วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เลือกไม่เลือกก็ได้เรา / โดย ทีมข่าวการเมือง

On July 11, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“มนุษย์ถ้าไม่กลมกลืนกัน ทุกอย่างก็ยุ่งไปหมด จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวีทุกช่อง วุ่นวายอยู่กับเรื่องของผมที่ว่าจะเลือกตั้งหรือไม่ บ้าบอคอแตกกันอยู่นั่น วันนี้จะเป็นจะตาย ฉะนั้นอย่าไปสนใจ ใครอยากพูดอะไรก็พูดไป มันเรื่องของผม ตอบชัดเจนแบบนี้แล้วอย่ามาถามผมอีก”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกอาการหงุดหงิดอีกครั้งระหว่างปาฐกถาเรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ให้รัฐบาลในอนาคตเดินไปตามกรอบที่กำหนดไว้ โดยยุทธศาสตร์ชาติร่างเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างการรับรู้ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงฝ่ายต่างๆที่วิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์ชาติในแง่ลบต่างๆว่า

“ไอ้ที่กลัวเพราะกลัวว่าที่เขียนไปแล้วจะไม่ได้ทำ ของตัวเองที่เคยคิดจะทำ เคยไปโปรยหว่านไว้ตรงนั้นตรงนี้ ต้องเขียนให้แต่ละจังหวัดต้องทำอย่างไร การทำงบประมาณประจำปีต้องลงมาแล้วไล่ดูความโปร่งใส เรื่องการทุจริตอีกครั้งหนึ่ง ไม่อย่างนั้นประชาชนก็ไม่รู้อนาคต ผมไม่อยากให้ฟังคนทักท้วงที่ไม่มีหลักการ ไม่มีเหตุผล เราต้องทำสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นให้ได้ ไม่ใช่ไปคิดว่าทำไม่ได้เพราะมีเหตุทุจริต เอื้อประโยชน์ ไม่ดูแลคนจน เอางบไปทำอย่างอื่นมากกว่าดูแลประชาชน มันพูดอย่างนี้พูดได้อย่างไร พอเริ่มลงทุนก็บอกทุจริตก็ไม่ต้องไปไหนแล้ว ปวดหัวทุกวัน ทุจริตคือทุจริต ที่คิดดีคือคิดดี แยกออกจากกัน ที่ทุจริตก็เอาไปฆ่าทิ้ง หามาแล้วบอกผม ผมเล่นงานไปเยอะแล้วแต่ไม่อยากพูด เพราะเสียชื่อประเทศ แต่ไม่ได้ปล่อยปละละเลย”

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ตรงข้ามสิ้นเชิงกับก่อนหน้านี้ที่ “นิด้าโพล” ระบุผลสำรวจว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.52 เห็นด้วยหากมีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลทหาร เพราะต้องการเห็นทางออกใหม่ๆ และช่วยลดความขัดแย้งความวุ่นวายทางการเมือง หากเข้ามาอย่างถูกต้องประชาชนก็ไม่ติดขัด หรือหากมีพรรคการเมืองสนับสนุนรัฐบาลทหารก็จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาประเทศและสานต่อนโยบายต่างๆที่ทำไว้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงโพลที่สนับสนุนว่า

“อย่ามากังวลกับผมว่าจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไปเองว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต เราต้องคาดหวังแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ทำได้ ทำสำเร็จ อย่าไปคิดว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ให้เสียสมาธิ วันหน้าก็อยู่ที่ประชาชน เรื่องโพลก็ขอบคุณผู้สนับสนุน ส่วนผู้ไม่สนับสนุนก็ขอบคุณเช่นกัน จะรับฟังความคิดเห็นทั้งสองทาง”

นอนมา “นายกฯคนนอก”

อย่างไรก็ตาม คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งและตั้งพรรคการเมืองแน่นอน ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งให้โดนด่าฟรีๆ หากต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เป็น “นายกฯคนนอก” ได้ไม่ยาก เพียงแค่รวบรวมเสียงพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือขนาดกลางให้มารวมกับเสียง ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มีคำตอบเรื่องอนาคตทางการเมือง เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิเสธที่จะเป็น “นายกฯคนนอก” เช่นกัน ผู้สื่อข่าวก็ต้องถามคำถามเดิมๆ ฝ่ายการเมืองก็ต้องถามถึงความถูกต้องชอบธรรมหาก พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมือง พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่พูดอะไรที่จะ “ผูกคอตัวเอง” และ “ตายน้ำตื้น” อย่าง “บิ๊กสุ-พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ที่ถูกจดจำไปชั่วลูกชั่วหลานว่า “ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ” และมีจุดจบที่ไม่น่าจดจำ

