณฑ์อื่น สังเกตภาชนะหีบห่อที่บรรจุต้องเรียบร้อยไม่ฉีกขาด และความสะอาดสังเกตฉลากควรแสดงข้อความรายละเอียดครบถ้วน เช่น เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ ส่วนประกอบ เป็นต้น ที่สำคัญควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน กรณีอาหารกระป๋อง ควรดูลักษณะกระป๋อง ต้องไม่เป็นสนิม ไม่บุบบี้หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว ดูตะเข็บหรือรอยต่อเรียบร้อยและแน่นหนา หากพบเห็นร้านที่บรรจุผลิตภัณฑ์อาหารที่หมดอายุ หรือใกล้หมดอายุในชุดสังฆทาน แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุ้มครองความปลอดภัยแด่พระภิกษุสงฆ์ต่อไป
You must be logged in to post a comment Login