วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘เส้นทางสายไหม’ มิติทหาร / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On July 24, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

สัปดาห์ที่แล้วเขียนเรื่อง “เส้นทางสายไหม” ในมุมมองมิติประวัติศาสตร์ สัปดาห์นี้ขอนำเสนอในมิติด้านการทหารบ้าง เรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเส้นทางสายไหมถือเป็นเรื่องใหญ่มาก มีการศึกษาค้นคว้ามากมาย และเขียนออกมาหลายเวอร์ชั่น ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าเวอร์ชั่นที่ชื่อว่าTHE SILK ROAD : A NEW HISTORY” หรือ “พลิกประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหม” เขียนโดย Valerie Hansen มีการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย “นงนุช สิงหเดชะ” น่าจะเป็นงานเขียนที่ดีที่สุด ได้รับการอ้างอิงจากนักวิชาการและผู้ใส่ใจการค้นคว้าศึกษา ถือเป็นงานวิชาการเกี่ยวกับเส้นทางสายไหมที่มีมาตรฐานที่สุดในทางวิชาการ

หนังสือเล่มนี้ Valerie Hansen กล่าวว่าเส้นทางสายไหมไม่เคยเป็นเส้นทางการค้า ซึ่งเป็นการล้มล้างความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าเส้นทางสายนี้เชื่อมกรุงโรมเข้ากับจีนโบราณตั้งแต่ยุคก่อนคริสต์ศักราช เพื่อประโยชน์ในการนำสินค้าต่างๆออกสู่ตลาด

Valerie Hansen ยังชี้ว่าเส้นทางสายนี้ไม่เคยมีการเดินทางเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ ไม่เคยมีกองคาราวานพ่อค้าเดินทางเพื่อค้าขายระยะไกล โดยค้นพบว่าเป็นสายธารของวัฒนธรรมในอดีต เป็นเส้นทางแห่งความศรัทธา ความรู้ของประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ซึ่งมีผู้คนที่ใช้เส้นทางนี้อยู่ 3 กลุ่มคือ ผู้เดินทางเพื่ออพยพย้ายถิ่นฐาน ผู้เดินทางเพื่อจาริกแสวงบุญ เช่น นักบวชที่ออกจาริกเพื่อเติมเต็มศรัทธา จนเป็นที่มาของตำนานไซอิ๋ว และกลุ่มสุดท้ายคือ คณะทูตที่เดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ

สิ่งที่ผู้อพยพลี้ภัยสงครามนำติดตัวไปด้วยเมื่อย้ายถิ่นฐานคือ ความเชื่อ เทคโนโลยี ตัวอักษร จนเกิดเป็นเส้นทางสายไหมที่รู้จักกันในวันนี้ สิ่งที่ Valerie Hansen พบทั้งหมดยิ่งย้ำความสำคัญของเส้นทางสายไหมในฐานะเส้นทางที่หล่อหลอมอารยธรรม เต็มไปด้วยความทรงจำของโลกยุคโบราณที่ปัจจุบันได้สาบสูญไปหมดสิ้นแล้ว

ความจริงแล้วมุมมองและการเขียนถึงสาระทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางสายไหมสามารถกระทำได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับมุมมองและกระบวนทัศน์ทางความคิดของนักประวัติศาสตร์นั้นๆ

สำหรับข้อเขียนนี้จะเน้นไปที่วิธีคิดด้านทหารและเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับมิติประวัติศาสตร์ ตัวอย่างรูปธรรมที่จะยกมากล่าวถึงคือ วิธีคิดที่นำยุทธศาสตร์ทางการทหารของจีนมารับใช้ด้านเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจของราชสำนักจีนโบราณ ซึ่งเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่น่าสนใจ

