- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
กระดิ่งผูกคอแมว
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
การปฏิรูปตำรวจดูจะเป็นวาระแห่งชาติ และการปฏิรูปเรื่องใหญ่ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการเข้าปฏิรูปประเทศของรัฐบาลทหารคสช. ที่เหลือแค่รอว่าผลของการปฏิรูปองค์กรใหญ่อย่างตำรวจจะมีข้อสรุปสุดท้ายออกมาอย่างไร เสียงปรบมือชื่นชมหรือเสียงยี้อย่างไหนจะดังกว่ากัน
หลักการปฏิรูปตำรวจที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ไว้เป็นแนวทางการทำงานกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานประกอบด้วย ให้พิจารณาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรสังกัดกับใครหรือหน่วยงานใด ให้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้กฎหมาย การสอบสวน การพิสูจน์หลักฐานเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใสน่าเชื่อถือ และการปฏิรูปบุคลากรทั้งชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย รวมไปถึงเรื่องงบประมาณที่ต้องจัดหาให้เพียงพอเพื่อไม่ให้ตำรวจใช้วิธีนอกระบบหางบใช้เอง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯจะเริ่มประชุมนัดแรกวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ และมีกำหนดจะประชุมกันสัปดาห์ละ 2 วัน ภายใต้กรอบการทำงาน 9 เดือนต้องเสร็จสิ้น
เมื่อการปฏิรูปตำรวจได้เริ่มนับหนึ่งแล้วทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพไปพร้อมๆกันด้วย
ที่ผ่านมาแม้กองทัพจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ค่อยมีข้อครหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ แต่ข้อครหาด้านอื่นๆที่กองทัพมีก็ไม่ต่างจากตำรวจเท่าไหร่นัก ยกเว้นเรื่องการซื้อขายเก้าอี้ที่ดูเหมือนกองทัพจะไม่ค่อยมีข่าวเสียเรื่องนี้ เพราะหลักการที่ใช้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายแม้จะเหมือนกันในทางทฤษฎี แต่ว่าแตกต่างกันในทางปฏิบัติ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมีปัจจัยเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่และตำแหน่งมาเกี่ยวข้องด้วย
ข้อครหาเดียวที่กองทัพมีไม่ต่างจากตำรวจคือเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณค่าหัวคิวการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถจับใครมาลงโทษได้ แต่ข่าวเรื่องค่าหัวคิวก็มักจะตีคู่มากับการจัดซื้ออยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าในสถานการณ์บ้านเมืองช่วงที่ผ่านมา และในปัจจุบันเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพไม่ได้เกิดจากเรื่องความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองของกองทัพด้วย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากองทัพใช้กำลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งแล้วสองครั้ง และทั้งสองครั้งมีข้อครหาว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร
เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพจึงเทน้ำหนักไปที่ทำอย่างไรให้กองทัพไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ขณะที่เรื่องการสร้างความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณตกไปเป็นประเด็นรอง
แม้จะมีเสียงเรียกร้องอย่างไรท่าทีของกองทัพที่แสดงผ่านผู้เกี่ยวข้อง ทั้งโฆษกรัฐบาล โฆษกกองทัพยืนยันเสียงแข็งว่าไม่จำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพ โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมากองทัพปฏิรูปตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ความหมายของการปฏิรูปกองทัพในมุมของผู้เรียกร้องกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูจะแตกต่างกัน
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าจะไม่มีการปฏิรูปกองทัพแบบเดียวกับที่ทำกับตำรวจ เพราะกองทัพมียุทธศาสตร์พัฒนาทั้งระยะสั้นระยะยาวอยู่แล้วว่าจะพัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์อย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นต้องพัฒนาด้านเทคโนโลยี
ความเห็นนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ระบุว่า ที่ผ่านมากองทัพปฏิรูปตัวเองมาตลอด ส่วนกรณีที่ไม่อยากให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองนั้น “บิ๊กป้อม”ตั้งคำถามกลับว่า
“จะให้ทำยังไง ไม่ให้ทหารยุ่งการเมือง หรือรัฐประหาร เพราะทหารก็ไม่ได้ต้องการปฏิวัติ แต่เพราะเสียงเรียกร้องของประชาชน ทหารไม่ได้ปฏิวัติ แค่มาแยก ไม่ให้ทะเลาะกัน เรื่องปฏิวัติจะไปยืนยันได้ยังไงว่าจะไม่มีอีก แต่ทหารไม่ได้อยากจะปฏิวัติ”
ชัดเจนว่ากองทัพจะไม่ปฏิรูปตัวเองตามเสียงเรียกร้องของประชาชน เมื่อกองทัพไม่คิดปฏิรูปตัวเองตามแนวทางที่ประชาชนต้องการก็มีแต่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่สามารถทำได้ แต่คำถามคือกล้าพอที่จะทำหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้งทุกรัฐบาลล้วนเอาใจกองทัพ เพราะกริ่งเกรงต่ออำนาจที่กองทัพมีอยู่ในมือ แม้รัฐบาลที่มีพรรคการเมืองซึ่งถูกมองว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกองทัพเป็นแกนนำและถูกกองทัพแย่งยึดอำนาจไปก็ยังเลือกที่จะรอมชอมกับกองทัพเมื่อตัวเองได้กลับเข้ามามีอำนาจ
You must be logged in to post a comment Login