ส่วนพวกที่เชลียร์ทหารก็เชลียร์ต่อไปอย่างไม่ลืมหูลืมตา พร้อมๆกับให้ได้ทุกกลไกทางอำนาจกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้สิ้นซากให้สะเด็ดน้ำมากที่สุด โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ซึ่งเห็นชัดเจนว่า 3 ปีที่ผ่านมานักการเมืองและประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีสารพัดและจับกุมคุมขังส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง

โดยเฉพาะคดีโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันที่ 21 กรกฎาคม คาดว่าศาลอาจนัดพิพากษาคดีนี้ภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่นานาชาติจับตามองถึงกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ขณะที่ประชาชนมากกว่าครึ่งประเทศให้กำลังใจและพร้อมจะยืนอยู่เคียงข้างอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่เห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ไม่ต่างกับคดีมากมายที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทหารที่ถูกองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแถลงการณ์ประณามต่างๆนานา เพราะแม้แต่นิสิตนักศึกษาที่เห็นต่างและเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบยังถูกดำเนินคดีและจับกุมคุมขังอย่างต่อเนื่อง

ท่าทีทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์วันนี้แตกต่างจากครั้งที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 มาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์แสดงให้เห็นความเป็นนักการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าวหรือเดินสายเปิดงานแทบไม่มีวันว่าง แล้วยังสั่งให้รื้อฟื้นโครงการ ครม.สัญจร 6 ภูมิภาค เพื่อนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่และพบปะรับฟังประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังให้จัดตารางการเดินทางไปต่างจังหวัดทุกเดือนอีกด้วย

การแบ่งรับแบ่งสู้หรือแทงกั๊กอนาคตทางการเมืองอาจเป็นอีกหนึ่งลูกล่อลูกชนของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องจะเป็นนายกฯคนนอกหรือไม่เท่านั้น แต่รัฐบาลทหารยังอาจจะอยู่ยาวอีก 2-3 ปี เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้ “ระบอบพิสดาร” เหมือนกรณีการคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เจ้าตัวก็ช็อกและอุทานดังๆว่าเพราะเขาต้องการอยู่ยาว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ คสช. และแม่น้ำ 5 สายทำมาตลอดคือการพูดว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเลวร้าย เป็นตัวปัญหา ทั้งพูดตลอดว่าการเลือกตั้งไม่ได้แสดงว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯจากการเลือกตั้งก็เท่ากับมาทำในสิ่งที่ตัวเองประณามไว้ แต่ในเชิงระบบแล้วแม่น้ำ 5 สายได้ออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเพื่อให้มีนายกฯคนนอก ไม่ใช่นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องการให้รัฐบาลทำตามแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ส่วนการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่คงเป็นการรวบรวมคนที่เป็นลิ่วล้อของ คสช. เพื่อมีพรรคการเมืองไว้สนับสนุนผู้นำ คสช. ให้เป็นนายกฯ เพราะแม้มีเสียง ส.ว. 250 เสียงสนับสนุน แต่การเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่จะเป็นเชื้อเริ่มต้น เมื่อรวมกับ ส.ว. และพรรคการเมืองขนาดกลางให้ได้จำนวนเพียงพอแล้วก็จะสามารถตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่า คสช. จะอยู่ต่อไป หรือยืดวันเลือกตั้งออกไป หรือจะมีการเลือกตั้ง ก็หนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ยังคงมีอำนาจต่อไป

นายจาตุรนต์ยังเตือนว่า การตั้งพรรคการเมืองในปัจจุบันจะให้ประสบความสำเร็จมากๆเหมือนสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อ 25 ปีก่อนคงเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองมีการพัฒนาคน พัฒนาความคิด ความเข้าใจ กลายเป็นพรรคใหญ่ที่ต่างมีฐานเสียงสนับสนุน ฉะนั้นการที่พรรคทหารหรือพรรคใหม่จะตั้งขึ้นแล้วประสบความสำเร็จได้มากๆมีโอกาสน้อย แต่เข้าใจว่าผู้มีอำนาจคงไม่ได้เน้นพรรคการเมืองที่ใหญ่โตขนาดจัดตั้งรัฐบาลได้ คงต้องการมีไว้เพื่อเป็นกระบอกเสียงหรือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยประสานความร่วมมือของพรรคการเมืองอื่นเพื่อที่จะไปสนับสนุนให้เป็นนายกฯคนนอก

