วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“วิบากกรรม” นายกรัฐมนตรีไทย “

On July 20, 2017

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เว็บไซต์ thaipublica เผยแพร่บทความชื่อ “วิบากกรรมนายกรัฐมนตรีไทย “ทักษิณ-สุรยุทธ์-สมัคร-สมชาย-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์”(20 กรกฏาคม 2560) ดังนี้”

นับถอยหลังเข้ามาทุกขณะสำหรับ “ตอนจบ” ของคดีปล่อยปละและไม่ระงับยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้เกิดความเสียหาย ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานปากสุดท้ายในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ จากนั้นอีกไม่นานผลของคำพิพากษาก็จะปรากฏ

ขณะเดียวกัน กระบวนการให้ชดใช้สินไหมทดแทนจากความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทยังคงเดินหน้าต่อไป

นี่เป็นชะตากรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้นี้

ยังไม่นับรวมข้อกล่าวหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกหลายคดี ไม่ว่าจะเป็น คดีการประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปี 2556 โดยมิชอบ ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในเขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต โดยอาศัย อำนาจตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ซึ่งผลของการประกาศดังกล่าวยังทำให้รัฐเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 175 ล้านบาท

คดีเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 350,000 ล้านบาท โดยมิชอบ และไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน อีกทั้งสามารถนำงบประมาณไป ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 169

คดีอนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียง รายการ “มวยไทยวอริเออร์ส” ซึ่งจัดที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า โดยมีเจตนาแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชาย และมีเนื้อหาบางส่วนที่มีลักษณะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คดีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2548-2553 โดยมิชอบ จำนวน 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาท อันเป็นการออกระเบียบและกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ เพื่อที่จะใช้บังคับกับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งการออกมติดังกล่าวยังไม่มีกฎหมาย กฎกระทรวง หรือหลักเกณฑ์มาตรฐานรองรับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนผลประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นหลัก

คดีบริหารงานกักเก็บและระบายน้ำผิดพลาดในช่วงปี 2553-2554 จนเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ของไทยในปี 2554 คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งคดีนี้ ป.ป.ช. ไต่สวนคู่ขนานไปกับคดีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย

คดีแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ประจำปี 2555 โดยให้ พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พลเอก พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อต้องการให้ พลเอก ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมโดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมาย

คดีส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวนราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ จนเป็นมูลเหตุให้มีการทุจริตกันหลายโครงการ และเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนเป็นอย่างมาก

คดีละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปราศรัยรุนแรง-แบ่งแยกประเทศ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจสั่งยับยั้งและสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการได้ แต่กลับไม่ดำเนินการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงใดๆ กับ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น กับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ร่วมกันจัดเวทีปราศรัยที่จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้ชื่อว่า “นปช. ลั่นกลองรบ” ได้กล่าวปราศรัยในลักษณะยุยงให้ใช้ความรุนแรง ให้จัดตั้งกองกำลังของกลุ่มคนเสื้อแดง ข่มขู่องค์กรอิสระ ศาล ยุยงให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และให้มีการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทยออกเป็นสองส่วน

คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยข้อกล่าวหาระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จนต้องพ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี

คดีอนุมัติออกร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … หรือโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คดีร่ำรวยผิดปกติ ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 5 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าว โดยได้ยกเหตุอันควรสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ สืบเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว

นี่คือชะตากรรมของนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย

ไม่ใช่เพียงเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีเพียงรายเดียวเท่านั้น ที่จะต้องเผชิญกับคดีความหลังพ้นจากตำแหน่ง เพราะหากย้อนกลับกว่าหนึ่งทศวรรษจะพบว่า อดีตนายกรัฐมนตรีจำนวนอีก 5 คน ล้วนแล้วแต่เคยตกเป็น “จำเลย” และ “ผู้ถูกกล่าวหา” ทั้งหมด

นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 23

คดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา ร่วมกันเป็นจำเลย โดยนายทักษิณ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ส่วนคุณหญิงพจมาน มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด กรณีคุณหญิงพจมานซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษกจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ดินที่ต่ำกว่าราคาประเมิน

โดยศาลยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และมีคำพิพากษาให้จำคุกนายทักษิณเป็นเวลา 2 ปี พร้อมออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ภายหลังจากหนีออกนอกประเทศ

คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว หรือคดีหวยบนดิน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ยื่นฟ้องนายทักษิณ คณะรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คนเป็นจำเลย และคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 เพื่อติดตามตัวนายทักษิณมาพิจารณาคดีนัดแรก

คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือ ชินคอร์ ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว โดยคดีนี้ คตส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับนายทักษิณ เมื่อ 16 กันยายน 2551 เนื่องจากนายทักษิณหลบหนีคดี เพื่อติดตามตัวมาฟังการพิจารณาของศาลนัดแรก

คดีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 100, 122 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 เพื่อติดตามตัวมาพิจารณาคดีนัดแรก

คดีธนาคารกรุงไทย อนุมัติเงินกู้ให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ซึ่งเป็นการอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL โดยคดีนี้ คตส. ได้ชี้มูลความผิดนายทักษิณกับพวก ทั้งนี้ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ออกหมายจับติดตามตัว นายทักษิณมาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว

คดีร่ำรวยผิดปกติ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นคดีแพ่ง และคดีนี้ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. และมีข้อสรุปออกมาว่าให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์นายทักษิณตกเป็นของแผ่นดิน โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์จำนวน 46,373,687,454.70 บาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 จากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปและผลประโยชน์ทับซ้อนหลายกรณีในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คดีหมิ่นประมาทกองทัพบก กรณีที่ให้สัมภาษณ์ใส่ความโจทก์ที่ประเทศเกาหลีใต้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าเป็นบุคคลน่ารังเกียจ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และเป็นบุคคลที่ทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งการกระทำนั้นส่งผลให้กองทัพบกในฐานะโจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ศาลอาญาได้นัดสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานในคดี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่จำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีคดี ศาลจึงออกหมายจับหนีศาล พร้อมกับสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว

ถูกถอดยศ ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ถอดยศ “พันตำรวจโท” ของนายทักษิณ ในวันที่ 5 กันยายน 2558 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอ เนื่องจากมีความผิดปรากฏตามคำพิพากษาศาลถึงที่สุด และยังมีข้อหาความผิดอาญาอื่นๆ อีกหลายฐาน

พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 24

ครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เขายายเที่ยง ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จากการครอบครองที่ดินจำนวน 21 ไร่ ในพื้นที่เขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว เพราะขาดเจตนา เนื่องจากมีการซื้อที่ดินต่อจากนายเบ้า สินนอก และบุตรเขย ซึ่งได้รับสิทธิ์การครอบครองเพื่อทำการเกษตร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2518 แต่นายเบ้าไม่ได้รับกรรมสิทธิ์จึงไม่มีอำนาจซื้อ-ขาย คดีจึงสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม อัยการจังหวัดสีคิ้วได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ดำเนินการเรียกคืนที่ดินดังกล่าว พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้ว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี คนที่ 25

คดีการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงที่ราคาสูงเกินจริงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) คดีนี้เกิดขึ้นในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรักษาการผู้ว่าฯ กทม. และได้ลงนามจัดซื้อในปี 2547 โดยคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ป.อาญา ในปี 2551 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาลของนายสมัคร ต่อมาในปี 2552 นายสมัครได้ถึงแก่อนิจกรรม หลังจากนั้นคดีไปอยู่ในชั้นของอัยการนานถึง 2 ปี ทำให้ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการส่งฟ้องจำเลยที่เหลืออยู่ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง ซึ่งถือเป็นคดีแรกของ ป.ป.ช. ที่ตั้งทนายฟ้องเอง

