- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
วิกฤตแรงงานต่างด้าว / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แรงงานต่างด้าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ผลคือ แรงงานต่างชาติหลั่งไหลกลับบ้าน โดยเฉพาะแรงงานพม่า กัมพูชา และลาว ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขนาดย่อมกับนายจ้างชาวไทย บังเกิดการรีลไลซ์ว่าจะส่งผลกระทบระยะเวลาสั้น จึงต้องปิดกิจการและให้คนงานต่างด้าวออก ทำให้รัฐบาล คสช. มีภาพลักษณ์เสียหายอย่างมาก เพราะชักเข้าชักออกกฎหมายฉบับสำคัญ
ผลจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ทำให้เกิดการลอยแพคนงานต่างด้าวนับหมื่นเดินทางกลับประเทศและกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทันที เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงต้องหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน และต้องใช้มาตรา 44 เลื่อนการบังคับใช้ออกไป 180 วันใน 4 มาตราสำคัญ โดยนายวิษณุแถลงว่า แรงงานเหล่านั้นกลับไปยังประเทศต้นทางและทำเรื่องขออนุญาตทำงานให้ถูกต้อง ขณะที่กลุ่มยางพาราภาคใต้ได้ยื่นหนังสือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะแรงงานหายไปทันทีหลายหมื่นคน
ผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายภาคส่วนจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในทางปฏิบัติ มีบทลงโทษนายจ้างและลูกจ้างสูงเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และกลุ่มวิถีชนที่จ้างแรงงานต่างด้าว
นายวิษณุยังเปิดเผยว่า การหารือกับภาครัฐ ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ที่ยื่นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ทบทวน พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว จากนั้นได้เข้าพบนายกฯเพื่อรายงานข้อเสนอของภาคเอกชน 4 ข้อคือ 1.ให้ตั้งหน่วยหรือศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ 2.ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมพิจารณาออกกฎหมายลูก 3.ให้พิจารณาแก้ปัญหาเงินชดเชยกรณีลูกจ้างหยุดงานกลับประเทศแล้วกลับเข้ามาทำงานใหม่ และ 4.ให้ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างและลูกจ้างเข้าใจง่ายว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะกฎหมาย 145 มาตราอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง
นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวยกเว้นข้อที่ 1 เพราะเห็นว่าการตั้งศูนย์รับจดทะเบียนใหม่จะเอาตามความต้องการไม่ได้ มิฉะนั้นจะทำให้เกิดข้อติดขัด เนื่องจากประเทศไทยลงนามบันทึกความเข้าใจไว้กับพม่า ลาว และกัมพูชา ว่าจะแก้ปัญหาคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายและทำให้ถูกกฎหมายด้วยการส่งออก ถ้าเปลี่ยนตามข้อเสนอให้จดทะเบียนในไทยก็จะไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เหมือนไทยไปล้มการเจรจาที่ทำไว้
นายวิษณุยังกล่าวว่า หากเปิดให้คนต่างด้าวที่รออยู่ตามแนวชายแดนทะลักเข้ามาจดทะเบียนในไทยโดยผิดกฎหมายเข้าเมืองจะทำให้มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ตามมาอีก จึงต้องทำให้เป็นระบบอย่างถูกต้อง ถ้าจะเปลี่ยนระบบใหม่ก็จะเสียเวลาในการทำความเข้าใจและอาจส่งผลกระทบอีกหลายอย่าง ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับกฎหมายฉบับนี้ที่กำหนดความผิดไว้สูง เช่น โทษปรับนายจ้างที่กำหนดไว้สูงถึง 800,000 บาทต่อคนต่อราย
เมื่อนำปัญหานี้รายงานนายกฯจึงเห็นว่าไทยเคารพในพันธกรณีที่ตกลงกับประเทศอื่น ประเด็นหลักคือเรายังต่อต้านการค้ามนุษย์โดยไม่นำ พ.ร.ก. ฉบับนี้มาใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นอุปสรรคในการปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงต้องเข้มงวดกวดขันมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่ที่รีดไถหรือเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จะต้องถูกลงโทษอย่างเฉียบขาด และเพื่อบรรเทาปัญหาจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ จึงเห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราคือ มาตรา 101 กรณีเอาผิดลูกจ้าง มาตรา 102 เอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่รับอนุญาต มาตรา 122 การรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน และมาตรา 119 การทำงานโดยไม่มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ
นายวิษณุกล่าวว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อผ่อนคลายปัญหาดังกล่าวจะไม่ขัดกับ พ.ร.ก. ที่ออกไปแล้ว และให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ด้วย เนื้อหาคำสั่งนี้จะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมระหว่างเดินทางกลับ หรือถูกรีดไถข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ ยกเว้นผู้มีความผิดเรื่องค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือผิดเงื่อนไขจากที่ได้รับอนุญาต ให้รีบดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนนายจ้างต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะยังมีเวลาผ่อนผัน 180 วัน ขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานควรทำความเข้าใจกับลูกจ้างว่ายังสามารถทยอยเดินทางกลับไปขออนุญาตให้ถูกต้องจะได้ไม่เกิดปัญหาสุญญากาศ และปัญหาสภาพคล่องเพราะไม่มีแรงงาน
ส่วนเหตุผลที่ทำไมไม่ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ต้นนั้น นายวิษณุกล่าวว่า เพราะในเนื้อหายาว 145 มาตรา ขณะที่คำสั่งมาตรา 44 ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและไม่ยุ่งยากต่อการอ่านแล้วต้องมาตีความ แต่กฎหมายฉบับนี้ต้องตีความทั้งนั้น จึงออกมาเป็นกฎหมายปรกติ ซึ่งเริ่มต้นจากการเสนอเป็น พ.ร.บ. แต่ ครม. เห็นว่าจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ต่อสถานะทางเศรษฐกิจจึงออกเป็น พ.ร.ก. โดยยุบรวมกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อให้บริหารจัดการง่ายและเพิ่มโทษ รวมถึงเป็นไปตามมาตรฐานสากล
สรุปแล้วการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้นำมาซึ่งปัญหามากกว่า เพราะมาจากการสำรวจที่ไม่รอบด้าน การใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาทั้งที่เพิ่งออกมาเพียงสัปดาห์เดียวสะท้อนปัญหาการบริหารงานในยุคเผด็จการว่ามีความไม่พร้อมในการออกกฎหมายและการบังคับใช้เช่นกรณีนี้
จึงถามว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ไม่สร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็อย่าทำให้เศรษฐกิจเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้หรือไม่?
You must be logged in to post a comment Login