- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
กองทัพปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ “ปฏิรูปตำรวจ” ก็มีเสียงเรียกร้องให้ “ปฏิรูปกองทัพ” ไปพร้อมๆกันด้วย ทั้งที่รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เหมือนอย่างที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์แฟนเพจว่า อย่าปฏิรูปเฉพาะตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว เมื่อให้ทหารเป็นหัวแถวการปฏิรูปตำรวจก็ควรจะให้ตำรวจเป็นหัวแถวในการปฏิรูปทหารเช่นกัน
นายจตุพรกล่าวว่า ไม่ใช่การประชดประชัน แต่เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าทุกองค์กรในประเทศไทยมีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะตำรวจเพียงองค์กรเดียว ทหาร ข้าราชการ พรรคการเมือง หน่วยงานต่างๆ แม้กระทั่งภาคประชาชน เราก็ต้องปฏิรูปทั้งนั้น เวลานี้สิ่งที่แต่ละฝ่ายพยายามจะพูดกันดูเหมือนประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะหน่วยงานเดียวเท่านั้นคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตนมองว่าเรื่องคนดีคนไม่ดีมีทุกองค์กร และบางหน่วยงานแตะต้องไม่ได้
นายจตุพรยังเห็นว่าปัจจุบันตำรวจอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารอยู่แล้ว ซึ่งในแต่ละส่วนงานก็มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ในทางปฏิบัติกันอยู่แล้ว ถ้าหากจะแก้ไข ปฏิรูปตำรวจในทุกมิติ สิ่งหนึ่งที่คนไทยอยากจะเห็นก็คือ เราจะได้หน่วยงานที่มีธรรมาภิบาลที่ดีและถูกต้อง ตำรวจได้รับการปฏิรูปเพียงองค์กรเดียวก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไร ทหารควรเปิดกว้างเช่นเดียวกัน เมื่อกล้าที่จะปฏิรูปตำรวจก็ควรจัดให้มีการปฏิรูปทหารเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าทหารก็มีปัญหา ทหารก็มีคนดีและคนไม่ดีเหมือนกับทุกหน่วยงาน ตนอยากเห็นการปฏิรูปทหาร ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปทุกหน่วยงานราชการ
คสช. ไม่ได้รัฐประหาร…แค่มาแยก!
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพด้วย ไม่ใช่แค่ปฏิรูปตำรวจว่า กองทัพมีการปฏิรูปมาตลอด
ส่วนที่ไม่ให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือรัฐประหารนั้น พล.อ.ประวิตรยืนยันว่า ไม่ได้อยากจะเกี่ยว แต่จะให้ทำยังไง ทหารไม่มีเจตนาจะปฏิวัติ ทหารไม่ได้ต้องการปฏิวัติ แต่เพราะเสียงเรียกร้องของประชาชน ทหารไม่ได้ปฏิวัติ ทหารสมัยนี้ไม่ได้อยากปฏิวัติแล้วนะ
“อย่างคราวนี้ที่ทำก็ไม่ได้รัฐประหารนะ แค่มาแยกไม่ให้ทะเลาะกัน” พล.อ.ประวิตรยังตอบที่ว่าทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองว่า เดี๋ยวก็เลิกแล้วพอมีเลือกตั้ง และเมื่อถามว่าจะพูดได้หรือไม่ว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะไปพูดได้ยังไงว่าจะไม่มีอีก แต่ทหารไม่ได้อยากจะปฏิวัติ มันแล้วแต่สถานการณ์
ทหารมีแผนพัฒนาระยะยาว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพว่า การปฏิรูปกองทัพไม่ใช่แบบเดียวกับการปฏิรูปตำรวจ แต่ต้องใช้คำว่า “การพัฒนากองทัพ” เพราะกองทัพมียุทธศาสตร์อยู่แล้ว ทั้งยุทธศาสตร์ 10-15 ปีว่าจะพัฒนาคนและอุปกรณ์อย่างไร ซึ่งวันนี้มีความจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหมด ต้องมีแผนพัฒนาในระยะยาว และอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน อาวุธยุทโธปกรณ์วันหน้าอาจลดจำนวนให้น้อยลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งกล้องอุปกรณ์การยิงระยะไกล โดยไม่ต้องมาเสียเวลาซ่อม นอกจากนี้ยังต้องมองเรื่องการผลิตเอง