ขณะเดียวกัน กทม. ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภริยาของนายสมัคร และทายาทโดยมรดกของนายสมัคร ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว โดยศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ทายาทซึ่งเป็นผู้รับมรดกชดใช้เงินค่าเสียหาย ร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมด หรือ 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 26

คดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คดีนี้ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ป.อาญา และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 กรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยมิชอบและไม่เป็นไปตามหลักสากล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งนายสมชายได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 สิงหาคมนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คนที่ 27

คดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 คดีนี้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต ผอ.ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และ 84 กรณีสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยทหารต่างๆ ใช้อาวุธปืนชนิดร้ายแรง ปฏิบัติการผลักดัน ควบคุมพื้นที่ เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตามคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตายและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยศาลอาญายกฟ้องเนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ เพราะไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ให้ข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวตกไป

คดีบริหารงานกักเก็บและระบายน้ำผิดพลาด ในช่วงปี 2553-2554 จนเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ของไทยในปี 2554 คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งคดีนี้ ป.ป.ช. ไต่สวนคู่ขนานไปกับคดีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย

คดีแทรกแซงตลาดข้าวโดยวิธีประกันราคาข้าวเมื่อปี 2552/53 กล่าวหานายอภิสิทธิ์กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดข้าว โดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือก (ดำเนินมาตรการข้าวปี 2552/53) โดยการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป หรือดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2552/53 ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน

คดีขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี กล่าวหาคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ทั้งคณะ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับบริษัทที่ไม่ใช่ผู้แทนรัฐบาลจากต่างประเทศในการเจรจาและมิใช่ผู้ลงนามในสัญญาในนามของรัฐบาลจีนแต่อย่างใดจึงไม่ใช่การซื้อขายแบบจีทูจี แต่เป็นการกระทำที่กล่าวอ้างการดำเนินการซื้อขายแบบจีทูจี เพื่อเข้าทำสัญญากับรัฐ โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อนำแป้งมันสำปะหลังตามสัญญาให้แก่ผู้ประกอบกิจการมันสำปะหลังในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.

คำสั่งปลดออกจากราชการ กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้นายอภิสิทธิ์ออกจากราชการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 โดยในคำสั่งระบุว่า นายอภิสิทธิ์เป็นบุคคลที่ไม่ผ่านการรับราชการทหารกองประจำการ ไม่ผ่านการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ โดยไม่ได้รับการผ่อนผันตามกฎหมาย ไม่มีเอกสารใบสำคัญทางทหาร หรือเอกสารการผ่อนผันที่ถูกต้องตามกฎหมายประกอบการบรรจุและแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตร ได้ปกปิดข้อความอันเป็นจริง ดังนั้น คำสั่งให้แต่งตั้งนายอภิสิทธิ์ รับราชการกลาโหม พลเรือนชั้นสัญญาบัตรเป็นนายทหารสัญญาบัตรมียศ ว่าที่ร้อยตรี จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าวนายอภิสิทธิ์ได้ยื่นฟ้อง พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนกระทั่งศาลแพ่งได้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหมที่ปลดนายอภิสิทธิ์ ออกจากราชการ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29

คดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกรณีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายอภิศักดิ์ ตันติวงวงศ์ รมว.คลัง, นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการจำนำข้าว, นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง, นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง และนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-7 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากขั้นตอนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว กระทั่งดำเนินการจนมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้านบาท โดยขั้นตอนปฏิบัติมีลักษณะรวบรัด เร่งรีบ เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบโดยชอบธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบพยานของศาลแพ่ง

นี่คือ “วิบากกรรม” ของนายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้ง 7 คน ที่มาพร้อมกับ “ตำแหน่ง”

