วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กองแล้วดอง

On July 13, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังรอคอยกันมานานในที่สุดร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความปรองดองที่รัฐบาลเชิญนักการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรต่างๆ และเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนก็ได้ฤกษ์คลอดออกมาอวดโฉมให้ประชาชนได้เห็น และจะมีการนำร่างสัญญาปรองดองไปทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ร่างสัญญาประชาคมนี้ ได้รวบรวมเอาผลการศึกษาและข้อเสนอของคณะกรรมการชุดต่างๆที่เคยตั้งกันมาในอดีตมายำรวมไว้เป็นสัญญาประชาคม ประกอบด้วยผลการศึกษาด้านการปฏิรูปและการปรองดองของ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งรายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า และคู่มือสันติวิธี สถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

อะไรที่ว่าดีถูกจับมายำรวมในร่างสัญญาประชาคมนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การสร้างความสามัคคีปรองดองตามร่างสัญญาประชาคมนี้ก็ยังยึดอยู่กับหลักการที่รู้กันดีอยู่แล้ว เช่น ประชาชนทุกคนต้องสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยยึดมั่นในจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรมอันดี

ต้องยอมรับความแตกต่างทางความคิด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นภายใต้กรอบของกฎหมาย ขณะที่กระบวนการยุติธรรมต้องยึดหลักความถูกต้อง ชอบธรรม ความเสมอภาค ไม่สร้างเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองมั่นใจว่าร่างสัญญาประชาคมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความเชื่อมั่นและไว้ใจกันของคนในสังคม ที่จะพัฒนาไปสู่การมีส่วนร่วมและความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเป็นรูปธรรม ในการนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง สู่จุดหมายร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุข ด้วยบรรยากาศของการปรองดองสามัคคีกัน

ข้อเสนอต่างๆที่ปรากฏในร่างสัญญาประชาคมเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกินกว่าความคาดหมาย ทุกประเด็นเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว แต่ไม่สามารถทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง และครั้งนี้ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความพยายามสร้างความสามัคคีปรองดองในชาติประสบความสำเร็จเพียงการจัดทำข้อเสนอเป็นตัวหนังสือ แต่ไม่สามารถประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่คุมอำนาจรัฐยังไม่ได้แสดงออกมาอย่างจริงจังว่ามีความจริงใจที่จะสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำให้ประชาชนทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน

ถ้าผู้มีอำนาจไม่จริงใจ สุดท้ายร่างสัญญาปรองดองนี้ก็จะเป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึกฉบับหนึ่ง

ไม่ต่างอะไรจากวาทกรรม “เราไม่อาจทำให้คนทุกคนร่ำรวยเท่าเทียมกันได้ แต่เราสามารถทำให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันได้” ที่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งกล่าวเอาไว้ตอนขึ้นเถลิงอำนาจเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน แต่ทำไม่ได้จริง

ที่ยังแตกแยกเพราะทุกคนไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน สุดท้ายเราก็ได้เพียงข้อเสนอที่นำมา “กอง” และ “ดอง” ไว้ โดยที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


You must be logged in to post a comment Login