วิกฤตสังคม-สงครามชนชั้น

รัฐบาลทหารอยากจะอยู่นานแค่ไหนคงไม่มีปัญหา ตราบใดที่กองทัพยังให้การสนับสนุนและกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำยังพอใจกับผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ หรือหากสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยืดอกเป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมาโดยวิธีใดก็ตามก็อ้างความชอบธรรมว่าเข้าสู่อำนาจอย่างสง่างาม

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเลือกตั้งวันนี้ถือว่ายังเป็นเรื่องอีกไกล สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่เสียของ-เสียเปล่า ต้องมีผลงานให้ประชาชนยอมรับให้ได้ ไม่ใช่ทำให้บ้านเมืองสงบเงียบ แต่เศรษฐกิจก็เงียบสงบจนไม่มีใครกล้ามาลงทุน แม้แต่นักธุรกิจไทยยังขนเงินหลายแสนล้านไปลงทุนในประเทศอื่นจนมีการพูดถึง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” รอบสอง แม้ไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างปี 2540 แต่นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ คสช. สรุปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้กับเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้อย่างน่าสนใจและน่ากังวลว่า

“20 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนครับเรามีโอกาสน้อยมากที่จะเจอวิกฤตแบบเดิมอีก แต่สิ่งที่น่าจะเจอมากกว่าจะกลายเป็นความหนืด ความอืด ที่เศรษฐกิจจะไม่เติบโตหรือโตช้า ซึ่งหลายคนบอกว่านั่นอาจจะเป็นเครื่องป้องกันวิกฤตที่ดีได้อย่างหนึ่ง (วิกฤตมักจะตามการเติบโตที่ร้อนแรง) แต่ที่ผมกลัวมากกว่าก็คือ ประวัติศาสตร์สอนว่าในยามที่เศรษฐกิจโตช้า ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งทวี (เรื่องนี้ Thomas Piketty ดูจะเขียนไว้ชัดในหนังสือ Capital in 21st century ของเขาว่า ระบบ Capitalism ใน Low growth economy จะค่อยๆถ่ายโอนสมบัติจากคนจนไปสู่คนรวย ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นไปเองตามธรรมชาติของระบบทุนนิยม) ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แม้ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจมีวิกฤตสังคม ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างรุนแรงก็อาจจะล้มล้างระบบไปเลยอย่างที่เคยเกิดในรัสเซีย จีน เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งถ้าเกิดวิกฤตสังคม เกิดสงครามชนชั้น มีสงครามกลางเมืองขึ้นมาจริง เราคงไม่ได้ฟื้นง่ายๆเหมือนตอนปี 2540 หรอกครับ คงต้องใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว

ขณะที่ William Pesek คอลัมนิสต์ของ Bloomberg ที่เชี่ยวชาญเศรษฐกิจเอเชีย กล่าวถึงการครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยว่า น่าประหลาดที่วันนี้ไทยกำลังกลับไปเป็น “คนไข้หมายเลขศูนย์” (Patient Zero) อีกครั้งหนึ่ง (อย่างไม่เต็มใจ) เพราะผลงานของรัฐบาลทหารที่บริหารเศรษฐกิจเติบโต “ต่ำเตี้ย” อย่างเก่งแค่ 3.3% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์โต 6% และอินโดนีเซียโต 5%

Pesek ยังวิจารณ์นโยบายที่รัฐบาลทหารพยายามเลียนแบบนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “ประชารัฐ” แบบรัฐบาลประชานิยม มีแต่จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเลย ไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากินวนเวียนอยู่กับของเก่าๆ น่าเศร้าที่ครบรอบ 20 ปี ไทยกำลังกลับมาเป็น “Sick Man of Asia” อีกครั้งหนึ่ง

ยุทธศาสตร์ของใคร?

ไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะออกอาการไม่พอใจที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และโยงไปถึง “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่รัฐบาลทหารถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้กองทัพและกลุ่มชนชั้นนำมีบทบาททางการเมืองต่อไป แม้จะถูกมองว่าเป็นการ “สืบทอดอำนาจ” ก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังยืนยันว่าจะทำให้ประเทศไทยมั่นคงและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน และไม่กลับไปสู่วงจรการเมืองเดิมๆจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ข้อมูลอีกด้านจาก iLaw ระบุว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมตินั้นเขียนไว้ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะผ่านและกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะประกาศใช้เสียอีก คือมติ ครม. ออกวันที่ 20 มิถุนายน 2558 ตั้งกรรมการ 22 คน มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้หน่วยงานราชการต่างๆจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์ชาติและดำเนินการร่างเอาไว้แล้ว ทั้งที่รัฐธรรมนูญเขียนว่าในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้ทำ ทั้งร่างฉบับที่เขียนเรียบร้อยแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร ไม่มีการเปิดเผยเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับ “ใต้ตุ่ม” ในอดีต

ขณะที่ฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เชื่อ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ของรัฐบาล คสช. ว่าจะทำให้ประเทศมั่นคงและมั่งคั่งจริง แต่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อ “สืบทอดอำนาจ” มากกว่า

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดกรอบให้เดินใน 20 ปี ในขณะที่โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เท่ากับเป็นการเอากุญแจมามัดมือตัวเอง ทำให้ตัวเองทำอะไรไม่ได้ เป็นการปิดหนทางการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ไม่เช่นนั้นผู้ที่กำหนดจะต้องรับผิดชอบหากเกิดผลตามมาในอนาคต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ค่อยเชื่อในแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะเห็นว่าโลกปัจจุบันนี้ทำอย่างนั้นยากมาก แต่เมื่อมีก็ต้องหาทางให้เกิดเจตนารมณ์ร่วมของสังคม คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมและยอมรับด้วย ยุทธศาสตร์จึงจะเดินได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังถามกลับว่าคนที่เขียนยุทธศาสตร์ชาตินั้นเก่งหรือเป็นเทวดามาจากไหนจึงมั่นใจว่ายุทธศาสตร์ชาติจะเป็นจริงตามที่เขียน

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใช้กำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกำกับนโยบายของพรรคการเมืองซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับที่ผู้ร่างยุทธศาสตร์มอง นอกจากนี้กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น อาจมองได้ว่าอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนชาวไทย เพราะสร้างระบบขึ้นมาตีกรอบให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในอีกมุมอาจมองได้อีกว่าไม่ขัด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีการกำหนดให้ทำยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ภาระจึงตกหนักที่ผู้ร่างยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ และไม่เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลชุดต่อๆไป ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาของประเทศ และบางครั้งต้องใช้นวัตกรรมในเชิงนโยบาย

เลือกไม่เลือก..ก็ได้เรา

3 ปีของรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปัญหาต่างๆที่เคยประกาศว่าจะแก้ไขก็ไม่ได้แก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความปรองดองที่กำลังจะเปิดร่างสัญญาประชาคมเร็วๆนี้ หรือปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นวิกฤตซึมลึกและซึมนาน แต่ก็ยังพยายามที่จะสร้างฝันให้ประชาชนเชื่อว่าการปฏิรูปประเทศและ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” คือกรอบกติกาที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคงและมั่งคั่งอย่างแท้จริง ทั้งที่ 3 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองยังจมปลักกับปัญหาทั้งเก่าและใหม่สารพัด

ประชาชนจึงอยากรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งพรรคการเมืองและเป็นนายกฯคนนอกหรือไม่ ไม่ใช่แค่นักการเมืองและสื่อเท่านั้น เพราะทุกคนวิตกว่าหากบ้านเมืองตกอยู่ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” จะเป็นเมืองสวรรค์หรือเมืองนรก เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาทั้งที่รัฐบาลทหารมีอำนาจมากมายยังไม่มีผลงานอะไรที่เห็นเป็นรูปธรรม นอกจากทำให้บ้านเมืองเงียบสงบภายใต้อำนาจจากปลายกระบอกปืนและกฎหมายห่อปืน

แม้แต่การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ “ทั่นผู้นำ” อ้างว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญ โดยเฉพาะการใช้อำนาจมาตรา 44 สารพัดเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบนั้น มีความโปร่งใสจริง ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เพราะหลายครั้งทำให้เกิดปัญหามากมายแทนที่จะแก้ปัญหา อย่างกรณีล่าสุด พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ออกคำสั่งแบบครอบจักรวาลจนทำให้ธุรกิจในประเทศไทยเกือบเป็นอัมพาต สุดท้ายก็ต้องออกคำสั่งมาตรา 44 ผ่อนผันและแก้กฎระเบียบใหม่ให้รอบคอบ