มุมมองซึ่งเชื่อมโยงระหว่างมิติเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ถือว่าเฉียบแหลมในวิธีของชนชั้นการปกครองจีนในยุคนั้น ราชวงศ์ฮั่นของจีนเข้าใจว่าเป็นราชวงศ์แรกที่เริ่มต้นตั้งกองทหารรับจ้างขึ้นมา และที่น่าทึ่งมากคือ การจ่ายโภคทรัพย์บางอย่างเป็นค่าตอบแทน เปรียบเสมือนเงินเดือนบรรดาทหารรับจ้างซึ่งเป็นนักรบชนเผ่าต่างๆที่ราชวงศ์ฮั่นระดมมาเป็นฐานกำลังเพื่อปกป้องราชสำนัก

ตอนเริ่มต้นนั้นราชสำนักจีนจ่ายผลตอบแทนให้ทหารรับจ้างเป็นเหรียญทองแดงหรือเมล็ดธัญพืชซึ่งสามารถใช้เป็นเสบียงอาหารได้ แต่ในที่สุดก็จ่ายโภคทรัพย์เป็นผ้าไหม เพราะเห็นว่าเมล็ดธัญพืชสามารถเน่าได้ เหรียญทองแดงก็ขาดแคลน ผ้าไหมจึงดีที่สุด และกลายเป็นของมีค่าในชุมชนเส้นทางสายไหมที่ทหารรับจ้างใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน

เข้าใจว่าผ้าไหมนี่เองที่ผลักดันให้เศรษฐกิจในชุมชนเส้นทางสายไหมมีความคึกคักในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน เท่ากับจีนได้ผลักดันให้เกิดตลาดผ้าไหมระดับนานาชาติ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มพ่อค้าหลายชนชาติ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าในแคว้นแบคเตรียซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน ตลาดแบคเตรียถือเป็นตลาดนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดในชุมชนเส้นทางสายไหม ทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ความรู้ ศาสนา และวัฒนธรรม

ดังนั้น ความหมายที่แท้จริงของเส้นทางสายไหมจึงน่าจะสรุปได้ว่า เป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนระหว่างตะวันออกและตะวันตก เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นวิธีคิดที่ล้ำลึกของชนชั้นปกครองจีนที่สามารถสร้างชุมชนการตลาดขึ้นมา โดยนำเอานโยบายการทหารมารับใช้ผลประโยชน์ทางการค้าของราชสำนักจีน

เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนว่าชนชั้นปกครองของจีนเข้าใจเรื่องทุนพาณิชย์ที่เกิดจากการหากำไร โดยการค้าขายและผลผลิตในสมัยนั้นคือผ้าไหม นอกจากนั้นยังทำให้ผ้าไหมจากอินเดียได้รับความสนใจจากตลาดในยุโรปไปด้วย โดยเฉพาะตลาดโรมัน เช่น ผ้าไหมอินเดียซึ่งทอจากใยของผีเสื้อป่า

ทั้งหมดนี้เป็นบางมุมและบางด้านที่สะท้อนจากประวัติศาสตร์บนเส้นทางสายไหม ซึ่งความจริงแล้ววิธีคิดและมุมมองของนักปกครองจีนถือว่าเชี่ยวชาญและชาญฉลาดมากในเรื่องการค้าและการแสวงหากำไร แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์การค้าของจีนอาจสรุปได้ว่าเกิดขึ้นก่อนที่คาร์ล มาร์กซ์ จะเขียน DAS KAPITAL จบเสียด้วยซ้ำไป

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความไม่ธรรมดาของชนชั้นปกครองจีนในสมัยโบราณ ซึ่งเข้าใจว่าสมัยนี้ก็คงไม่ธรรมดาเช่นกัน ขนาดเส้นทางสายไหมยังใช้ยุทธศาสตร์การทหารมารองรับและรับใช้ผลประโยชน์ของชาติได้ แล้วปัจจุบันจีนจะไม่ล้ำลึกหรือก้าวไปไกลกว่านั้นหรือ น่าคิดนะครับ!


You must be logged in to post a comment Login