5 ปี คดีจำนำข้าว เส้นทาง “ยิ่งลักษณ์” ในศาลฎีกาฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
      • 3 ธันวาคม 2555 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบและชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
      • 9 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยส่งเรื่องให้ สนช. ดำเนินการลงมติถอดถอน
      •17 กรกฎาคม 2557 มีมติให้ดำเนินคดีอาญา โดยในส่วนของคดีอาญา ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา แต่ต่อมามีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับ อสส. เพื่อแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์
      • 23 มกราคม 2558 อสส. มีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาฯ วันเดียวกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนน 190:18 เสียง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
      • 19 กุมภาพันธ์ 2558 คณะทำงานของ อสส. นำสำนวนคดีจำนำข้าว ที่กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ
      • 19 มีนาคม 2558 (วันนัดอ่านคำสั่ง) ศาลฎีกาฯ มีมติรับฟ้องคดีจำนำข้าว พร้อมตั้ง “นายวีระพล ตั้งสุวรรณ” รองประธานศาลฎีกาขณะนั้น เป็นเจ้าของสำนวน
      • 19 พฤษภาคม 2558 (วันพิจารณาคดีครั้งแรก) น.ส.ยิ่งลักษณ์มาร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาฯ เป็นครั้งแรก กล่าวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝาก มูลค่า 30 ล้านบาท
      • 31 สิงหาคม 2558 (วันตรวจบัญชีพยาน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้อง 1. ขอให้รอพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อน เพราะอยู่ในอำนาจศาลปกครองไม่ใช่ศาลฎีกาฯ และ 2. คัดค้านการเพิ่มเติมพยานบุคคลและเอกสารของ อสส. แต่ศาลฎีกาฯ มีมติยกคำร้องทั้ง 2 คำร้อง
      • 29 กันยายน 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้อง อสส. กับพวกต่อศาลอาญาชั้นต้น ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ ก่อน สนช. ลงมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง และเพิ่มเติมข้อกล่าวหารวมถึงพยานหลักฐานกว่า 60,000 แผ่น ลงไปในสำนวน
      • 6 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า อสส. จงใจกลั่นแกล้งอย่างไร และการเพิ่มเติมพยานหลักฐานก็เป็นไปตามกฎหมาย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธินำพยานหลักฐานมาหักล้างได้ในการขั้นตอนไต่สวนของศาลฎีกาฯ
      • 29 ตุลาคม 2558 นัดฟังคำสั่งกำหนดการไต่สวนพยาน โดยนัดไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ 14 ปาก พยานฝ่ายจำเลย 42 ปาก
      • 15 มกราคม 2559 เริ่มต้นการไต่สวนพยานหลักฐานนัดแรก โดยจากพยานโจทก์
      • 24 มิถุนายน 2559 ไต่สวนพยานโจทก์นัดสุดท้าย
      • 5 สิงหาคม 2559 ไต่สวนพยานจำเลยนัดแรก
      • 29 มิถุนายน 2560 ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลเดินเผชิญสืบพยานหลักฐาน (การลงพื้นที่สืบพยานเกี่ยวกับสภาพสถานที่) ที่โรงสีข้าวและคลังข้าว จ.อ่างทอง จำนวน 16 แห่ง แต่ศาลยกคำร้อง
      • 7 กรกฎาคม 2560 ทีมทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าบทบัญญัติมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับการยึดสำนวน ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะขัดหรือไม่ขัดกับบทบัญญัติ มาตรา 235 ของ รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ ระบุตอนท้ายด้วยว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้นําสํานวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ในมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่า การพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
      • 21 กรกฎาคม 2560 ศาลนัดไต่สวนพยานครั้งสุดท้าย และ นัดอ่านคำสั่งกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งหากศาลฎีกาฯ มีคำสั่งตามคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีเลื่อนออกไป แต่หากศาลมีคำสั่งยกคำร้อง กระบวนการในขั้นต่อไปคือคู่ความทั้งสองฝ่ายทำคำแถลงปิดคดี
      • คู่ความสองฝ่ายทำคำแถลงปิดคดี ยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน แต่ในกรณีที่คดีมีความซับซ้อนระยะเวลาการทำคำแถลงปิดคดีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศาล
        • จากนั้นศาลจะใช้เวลาเขียนคำพิพากษา 7 ถึง 14 วันนับแต่ได้รับคำแถลงปิดคดี

You must be logged in to post a comment Login