ส่วนที่หลายคนมองว่าตำแหน่งนายพลมีจำนวนมากนั้นก็จะเอามาทำงานให้ถูกต้อง ให้อยู่ในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพราะรัฐบาลจะเพิ่มบทบาท กอ.รมน. ให้มากขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าฯมีลูกมือทั้งตำรวจ ทหาร อยู่ใน กอ.รมน.จังหวัด เพื่อทำงานด้านความมั่นคง ยุติความขัดแย้งในพื้นที่
ส่วนการลดกำลังพลที่ผ่านมาก็ได้ทยอยลดลงตามลำดับปีละ 5-10% ตามสถานการณ์ ไม่ใช่อยู่ดีๆจะปลดออกหมด ต้องคำนึงถึงบุคลากรที่กำลังจะเติบโตด้วย หากตอนนี้บริหารบุคลากรตามภารกิจเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันย่อมดีกว่าให้อยู่เฉยๆโดยไม่มีอะไรทำ วันนี้มีการจัดคณะทำงานหลายด้าน และยังต้องดูสายงานที่เกี่ยวกับการติดตามสอบสวนเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ตนรับมาเพื่อที่จะปรับปรุง
ทหารไม่กลับกรมกอง
คำตอบของ “2 ผู้นำ คสช.” เท่ากับยืนยันว่าการปฏิรูปกองทัพทำอยู่ตลอดเวลา และยังจะเพิ่มบทบาทกองทัพไปช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลด้านความมั่นคงมากขึ้นอีกด้วย บทบาทของกองทัพจึงยิ่งต้องจับตามอง เพราะยังมีบทบาทอย่างต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง โดยมี “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เพื่อควบคุมการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติหากไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเป็นคนที่กองทัพไว้ใจ นอกจากนี้ยังมี ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. มาควบคุมไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออกนอกกรอบที่กองทัพสร้างขึ้นอีกด้วย จึงเชื่อได้ว่ากองทัพยังไม่ได้กลับกรมกองและยังทำงานการเมืองไปอีกนานภายใต้ระบอบประชาธิปไตย 99.99% แบบไทยๆ
จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประวิตรจะไม่ยืนยันว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่ว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แน่นอนว่านักการเมืองหรือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็จะเป็น “คนเลว คนไม่ดี” ที่ทำให้บ้านเมืองวิกฤตจนกองทัพต้องทำรัฐประหาร
เช่นเดียวกับที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ “โฆษกไก่อู” ตอบโต้นายจตุพรว่า “ทุกวันนี้กองทัพมีการปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว ต้องย้อนถามนักการเมืองเช่นกันว่า การที่กองทัพต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในครั้งนี้เพราะความไม่สงบเรียบร้อยที่นักการเมืองก่อเอาไว้ ส่งผลให้กองทัพมีความจำเป็นต้องเข้ามาหรือไม่ ถ้าหากบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย และปรกติสุข ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ฆ่าฟันกันทั้งเมือง ทหารจะเข้ามาทำไม”
คำชี้แจงโต้ตอบของ พล.ท.สรรเสริญทำให้ต้องย้อนคำนึงกลับไปถึงการทำรัฐประหาร 13 ครั้งของประเทศไทย ไม่ว่าเพราะนักการเมืองเลวหรือการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ในกองทัพหรือกลุ่มอำนาจใดก็ตาม ล้วนแต่ทำให้ประเทศชาติยิ่งถอยหลัง ขณะที่ผู้สูญเสียล้มตายมากที่สุดคือประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง แต่กลับถูกปล้นอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่าและยังถูกเหยียดหยามว่า “โง่-จน-เจ็บ” ยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงอารยประเทศ ซึ่งถือว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพและสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีการรัฐประหารก็ต้องมีการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปกองทัพ” เพราะความสงบสุขและความมั่นคงของบ้านเมืองเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของสังคมซึ่งต้องปฏิรูปตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือนักการเมือง ไม่ใช่บ้านเมืองมีปัญหาเฉพาะตำรวจหรือนักการเมืองจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่นักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการตั้งตนเองด้วยการยึดอำนาจมานั้นอาจยิ่งน่ากลัวกว่าก็ได้
