วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คลินิกเอสเอ็มอีลงพื้นที่ศก.อีสาน “อุบล-มุกดาหาร”ชัยภูมิหลักบุกอินโดจี

On July 6, 2017

กระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและมุกดาหาร หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทย-สปป.ลาว ตอบรับนโยบายรัฐบาล จับมือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้าสานต่อ “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งที่ 5 เร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ แนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) โดยได้รับเกียรติจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมพลอย พาเลซ จังหวัดมุกดาหารunnamed (11)
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า การจัด “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 โดยผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่การ “สร้างมูลค่า” และการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local economy) ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สำหรับครั้งนี้มีเป้าหมายลงพื้นที่ในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงการค้าไทย–ลาว และเวียดนาม ที่มีความสำคัญในฐานะประตูเส้นทางการค้าเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ที่สามารถออกไปสู่ด้านตะวันออกทะเลจีนใต้ เมืองท่าดานัง เวียดนาม และไปสู่มหาสมุทรอินเดีย
“อุตตม สาวนายน” กล่าวว่า “ถึงวันนี้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ให้ทันเทคโนโลยี ตลาดโลกวันนี้มีความเชื่อมโยงกันทำให้เรามีโอกาสที่จะค้าขายมากขึ้นโดยเฉพาะ จังหวัดที่มีลักษณะเด่นอย่างมุกดาหารซึ่งมีความพร้อมทางด้านชัยภูมิสามารถจะเปิดตลาดการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาผู้ประกอบการของเราให้มีความพร้อมและทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะก้าวไปพร้อมกัน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกันกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่เกี่ยวข้องว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐมาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้อย่างไรเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดunnamed (10)
จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่มีจุดเชื่อมต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่าง สปป.ลาว เวียดนาม ไปจนถึงจีนตอนใต้และทางตะวันตกไปได้ถึงแม่สอดที่ติดต่อกับพม่ามีความเกี่ยวเนื่องกันในโครงการระเบียงเศรษฐกิจซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลกำลังพัฒนาทำให้มุกดาหารเป็นจังหวัดที่มีบทบาทสูงในเรื่องนี้
ในด้านการค้าขายข้ามแดนโดยเฉพาะกับสปป.ลาวที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่อย่างสะหวันนะเขต ซึ่งของไทยในอนาคตจังหวัดมุกดาหารก็จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยเช่นกันซึ่งจะมีรูปแบบที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในพื้นที่ในทุกๆด้าน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหาร “เมืองการค้าการเกษตร การท่องเที่ยวชายโขง เชื่อมโยงอาเซียน” กระทรวงฯ จึงได้ให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วยเครื่องมือในการต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผู้ประกอบการให้ก้าวสู่ SMART SMEs การเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ และการบริการผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือด้านมาตรการการเงินในรูปแบบสินเชื่อกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับเอสเอ็มอีมีเงินทุนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาสินค้า และกำลังการผลิตที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศยื่นคำขอทั้ง 4 มาตรการแล้ว 9,178 ราย วงเงิน 23,932 ล้านบาท อนุมัติแล้วจำนวน 2,439 ราย ในวงเงิน 6,977.28 ล้านบาทunnamed (8)
สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 5 ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี) โดยขณะนี้มีผู้ขอความยื่นคำขอรับความช่วยเหลือเข้ามาแล้ว จำนวน 1,481 ราย วงเงิน 4,030.36 ล้านบาท และได้อนุมัติรวมทุกกองทุนไปแล้ว จำนวน 381 ราย วงเงิน 1,298.62 ล้านบาท
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า “เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทยและลาว รองรับก่อนเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ขณะนี้เราจึงเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยผ่านเครื่องมือในการช่วยต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย ในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาดเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การพัฒนาผู้ประกอบการโดยการเติม องค์ความรู้ในการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การบัญชีและการเงินให้ก้าวสู่ SMART SMEs พร้อมส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ โดยมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการภายใต้กลไกประชารัฐ ซึ่งกองทุนตามแนวประชารัฐดำเนินการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบกองทุนต่าง ๆตามคุณลักษณะของผู้ประกอบการโดยแบ่งเป็นกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม มาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
นอกจากนี้รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมผู้ประกอบการที่ได้รับทุนส่งเสริมในครั้งนี้อีก 2แห่งคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาริลิน อินเตอร์ฟูดส์ ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร บริหารโดย นางสาวเมลิกา นามเดช อายุ 29 ปี ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นก๋วยจั๊บเวียดนาม, ขนมจีนอบแห้ง ใบเมี่ยง, เส้นขนมจีน และ ข้าวเกรียบ ซึ่งเป็นธุรกิจในครัวเรือนที่สานต่อจากบิดา เนื่องจากสินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่ายมีรสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้มียอดการผลิตและยอดขาย สูงขึ้นเรื่อยๆ จนผลิตไม่ทันความต้องการ ล่าสุดได้เข้าร่วมโครงการกองทุนตามแนวประชารัฐ และได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 3 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรสำหรับบรรจุหีบห่อ (Horisontal Flow Packing Machine-Box Motion) อัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้การบรรจุหีบห่อสินค้ารวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การได้มาซึ่งเครื่องจักร เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า อีกทั้งช่วยในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าได้มากถึง 20-30% จากเดิม และบริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด ตั้งอยู่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ผลิต “หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม สัญชาติไทย” บริหารงานโดย คุณอรัญ อนุพรรณสว่าง กรรมการผู้จัดการ ได้รับเงินกองทุนตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานผลิต “หุ่นยนต์แขนกล” นำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิต ที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะ ขาดเงินทุนเพื่อขยายการผลิต หลังจากที่ได้รับเงินสนับสนุน นำไปขยายแรงงานเพื่อเพิ่มการผลิต ผลประกอบการเพิ่มขึ้น 20% จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว (30 คน) คาดหวังอีก 1 ปีข้างหน้าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 20% ด้วยการสร้างแบรนด์ของตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม มีการใช้รหัสบาโค้ด รวมทั้งในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายโรงงานเพื่อรองรับกำลังการผลิตและยอดการสั่งซื้อที่มีปริมาณมากขึ้นด้วย
ซึ่งทั้งนี้ สถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง มีความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังขาดปัจจัยด้านเงินทุน ทางกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้ให้ความดูแลและช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้และยั่งยืน ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้เร่งขยายผลการดำเนินงานในลักษณะนี้ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยเร็วต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358unnamed (6)


You must be logged in to post a comment Login