- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
การปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุคคสช.
เว็บไซต์ iLaw รายงานภาพรวมการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุคคสช.
การปิดกั้นและแทรกแซงการจัดกิจกรรมสาธารณะเป็นสิ่งที่ คสช. ได้ทำตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลที่ไอลอว์รวบรวมไว้จนถึงปัจจุบัน (10 กรกฎาคม2560) พบว่า มีไม่น้อยกว่า 157 ครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ โดยแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่การสั่งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมด้วยช่องทางโทรศัพท์ การเข้ามาที่สถานที่จัดงานเพื่อกดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัดกิจกรรม หรืออนุญาตให้จัด แต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขอให้เปลี่ยนวิทยากรที่เข้ามาพูดในงาน, กำหนดไม่ให้ใช้คำที่อ่อนไหวในบริบทของสังคม เช่น “เผด็จการ” และ “กบฏ” เป็นต้น และการสร้างความไม่สะดวกทางอ้อม เช่น การไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องเสียง การตัดไฟฟ้า เป็นต้น
ทหารขอให้วิทยาการงานเสวนา 3 ปีเผด็จการไทยไม่ให้พูดคำว่า คสช.,เผด็จการและรัฐประหาร
กิจกรรมสาธารณะที่ถูกจับตามองจากภาครัฐมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือ ประเด็นที่เปราะบางในเวลานั้น กรณีที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ กิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 โดยกิจกรรมเกือบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อพูดคุยถึงเนื้อหารายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ แต่อย่างไรก็ดีกิจกรรมสาธารณะเหล่านั้นถูกปิดกั้นและแทรกแซงจากรัฐไม่น้อยกว่า 20 กิจกรรม
มากไปกว่านั้นบรรดานักกิจกรรมหรือผู้จัดงานกิจกรรมเหล่านี้ยังถูกดำเนินคดีอีกด้วยดังนี้ เช่น กรณีกลุ่มนปช.ที่ถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งที่ 3/2558 จากการแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกง, สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกใบปลิวโหวตโน ที่ชุมชนเคหะบางพลี และกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่า ขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ” เป็นต้น
ผู้ต้องหาคดีเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ” อ่านแถลงการณ์ก่อนเดินทางไปพบตำรวจ สภ.ขอนแก่น
เมื่อทบทวนดูการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะต่างๆ จะเห็นได้ว่า ฐานอำนาจที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้หลักๆ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยตามหลักกฎหมายแล้วหากมีกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ออกมาบังคับใช้กฎหมายเดิมคือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จะต้องยกเลิกไป แต่สิ่งที่ปรากฏ คือ อำนาจทั้งสองยังคงถูกใช้ควบคู่กันเรื่อยมา โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้ เห็นได้ชัดเจนในกรณีของการชุมนุมคัดค้านถ่านหินที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกจากบริเวณกพร. เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอศาลแพ่งไต่สวนให้ยกเลิกการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เหตุเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ วันถัดมาเจ้าหน้าที่ทยอยจับกุมแกนนำทั้งห้า กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมในกพร. 12 คนและนักศึกษา ม.รังสิตอีก 2 คนโดยไม่มีการแจ้งข้อหาหรือชี้แจงอำนาจการจับกุม ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ทหารแถลงว่า ผู้ชุมนุมกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯจากการที่ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมนอกพื้นที่กพร. ตามที่ขออนุญาตไว้
ตำรวจจับกุม 3 แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามทบ.11
ตำรวจนำรถบัสมาพาผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินไปทำประวัติที่ศูนย์ 191 วิภาวดี
แต่พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมต่อเมื่อศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งไม่ได้เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม แล้วนำตัวไปพูดคุยในค่ายทหาร เมื่อทนายความได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารที่ ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวแกนนำ กลับได้รับแจ้งว่า เป็นการจับกุมโดยใช้อำนาจตาม ม.44 (คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558) ที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศ คสช. ได้