ลดอำนาจและบทบาทกองทัพ
แท้จริงแล้วประชาชนไม่ได้แค่เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจเท่านั้น แต่ต้องการให้ปฏิรูประบบราชการและปฏิรูปกองทัพเช่นกัน โดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) บอกว่า ไม่หนักใจกับการปฏิรูปตำรวจเพราะไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งนักวิชาการก็มองว่าการปฏิรูปกองทัพไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน หากทุกฝ่ายต้องการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เพียงแต่ทำให้กองทัพกลับเข้ากรมกองไม่เข้ามาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อไม่มีอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง กองทัพก็จะเป็นกองทัพของประชาชนที่ดูแลด้านความมั่นคงอย่างแท้จริง
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ที่เคยตั้งคำถามว่า “มีทหารไว้ทำไม” ได้เขียนบทความ “ปฏิรูปกองทัพ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” (มติชนสุดสัปดาห์ 25 กรกฎาคม 2559) โดยกล่าวว่า ให้กองทัพออกจากการเมืองที่เป็นทางการนั้นง่าย หลังปี 2535-2549 ต้องทำให้กองทัพยกเลิกอภิสิทธิ์เชิงสถาบันหลายอย่างที่ครอบครองมานาน อย่าง กอ.รมน. มีอำนาจแค่ไหน และจะมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายพลเรือนอย่างไร มีอำนาจไหนในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก กองทัพต้องกลับมาอยู่ในกลไกปรกติภายใต้รัฐบาลพลเรือน อย่างอินโดนีเซียที่กองทัพมีปัญหามายาวนานนั้น ไม่ได้แค่จัดโครงสร้างให้เหมาะสมกับภาวะโลกปัจจุบันและแยกออกจากการเมืองเท่านั้น แต่ยังทำให้กองทัพ “รบเป็น” ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าอินโดนีเซียจะปฏิรูปกองทัพให้หลุดพ้นจากการเมืองและผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้มากมายที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ขณะที่กองทัพไทยมีรายได้ส่วนใหญ่จากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองของไทยต้องการคุมกองทัพเพื่อมาเป็นกลไกทางการเมืองส่วนตัวของตนเอง หรือยอมจำนนศิโรราบแก่กองทัพหวังว่ากองทัพจะปล่อยให้มีอำนาจต่อไป
นายนิธิตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เราจะปฏิรูปกองทัพอย่างไรเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางเงื่อนไขใหม่ๆที่เกิดขึ้นในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ยิ่งมีอำนาจยิ่งต้องโปร่งใส
นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิเคราะห์ข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพว่า การชูประเด็นและข้อเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ถ้าลองย้อนกลับไปเราจะเห็นข้อเสนอในยุคของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ความพยายามเหล่านี้จะประสบความสำเร็จบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จบ้างก็ตาม แต่ในอนาคตข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพจะเป็นประเด็นใหม่แน่ๆ เห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้รัฐบาลทหารพยายามเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมปฏิรูปตนเอง แต่อย่างหนึ่งที่รัฐบาลทหารไม่พูดถึงเลยก็คือการปฏิรูปกองทัพ เพราะฉะนั้นข้อเรียกร้องดังกล่าวน่าจะมีคนเสนอออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นายสุรชาติกล่าวว่า ถ้ามองการเมืองระยะยาวแล้ว ข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพจะต้องถูกเสนอผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่สถานการณ์เฉพาะหน้าเรายังตอบไม่ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไรและใครจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในอนาคตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีนโยบายในการปฏิรูปกองทัพและทหารจริงจังหรือไม่ ถึงตรงนี้คาดเดาไม่ได้เลย คงต้องประเมินกันอีกที
นายสุรชาติยังกล่าวถึงการจะปฏิรูปกองทัพ (11 พฤศจิกายน 2015) ว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์โดยมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงรองรับ ต้องเป็นการซื้อที่เกิดจากความต้องการทางยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองโจทย์ความมั่นคงของประเทศในอนาคต ไม่ใช่สนองกระเป๋าของใครในปัจจุบัน โดยยกรายงาน “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ที่ระบุถึงคำสัมภาษณ์ของอดีตผู้บริหารสำนักงบประมาณที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับงบกระทรวงกลาโหมว่า
“เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบได้ แม้แต่ สตง. ก็เถอะ ดังนั้น จึงมีการทุจริตสูง ถ้ามีกระบวนการกลั่นกรองการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพที่โปร่งใสโดยเฉพาะ เราดูในแง่ของอาวุธว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ได้ดูเพื่อเปิดเผยความลับของประเทศ แต่ควรมีแผนป้องกันประเทศที่กำหนดไว้ชัดเจนกว่านี้ว่าจะทำอะไร ไม่ต้องบอกเราหรอกว่าจะต้องมีจำนวนอาวุธเท่าไร เพื่อให้เรารู้กรอบวงเงินคร่าวๆในการจัดซื้ออาวุธแล้วซอยมาเป็นงบแต่ละปี แล้วตอบคำถามให้ได้ว่าเมื่อได้มาแล้วจะมีไว้เพื่ออะไร”
3 ปีกระหน่ำซื้ออาวุธ-งบกระฉูด
ประเด็นความโปร่งใสสอดรับกับคำถามมากมายที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารขณะนี้ นับตั้งแต่กองทัพเข้าไปดำเนินการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กว่า 70,000 ล้านบาทช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิ ซื้อเรือดำน้ำจากจีนมูลค่า 36,000 ล้านบาท ซื้อรถถังแบบ VT-4 จากจีน 2 ครั้ง จำนวน 38 คัน วงเงิน 7,002 ล้านบาท (28 คัน 4,985 ล้านบาท ปี 2559 และ 10 คัน 2,017 ล้านบาท ปี 2560) ซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางแบบ VN1 จากจีน จำนวน 34 คัน 2,300 ล้านบาท ซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียงรุ่น Mi-17V5 จำนวน 6 ลำ 5,083 ล้านบาท ซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์กจำนวน 4 ลำ 3,000 ล้านบาท กองทัพเรือสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งหรือ OPV (Off-shore Patrol Vessel) จำนวน 1 ลำ 5,482 ล้านบาท และล่าสุดการอนุมัติซื้อเครื่องบินฝึกขับไล่ T-50TH จำนวน 8 ลำ 8,800 ล้านบาท
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีปัญหา ประเทศขาดแคลนงบประมาณ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และชาวสวนยางภาคใต้ประกาศจะออกมาขับไล่รัฐบาลหากไม่ช่วยเหลือ ขณะที่ “ทั่นผู้นำ” ก็แก้ปัญหาแบบพูดง่ายทำยาก แนะนำให้ปลูกพืชชนิดอื่นหรือประกอบอาชีพอื่นแทน ซึ่งสวนทางกับงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่สูงขึ้นมาตลอด คือปี 2558 จำนวน 190,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาทปี 2559 ขยับเป็น 210,000 ล้านบาทปี 2560 และล่าสุดปี 2561 เพิ่มเป็น 222,000 ล้านบาท
