วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นักวิชาการชูMIDLขับเคลื่อนสังคมไทย

On July 20, 2017

ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ ในงานสัมมนา “การรู้ทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL: อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Conference on Media, Information and Digital Literacy for Social Justice: Empowering Citizens to Create Change) จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center)

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า จากข้อมูลของ Internet World Stats ปี 60พบว่า มีการใช้อินเตอร์เนตทั่วโลก ประมาน 3พัน7ล้านคน โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ขณะที่ประเทศไทย สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)หรือETDAได้เปิดเผยผลสํารวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี2559 Thailand Internet User Profile 2016ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า ในภาพรวมทั้งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ และคอมพิวเตอร์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่45ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณ6.4ชั่วโมงต่อวัน โดยเพศที่สาม และGen Yเป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงที่สุด อยู่ที่48.9ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ53.2ชั่วโมงต่อสัปดาห์

“ทั้งนี้ กิจกรรมยอดนิยม5อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมทําผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ การพูดคุยผ่านSocial Network ร้อยละ86.8 รองลงมาเป็นการดูวิดีโอผ่าน YouTube ร้อยละ 66.6,การ อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ55.7,การค้นหาข้อมูลร้อยละ54.7ในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม3อันดับ พบว่า อันดับแรก ได้แก่YouTube มีผู้ใช้งานมาก ถึงร้อยละ97.3รองลงมา คือFacebookและLineมีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ94.8และ94.6 ตามลําดับ”นางสาวเข็มพร

ผู้จัดการ สสย. ระบุว่า ผลสํารวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนยุคปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศจํานวนมาก ผ่านสื่อดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันปัญหาภาพรวมจาก Social Media อาทิ ใช้สื่อไปในทางที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความรุนแรง หรือสร้างความเกลียดชัง ซึ่งผู้ใช้สื่อเองอาจยังขาดความเข้าใจและทักษะในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่คนยุคใหม่ในยุคดิจิทัลควรมีทักษะที่จําเป็นสําหรับการเข้าถึงข้อมูลความรู้ อันจะนําไปสู่การสร้างแรงขับเคลื่อนและเป็นเครื่องมือและทักษะสําคัญของพลเมืองในการปกป้องสิทธิขั้น พื้นฐาน ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย และสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยให้เกิดขึ้นทุกระดับในสังคมโดยยึดความยุติธรรมทางสังคมเป็นหลักการสำคัญ

ขณะที่ Pam Steager นักวิจัยและนักเขียนอาวุโสของ Media Education Lab ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะการสื่อสารและสื่อ (the Harrington School of Communication and Media) มหาวิทยาลัยแห่งโรดไอส์แลนด์ กล่าวว่า ไม่มีเวลาใดที่จะสำคัญไปกว่านี้อีกแล้ว ในการที่ประชาชนจะพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ เมื่อประชาชนมีสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล โดยพวกเขาจะรู้จักรับและใช้สื่อ รวมทั้งยังได้รับการเสริมพลัง ที่จะส่งเสียงแทนบรรดาเสียงที่หายไปและมุมมองที่ถูกละเลยในชุมชนของเรา

“การที่ประชาชนเห็นปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหา แสดงว่าพวกเขาใช้เสียงอันทรงพลังและสิทธิตามกฎหมายของตนเพื่อเปลี่ยนโลกรอบตัวเขาให้ดีขึ้น ในยุคที่ความเป็นดิจิทัลเข้มเพิ่มเรื่อยๆความสามารถในการเข้าถึง วิเคราะห์ ประเมิน และสร้างสรรค์สารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการรู้เท่าทันในยุคศตวรรษที่21ดังนั้น การประชุม ‘MIDL อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’ จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะเจาะที่เราจะได้สำรวจทักษะ สมรรถนะ และแนวปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีเหล่านี้” นักวิจัยระบุ

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความคิดเห็นถึง MIDL : อำนาจของพลเมืองดิจิทัลสร้างสังคมประชาธิปไตย ว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาเร็วและแรงมาก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ทำให้เราต้องปรับตัวให้ทัน ด้วยการทำให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน วิเคราะห์ได้ด้วยข้อมูลและเหตุผล แสดงออกด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยการมีโอกาสที่จะตั้งคำถาม ถกเถียง และ แสดงทางความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ ปราศจากความกลัวที่ไม่สมเหตุผล แต่มีมิตรไมตรีซึ่งกันมากขึ้น คนรุ่นเก่าที่เพิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัล (digital immigrant) และ คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับยุคดิจิทัล (digital native) จำเป็นต้องมีพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ ประชาธิปไตยจะเติบโตได้เมื่อเรายอมรับฟังกันและกันด้วยเหตุผล

อดีต กรรมการ กสทช. ระบุด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล ควรจะเสริมในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพลเมืองอย่างมีอารยะ มากกว่าที่จะลดทอนคุณค่าของการสื่อสารนั้น สังคมจะเข้มแข็งได้เมื่อพลเมืองมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่จะคิด ตั้งคำถาม ตรวจสอบความจริง และ ยอมรับความแตกต่างกันได้ เทคโนโลยีก็ควรจะเป็นเครื่องมือสู่ความเข้มแข็งของพลเมือง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะควบคุมสั่งการ หรือทุนที่จะครอบงำ ตักตวงประโยชน์อย่างเดียว

“เราควรใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยทำให้พลเมืองมีพลังทางความคิดที่จะตั้งหลักรับมือถ่วงดุลกับอำนาจของความไม่รู้ทั้งหลายเพื่อสร้างสงคมที่ตื่นรู้ ด้วยการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ตั้งแต่ในบ้าน โรงเรียน สังคม จนสู่โลกที่กว้างใหญ่ไร้พรหมแดน การปิดประตู หน้าต่างบ้านเพื่อหลีกหนีมลภาวะ ไม่ใช่ทางออก แต่การทำให้คนในบ้านเข้มแข็งได้ต่างหาก คือคำตอบ แต่เป็นภารกิจที่ท้าทายทุกฝ่ายมาก และเป็นงานที่ต้องทำกันตลอดชีวิตของเรา” น.ส.สุภิญญา ระบุ.

 


You must be logged in to post a comment Login