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดยกเว้นไม่ใช้บังคับแก่ การชุมนุมภายในสถานศึกษา การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ ซึ่งก็พบว่า มีกิจกรรมจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นการจัดการเสวนาในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกเว้น แต่ก็ยังมีการใช้อำนาจหยิบยกกฎหมายมาชนิด “เหนือข้อยกเว้น” ตัวอย่างเช่นกรณี กิจกรรม “จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน: เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย” ที่จัดภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบก็เข้ามาพุดคุยกับผู้จัด และขอให้ยกเลิก พร้อมนำเอกสารพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาให้ผู้จัดพร้อมบอกว่า อาจผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผู้จัดก็จัดงานต่อโดยนั่งที่พื้นแทน
ทั้งยังพบว่า อำนาจของรัฐได้สร้างความหวั่นไหวให้แก่สถานศึกษาอยู่ไม่น้อยเห็นได้จากกรณีงานเสวนา “ร่วมพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ” ของกลุ่มพลเมืองเสวนา citizen forum เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสั่งยกเลิกการจัดงาน เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ผู้จัดงานจึงย้ายสถานที่จัดงานจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตมาเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรืออีกกรณีหนึ่ง เวที “สามัคคี (พ.ร.บ.) ชุมนุม” เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยกเลิกการจัดเวทีดังกล่าว ทำให้ต้องเปลี่ยนไปจัดที่บ้านดาวดินแทน
นอกจากนี้รัฐยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ เข้ามาเพื่อปิดกั้นหรือรบกวนการจัดกิจกรรมด้วย เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ) ในกรณีที่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) แขวนป้ายรำลึกรัฐประหารปี 2549 และนวมทอง ไพรวัลย์ และ กิจกรรมทวงความเป็นธรรม เหตุไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินศาลอาญายกฟ้อง ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ที่ผู้จัดถูกแจ้งความกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความสะอาดฯ และถูกสั่งปรับ 5,000 บาท หรือการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ กรณีขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินรณรงค์แจกเอกสารเพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตพื้นที่และโหวตโนที่บริเวณอิมพีเรียล สำโรง
แนวโน้มกิจกรรมสาธารณะในปีที่สี่ของคสช.
จากการรวบรวมตัวเลขกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงโดยคสช. เห็นได้ว่า ในปี 2557 มีกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงทั้งหมด 39 กิจกรรม ปี 2558 มีทั้งหมด 66 กิจกรรม ปี 2559 มีทั้งหมด 37 กิจกรรม และช่วงหกเดือนแรกของปี 2560 มีทั้งหมด 13 กิจกรรม ตัวเลขของกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นนี้ อาจสะท้อนความหมายของสถานการณ์สังคมการเมืองไทยยุค คสช. ได้พอสมควร
วรวุฒิ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เคยเล่าว่า ช่วงต้นของการรัฐประหารเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างเข้มข้น เพราะต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อยที่สุด พอเข้าปี 2558 คสช. เริ่มจัดโครงสร้างและระเบียบทางการเมืองได้แล้ว จึงเริ่มปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมมากขึ้น และเข้าปี 2559 ก็ค่อนข้างผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่ท้าทาย คสช. หรือประเด็นที่แหลมคม โดยที่ผ่านมามีนักกิจกรรมไม่น้อยที่ถูกคุกคามหรือดำเนินคดี ซึ่งลักษณะดังกล่าวยังผลให้กลุ่มคนที่ทำกิจกรรมคัดค้านการปกครองของ คสช. ค่อยๆ ลดน้อยลงไปพร้อมกับความหวังของการเปลี่ยนแปลงสังคม
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเครื่องมืออีกหลายประเภทที่ คสช. นำมาใช้จำกัดการแสดงออกและการทำกิจกรรมของประชาชน ไม่ว่าจะการคุมขังตามอำเภอใจไว้ในค่ายทหาร, การเรียกรายงานตัว, การเข้าหาผู้ปกครองหรือสมาชิกในครอบครัว และติดตามตัวที่บ้าน เป็นต้น สำหรับวิธีการเก็บข้อมูลการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมของ คสช. ไอลอว์เก็บรวบรวมข้อมูลจากข่าวกระแสหลักและข้อมูลที่แพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนข้อมูลเท่าที่เราสามารถบันทึกและเข้าถึงได้เท่านั้น อาจมีกิจกรรมอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงที่ยังไม่ถูกบันทึกข้อมูลไว้
You must be logged in to post a comment Login