เช่นเดียวกับคำสั่งมาตรา 44 รื้อถอนและเอาผิดกับบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำเพื่อจัดการนายทุนหรือพวกรุกล้ำที่สาธารณะที่เอาเปรียบสังคม แต่กลับไม่แยกแยะชุมชนที่อยู่มานานหรือชาวประมงและชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตริมทะเลตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้สองฝั่ง รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำทุกสาย สุดท้ายก็ต้องมีคำสั่งมาตรา 44 ผ่อนผันการบังคับใช้และปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมถูกต้อง

ก่อนหน้านี้ก็ใช้คำสั่งมาตรา 44 คุมเข้มการคาดเข็มขัดนิรภัยและนั่งท้ายรถกระบะ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของสังคมและผู้ใช้จนเกิดการต่อต้านไปทั่วประเทศ สุดท้ายรัฐบาลทหารก็ต้องยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไปโดยปริยาย

การใช้มาตรา 44 ที่รัฐบาลทหารกำลังถูกตั้งคำถามเรื่องธรรมาภิบาลและผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมากขณะนี้คือ โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร และโครงการรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน ซึ่งไม่ว่าคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ตอบคำถามหรือข้อสงสัยของฝ่ายต่างๆได้ชัดเจนเลย

โดยเฉพาะการใช้คำสั่งมาตรา 44 ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เขียนบทความว่า การยกเว้นกฎหมายทั้งกรณีวิศวกรและสถาปนิกจีน รวมถึงให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยกเว้นกฎหมายและระเบียบต่างๆนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ การยกเลิกก็คิดดูว่าจะมีการกิน (ทุจริต) กันขนาดไหน และยิ่งน่าสมเพชที่อ้างถึงข้อตกลงคุณธรรมตามมติ ครม. 20 มิถุนายน 2558 ซึ่งใช้กับโครงการที่มีการประกวดราคาเท่านั้น ไม่ใช่กับโครงการที่ใช้อำนาจพิเศษเละเทะเช่นนี้

นายสมหมายสรุปว่า เมื่อเอาความเละเทะไปสร้างความโปร่งใสจึงเละเทะไปหมด ซึ่งก่อนหน้านี้นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็เคยเรียกร้องให้รัฐบาลทหารและ คสช. ยกเลิกการใช้มาตรา 44 เพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เพราะถือว่าไม่มีการตรวจสอบ เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งต้องรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ควรจะใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยหรือจะเลิกใช้ เพราะการออกกฎหมายต้องมีการศึกษาก่อนว่ามีผลได้ผลเสียอย่างไร แต่การใช้มาตรา 44 เหมือนนึกอยากทำอะไรก็ทำ ไม่รอบคอบ แสดงให้เห็นถึงอันตรายในการใช้ดุลยพินิจของคนเพียงคนเดียว

เมื่อสังคมสงสัยและไม่เชื่อการใช้อำนาจต่างๆว่าถูกต้องชอบธรรมและมีธรรมาภิบาลหรือไม่ก็ต้องการคำตอบ ไม่ว่าใครจะออกมาตั้งคำถามหรือเคลื่อนไหวให้มีการตรวจสอบตามช่องทางที่มีอยู่ ซึ่ง “ทั่นผู้นำ” ก็พูดเองว่าหาก “ไม่ได้ทำอะไรผิดจะกลัวอะไร” แต่สิ่งที่ปรากฏขณะนี้คือใครที่ออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบกลับถูกข่มขู่ ตั้งข้อหา หรือถูกจับกุมคุมขัง ทั้งที่เป็นไปตามระบบราชการหรือระเบียบกฎหมาย

แม้แต่ “ทั่นผู้นำ” ยังออกอาการไม่พอใจและแดกดันพวกที่ตรวจสอบว่าเป็น “ลูกอีช่างฟ้อง” หรือเป็นพวกที่ไม่มีอะไรทำ เหมือนกรณีผู้สื่อข่าวที่ถามเรื่องโรดแม็พการเลือกตั้งซึ่งจะนำบ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่นานาชาติยอมรับ ซึ่ง “ทั่นผู้นำ” ก็ต้องหงุดหงิดต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนและเป็นที่พอใจ

ทั้งที่ทุกฝ่ายรู้ดีว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ อำนาจก็ยังจะอยู่กับกองทัพต่อไปอีกนาน เพราะบ้านเมืองยุค “พรรคคนดี 4.0” เลือกไม่เลือก..ก็ได้เรา!


You must be logged in to post a comment Login