ประเด็นร้อนและเต็มไปด้วยข้อครหาอย่างมากขณะนี้คือ การใช้อำนาจมาตรา 44 ปลดล็อกไม่บังคับตามกฎหมายและระเบียบต่างๆเพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 179,412 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเหมือนไปตายเอาดาบหน้า เพราะมีแต่เจ๊งกับเจ๊งหรือไม่? จนถึงวันนี้รัฐบาลทหารก็ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆออกมา นอกจากคำยืนยันของ “ทั่นผู้นำ” ว่าทุกอย่างเป็นประโยชน์เต็มที่ต่อประเทศ และทุกอย่างโปร่งใสภายใต้ “สัญญาคุณธรรม” ระหว่างไทยกับจีน
จาก “ภารกิจซื้ออาวุธ” สู่ “ภารกิจรัก”
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจแต่กลับมีคำถามว่าทำไมไม่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพด้วยนั้น เหมือนโศกนาฏกรรมของสังคมไทยที่ต้องจมปลักกับการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า แตกต่างสิ้นเชิงกับละครโทรทัศน์ซีรี่ส์ชุด “ภารกิจรัก” ซึ่งออกอากาศทางช่องหลายสีอยู่ขณะนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อให้ประชาชนเห็นถึงบทบาทและภาระหน้าที่ของตำรวจและทหารที่เต็มไปด้วยความเสียสละเพื่อบ้านเมืองและประชาชน แต่ก็เป็นการยัดเยียดเสมือนการโฆษณาชวนเชื่อในละครแบบรัฐนาฏกรรมแบบไทย ซึ่ง “ทั่นผู้นำ” เองก็ชี้แนะและอยากเห็นละครแบบนี้ตั้งแต่ซีรี่ส์บิ๊กบอสเกาหลีมาถึงซีรี่ส์ “ภารกิจรัก” กองทัพไทย
นายนิธิตั้งข้อสังเกตว่า “นาฏกรรมอาจมีผลต่อชีวิตมากกว่าที่เราคิด ละครเป็นสื่อที่มีพลังสูงมาก สารที่ละครดีๆส่งให้แก่ผู้ชมอาจมีผลเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตของผู้ชมเอง เข้าโรงละครเป็นคนหนึ่ง ออกจากโรงละครเป็นอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นละครดีขนาดไหนก็ตาม ตราบเท่าที่ละครยังส่งสารอันเดิม ละครนั้นย่อมไม่มีผลเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตของผู้ชมซึ่งรับสารนั้นมาอย่างซึมซับแนบแน่นแล้ว”
การปฏิรูปกองทัพเพื่อให้กองทัพเป็น “ทหารอาชีพ” อย่างอารยประเทศจึงไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ในยุคที่รัฐบาลทหารและกองทัพยังมีอำนาจแทบทุกตารางนิ้ว ซึ่งซามูเอล ฮันติงตัน นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพล กล่าวไว้ว่า “ความเป็นทหารอาชีพจะไม่ทำให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะทหารในสังคมสมัยใหม่นั้นเป็นนักเทคนิคในการบริหารจัดการความรุนแรงของรัฐ ซึ่งต่างจากทหารเมื่อ 200 ปีที่แล้วที่เป็นนักรบรับจ้างหรือทหารของพระราชา”
ในขณะที่ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความการเมืองเรื่อง “ชายบนหลังม้า” มองอีกมุมว่า
“วิธีคิดของฮันติงตันวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า “ความเป็นทหารอาชีพ” นั้นมีอยู่แบบเดียวคือ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือเป็นกลางทางการเมือง ทั้งที่บ่อยครั้งความเป็นทหารอาชีพต่างหากที่ผลักดันให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเขาจะเชื่อว่าเขาเป็นข้ารับใช้ประเทศชาติและองค์อธิปัตย์มากกว่ารัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่”
การปฏิรูปกองทัพโดยประชาชนจึงเป็นไปไม่ได้ “โฆษกไก่อู” ก็ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุกวันนี้กองทัพมีการปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว”
“ทหารอาชีพ (จริงๆ)” ในระบอบพิสดารจึงอาจมีได้เพียงแค่ในหนังในละครเท่านั้น!!??
You must be logged in to post a comment Login