วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

โชคดีของ คสช.

On July 24, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สถานการณ์บ้านเมืองสัปดาห์ส่งท้ายเดือนกรกฎาคมมีหลายเรื่องให้ติดตาม และเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตอยู่พอสมควร

เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างสัญญาปรองดองที่นำออกเผยแพร่กับประชาชนครบ 4 ภูมิภาคแล้ว ขั้นตอนจากนั้นจะนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงร่างก่อนส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเพื่อพิจารณาเห็นชอบ

ขั้นตอนหลังจากนั้นต้องตามลุ้นกันต่อว่า หาก ป.ย.ป.เห็นชอบแล้วจะนำร่างปรองดองไปใช้ทำอะไรต่อ แค่เห็นชอบให้รู้ว่ามีร่างสัญญาปรองดอง หรือว่าจะเรียกพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และองค์กรต่างๆที่เคยเข้าร่วมให้ความเห็นก่อนทำร่างปรองดองมาร่วมกันลงนามว่าจะประพฤติปฏิบัติตามกรอบในร่างสัญญานี้

ถ้าเรียกมาลงนามจะมีใครมาร่วมลงนามบ้าง แต่ที่แน่ๆ พรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนแล้วว่าไม่รับร่างสัญญาปรองดองฉบับนี้ เนื่องจากไม่เชื่อว่าจะถูกนำไปใช้ให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นร่างสัญญาที่เกิดจากฝ่ายการเมืองกับกองทัพ ไม่ได้ทำโดยคณะกรรมการอิสระที่มีความเป็นกลางทางการเมือง

ประเด็นต่อมาที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

อย่างไรก็ตาม การยื่นตีความของกกต.จะไม่มีผลให้กฎหมายสะดุดการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังสามารถทำได้ตามขั้นตอนภายใต้กรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับตีความแล้วผลออกมาว่าขัดก็จะทำให้กฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ ถ้าไม่ขัดก็บังคับใช้ได้ต่อไป หรือกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความเรื่องก็จบ กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ต่อไปหลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ทั้งนี้ มีคำยืนยันจากรองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม ว่าการยื่นตีความกฎหมายกกต.จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้งอย่างที่ตั้งข้อสังเกตกัน

ทั้งเรื่องร่างสัญญาปรองดองและเรื่องตีความกฎหมายกกต.จึงกลายเป็นเรื่องผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่ส่งผลอะไรกับสถานการณ์บ้านเมือง

ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงคือผลการตัดสินคดีจำนำข้าว ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นจำเลย ซึ่งผ่านการไต่สวนพยานนัดสุดท้ายไปแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำตัดสินคดีในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

แม้จะมีการประเมินกันว่าไม่ว่าผลการตัดสินคดีจะออกมาอย่างไรก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการเมือง ยังมั่นใจว่า “เอาอยู่” เพราะไม่เชื่อว่าจะมีคนจำนวนมากเอาอนาคตตัวเองมาแลกเพื่อปกป้องอดีตนายกฯด้วยการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แต่เพื่อความไม่ประมาท ทั้งศาลและฝ่ายความมั่นคงจะประชุมหารือร่วมกันเพื่อวางแผนรับมือสถานการณ์วันนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้ง ขณะที่พื้นที่ทั่วประเทศจะประกาศใช้แผนกรกฎควบคุมความสงบเรียบร้อย

สาระสำคัญของแผนกรกฎมี 4 ขั้นตอนคือ เตรียมรับมือก่อนเกิดเหตุ เผชิญหน้า โดยไล่จากเบาไปหาหนัก ใช้กำลังเข้าคลี่คลายสลายการ และฟื้นฟูหลังคุมสถานการณ์ได้

หากผ่านเดือนอันตรายสิงหาคมไปได้ รัฐบาลทหารคสช.ก็ได้หายใจกันโล่งๆยาวๆ เพราะจะมีพิธีสำคัญในบ้านเมืองมาช่วยลดความร้อนแรงของสถานการณ์ในช่วงเดือนตุลาคม ถือเป็นความโชคดีของรัฐบาลทหารคสช.


You must be logged in to post a comment Login