วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

2 กรกฎาคม 2540 วันเศรษฐกิจวิปโยค / โดย บรรจง บินกาซัน

On July 10, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

เข็มนาฬิกายังคงทำหน้าที่เดินบอกเวลาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น แต่เวลาในความรู้สึกของคนอาจแตกต่างกัน คนกำลังมีความสุขกับคนรักจะรู้สึกว่าเวลา 1 วันผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับคนที่ตกทุกข์ได้ยาก 1 ชั่วโมงจะยาวนานเหมือน 1 วัน

เช้าวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 คนไทยที่มีอายุ 40-60 ปีในตอนนี้คงจำได้ว่า เป็นเวลาที่คนไทยเริ่มประสบความทุกข์กันถ้วนหน้า เพราะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ก่อนหน้านั้นท่านนายกฯได้ออกมายืนยันหลายครั้งว่าจะไม่ลอยตัวค่าเงินบาท เหมือนจะประวิงเวลาให้ใครบางคนตุนเงินดอลลาร์สหรัฐไว้เพื่อเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจนร่ำรวยภายในชั่วข้ามคืน

เดิมทีอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทไทยอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 26 บาท เมื่อประกาศลอยตัวค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยนก็ขยับเปลี่ยนไปเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 30, 38, 40 และ 42  บาท ในเวลาไม่ถึง 1 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจการเงินของไทยพังทลายจนสถาบันการเงิน 50 กว่าแห่งถูกปิด ธนาคารพาณิชย์ที่เคยมั่งคั่งมั่นคงเริ่มขาดสภาพคล่องและคลอนแคลนจนหลายแห่งถูกต่างชาติเข้ามาควบคุมกิจการในเวลาต่อมา

เศรษฐกิจฟองสบู่ของไทยเริ่มต้นอย่างเงียบๆโดยคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวราว พ.ศ. 2535 มีการเก็งกำไรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์กันอย่างคึกคัก เพราะมีข่าวว่าสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงกำลังจะหมดอายุและฮ่องกงจะตกเป็นของจีน นักธุรกิจฮ่องกงจะพากันมาลงทุนในประเทศไทย ญี่ปุ่นจะส่งคนเกษียณอายุมาอยู่ในเมืองไทย และชาวจีนไต้หวันจะมาลงทุนในไทยมากขึ้น ข่าวนี้เองที่ทำให้คนไทยเริ่มกว้านซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ไว้ต้อนรับนักธุรกิจและนักลงทุนจากประเทศดังกล่าว ราคาที่ดินจึงพุ่งสูงขึ้นทันที

ความต้องการเงินเพื่อซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่มีมากขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เริ่มสูงขึ้น แต่นักเก็งกำไรก็ยอมจ่ายดอกเบี้ยเพราะเห็นช่องทางทำกำไร เมื่อเป็นเช่นนี้ธนาคารจึงเสนอดอกเบี้ยเงินฝากอัตราสูงดึงดูดให้คนนำเงินมาฝากเพื่อนำไปปล่อยกู้อีกทีหนึ่ง ผมจำได้ว่าในช่วงเวลานั้นดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์สูงถึงร้อยละ 8

เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากที่เป็นต้นทุนของธนาคารสูง ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ย่อมสูงขึ้นตาม อย่างน้อยที่สุดธนาคารต้องนำไปบวกอีกร้อยละ 5 เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ นี่ยังไม่รวมเงินปากถุง

เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศสูงจนธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มมองว่าถ้าตัวเองยังคงอาศัยเงินกู้ภายในประเทศ รายได้ก็มีแต่จะตกเป็นของธนาคาร ดังนั้น นักธุรกิจและนักลงทุนบางส่วนจึงหันไปหาแหล่งเงินกู้จากภายนอกที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า

หมายเหตุ – ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่าในประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ในระดับต่ำมาก ดอกเบี้ยเงินกู้จึงต่ำไปด้วยเพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนกู้ไปลงทุนและไม่ส่งเสริมให้คนแสวงหารายได้จากดอกเบี้ย

แต่การกู้เงินจากต่างประเทศมักใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักอ้างอิง ตอนกู้เงินอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 26 บาท แต่ในตอนใช้คืนเงินกู้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 42 บาท ธุรกิจที่ใช้เงินกู้ภายนอกจึงฉิบหายกันถ้วนหน้า จำนวนธุรกิจที่ปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องและอาคารที่ถูกทิ้งร้างสร้างไม่เสร็จเป็นหลักฐานแห่งความหายนะทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

เมื่อธุรกิจหนึ่งล้มย่อมส่งผลต่อธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อธุรกิจอื่นได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องหรือต้องปิดตัวไป ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยเงินกู้ไปก็ย่อมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงเริ่มเป็นภาระสำหรับธนาคาร ดังนั้น หลังจาก พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารจึงลดลงแทบจะใกล้ศูนย์อย่างที่เห็น

หลายคนมองว่าเศรษฐกิจมีขึ้นมีลง และคิดว่าภายใน 10 ปีเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่ใน พ.ศ. 2551 สหรัฐอเมริกาประเทศหัวจักรของระบบทุนนิยมก็เกิดวิกฤตการเงินขึ้นและส่งผลกระทบทั่วทั้งโลก

เวลาแห่งความปวดร้าวจากบาดแผลลึกทางเศรษฐกิจจึงยาวนานกว่าเวลาจากนาฬิกา


You must be logged in to post a comment Login