วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จีนบนเส้นทางสายไหม / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On July 17, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ช่วงตอนนี้เข้าใจว่าคงไม่มีอะไรดีกว่าที่จะเขียนถึงมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในบริบทเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์นะครับ ในการพัฒนารูปลักษณ์ของเศรษฐกิจและสังคมในทรรศนะของมาร์กซิสต์ถือว่าคือกระบวนการพัฒนาทางธรรมชาติประการหนึ่ง ผมว่ามีแง่มุมต่างๆที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้ายิ่งนัก โดยเฉพาะเส้นทางการค้าที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหม”

สิ่งแรกที่ควรรู้จักเห็นจะได้แก่ การเป็นเส้นทางด้านวัฒนธรรมและการสืบสานแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม คุณค่าด้านนี้ต่างหากที่เป็นคุณค่าด้านหลัก เป็นคุณค่าที่อยู่เหนือปริมาณของสินค้าที่ถูกขนส่งผ่านไปบนเส้นทางนี้ที่เชื่อมโยงตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน

เส้นทางสายไหมหมายถึงเส้นทางทางบกทั้งหมดนอกประเทศจีนที่นำไปสู่ตะวันตก ถ้ากล่าวโดยความจริงแล้วเส้นทางสายไหมคือเส้นทางที่ใช้เดินทางน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มันอาจไม่มีคุณค่าอะไรเลยหากเราจะเอาจำนวนสิ่งของที่ใช้ขนส่งอย่างเดียวมาวัดถึงความสำคัญ

แต่หากจะมองในแง่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความเจริญทางด้านวิทยาการต่างๆย่อมกลายเป็นอีกคำตอบต่างหากที่น่าสนใจ

โดยข้อเท็จจริงแล้วประเทศคู่ค้าของจีนซึ่งเกี่ยวกับเส้นทางสายไหมนั้นไม่ใช่โรมันอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน แต่หมายถึงถนนสู่ซามาร์คันด์ ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศอุซเบกิสถานนั่นเอง

เส้นทางสายไหมนั้นโดยความจริงมีเส้นแบ่งที่ไม่แน่นอน คดเคี้ยวเลี้ยวลดไปมาตลอดเส้นทาง เป็นไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นทะเลทรายและแหล่งโอเอซิสของภูมิศาสตร์

เมื่อเอ่ยถึงเส้นทางสายไหมแล้ว สำหรับประเด็นแรกที่ต้องเอ่ยถึงเห็นจะเป็นแนวคิดของกษัตริย์ในสมัยราชวงศ์ถังที่ใช้เรื่องการทหารและเศรษฐศาสตร์เข้ามาหล่อหลอมจนเป็นเนื้อเดียวกัน คือราชวงศ์ถังซึ่งเป็นคู่ปรับแย่งชิงอำนาจกับพวกเติร์กในเอเชียกลางได้ใช้วิธีสร้างกองทหารรับจ้างขึ้นมาในดินแดนเอเชียกลาง ซึ่งศัตรูคู่ปรับของจีนมีอิทธิพลอยู่ในดินแดนแถบนั้น

ในมุมมองนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจมาก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและลีลาแห่งความเป็นมังกรของชาติจีนว่าไม่ใช่ธรรมดากันเลยทีเดียว!

เรื่องราวที่ว่าน่าสนใจมากก็คือมุมมองของผู้ปกครองในราชสำนักจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังที่ใช้วิธีคิดในยุทธศาสตร์การทหารเอามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองของตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง เป็นไปอย่างสอดคล้องแนบเนียนและคาดหมายไม่ถึงในทำนองเป็นการมองแบบมังกรใช้สายตา 20 ชั้น

ราชวงศ์ถังได้ว่าจ้างทหารรับจ้างจากชนเผ่าต่างๆให้เข้ามาประจำการอยู่ในกองทัพ โดยราชสำนักของราชวงศ์ถังได้ใช้โภคทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ประการ ไปเป็นค่าจ้างของบรรดาทหารรับจ้างทั้งหลาย  เริ่มต้นนั้นก็จ่ายให้เป็นเหรียญทองแดง ต่อมาเหรียญทองแดงขาดแคลนจึงเปลี่ยนมาจ่ายเป็นสินค้าจำพวกเมล็ดธัญพืช แต่พบว่าเมล็ดธัญพืชเน่าเสียได้ง่าย ด้วยเหตุเช่นนี้ในที่สุดจึงจ่ายเป็นผ้าไหม ซึ่งได้รับความพึงพอใจมากที่สุดในท่ามกลางผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

เหตุเช่นนี้เองทหารรับจ้างในกองทัพจีนจึงได้เอาผ้าไหมมาเป็นโภคทรัพย์ในการใช้จ่าย ผ้าไหมจีนจึงกลายเป็นโภคทรัพย์ในการใช้จ่ายและได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในชุมชนทางการค้าของตลาดเส้นทางสายไหม

ผ้าไหมจึงเกิดเป็นอิทธิพลทางการค้าขึ้นมาด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง!!

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การใช้โภคทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดในจำนวน 3 อย่าง จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าผ้าไหมคือโภคทรัพย์ที่ดีที่สุดในการจ่ายให้เป็นค่าแรงของบรรดาทหารรับจ้างทั้งหลาย

บ่อยครั้งที่ทหารรับจ้างของจีนแปลงบทบาทตนเองกลายไปเป็นพ่อค้าขายผ้าไหม ในยามที่รีบด่วนต้องการใช้เงินจึงเอาผ้าไหมที่ได้รับเป็นค่าแรงหรือค่าจ้างนั้นออกจำหน่ายให้แก่บรรดาพ่อค้าทั้งหลาย นี่คือหลักในการค้าขายกันในชุมชนเส้นทางสายไหมนั่นเอง

กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ได้เกิดตลาดผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นในชุมชนตรงเอเชียกลาง ตลาดใหญ่ที่สุดนั้นเรียกว่าแคว้นซอกเตีย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน

สาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดชุมชนบนเส้นทางสายไหมจากมุมมอง วิธีคิดที่เป็นบริบทในมิติเศรษฐศาสตร์ เราอาจสรุปออกมาดังนี้คือ จีนใช้แนวคิดหรือยุทธศาสตร์ทางการค้าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตัวเองจนเกิดเป็นตลาดนานาชาติขนาดใหญ่มากในเอเชียกลาง กลายเป็นชุมชนเส้นทางสายไหมไปในท้ายที่สุด

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าจีนเข้าใจทั้งการค้าและการตลาดมายาวนานแล้วและเป็นไปอย่างยาวนาน และชาวจีนยังมีความเข้าใจถึงอิทธิพลของทุนพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับการสะสมทุนก่อนที่คาร์ล มาร์กซ์ จะเขียน descapital จบด้วยซ้ำไป!

นี่ละครับจีนแผ่นดินใหญ่ ยังมีอะไรให้เราค้นหาอีกมากมาย


You must be logged in to post a comment Login