- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
จริง-เท็จต้องพิสูจน์ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
การระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลที่เป็นผลผลิตจากโครงการรับจำนำข้าวที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและกำลังจะระบายข้าวออกหมดสต็อกนั้น นับเป็นเรื่องน่ายินดีหากไม่มีข่าวเรื่องการนำข้าวเกรดที่คนกินได้ไปเปิดประมูลเป็นเกรดอาหารสัตว์ ทำให้รัฐเสียส่วนต่างรายได้กว่า 10,000 ล้านบาท
รัฐบาลทหาร คสช. ประกาศให้การปราบทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ และการปราบทุจริตก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมในการเข้ามายึดอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกาศมาตลอดว่าเข้ามาแก้ทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเพื่อระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ
แต่ข่าวการระบายข้าวสลับเกรดทำให้รัฐเสียรายได้ที่ควรจะได้รับกว่าหมื่นล้านบาทนั้นเกิดขึ้นในยุคที่รัฐบาลทหาร คสช. ปกครองประเทศได้อย่างไร
ตัวแทนพรรคเพื่อไทยได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบไปแล้ว และมีการแถลงข่าวที่มีรายละเอียดพอสมควร ซึ่งทุกท่านคงได้ติดตามอ่านข่าวกันไปแล้ว
หลังการเปิดเผยของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกมาชี้แจงดังนี้
1.ข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมาที่มีผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวแล้ว 17.76 ล้านตัน เป็นข้าวที่ถูกต้องตามมาตรฐานประมาณ 2.2 ล้านตัน ไม่ตรงตามมาตรฐาน 14.74 ล้านตัน ผิดมาตรฐาน 0.73 ล้านตัน และผิดชนิด 0.09 ล้านตัน ซึ่งข้าวเหล่านี้มีทั้งที่ผิดไปจากมาตรฐานมาก ผิดไปจากมาตรฐานน้อย สามารถปรับปรุงคุณภาพได้ และมีปัญหาในการปรับปรุงคุณภาพ รวมทั้งที่ปรากฏชัดว่าไม่เหมาะแก่การบริโภค
2.ในช่วงแรกที่ปรากฏผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวว่ามีข้าวที่ผิดมาตรฐานจำนวนมาก และ อคส./อ.ต.ก. แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีโรงสีบางแห่งขอเสนอซื้อข้าวในโกดังของตนโดยไม่ต้องประมูลและมีเงื่อนไขต้องยุติการดำเนินคดีกับโรงสีเหล่านั้น ทางราชการไม่อาจยอมรับข้อเสนอดังกล่าวได้
3.การระบายข้าวของรัฐบาลชุดปัจจุบันใช้วิธีการประมูล ซึ่งเป็นวิธีที่โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยมีขั้นตอนโดยสรุปคือ ก่อนการระบายข้าวคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐต้องเสนอประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวและเสนอประธานกรรมการ นบข. ให้ความเห็นชอบกรอบการประมูล เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว กรมการค้าต่างประเทศในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวจึงออกประกาศจำหน่ายข้าว โดยมีข้อความระบุว่า “คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ โดยมติคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการ นบข. ให้ดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ…” ซึ่งเป็นขั้นตอนปฏิบัติการระบายข้าวตามปรกติที่ทำมาตั้งแต่การประมูลครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน มิได้เป็นการแอบอ้างชื่อแต่อย่างใด
4.สำหรับกรณีข้าวในคลังสินค้า บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 หลัง 9 ที่มีผู้กล่าวอ้างว่าขายข้าวคุณภาพดีราคาที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้น ข้าวในโกดังดังกล่าวเป็นข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ซึ่งเป็นสัญญาแบบฝากเก็บ โดยเจ้าของคลังต้องเป็นผู้รับผิดชอบคุณภาพและปริมาณข้าวในคลังเป็นข้าวหอมมะลิ มีทั้งหมด 8 กอง ซึ่งมีผลการตรวจสอบถูกต้องตามมาตรฐาน 2 กอง ผิดมาตรฐาน 6 กอง และนำข้าวดังกล่าวออกประมูลขายในการประมูลครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นการประมูลทั่วไปและเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ผลการประมูลปรากฏว่ามีผู้เสนอซื้อราคากิโลกรัมละ 11.25 บาท ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้จึงไม่ได้รับอนุมัติให้ขาย ทั้งนี้ บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 มีสิทธิประมูล แต่ไม่ปรากฏว่าได้เข้ามาประมูลแต่อย่างใด
5.เนื่องจากการระบายข้าวบางกรณีมีความจำเป็นต้องประมูลขายแบบยกคลัง และเนื่องจากข้าวหอมมะลิในคลัง บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 หลัง 9 มีที่ถูกมาตรฐานเพียง 2 กอง อีก 6 กองเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐาน และข้าวที่ผิดมาตรฐานนั้นมี 1 กองมีผลวิเคราะห์คือ เป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพ ข้าวเน่า ข้าวขึ้นรา เกาะกันเป็นก้อน มีกลิ่นเหม็น และมีฝุ่น ไม่เหมาะแก่การบริโภค ไม่สมควรให้มีการระบายเป็นการทั่วไป ควรระบายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ชนะการประมูลต้องนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่อาจนำไปขายเพื่อการบริโภคของมนุษย์ได้ จึงได้นำออกประมูลในการประมูลครั้งที่ 23 และมีผู้เสนอซื้อในราคากิโลกรัมละ 6.10 บาท ซึ่งการประมูลครั้งนี้แม้ว่า บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 มีสิทธิประมูล แต่ไม่ปรากฏว่าได้เข้ามาประมูลแต่อย่างใด
6.การระบายข้าวของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้นำปัจจัยเรื่องราคาที่จะจำหน่ายได้มาเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะหากคำนึงถึงเรื่องราคาเพียงอย่างเดียวจะต้องกำหนดราคาขายข้าวที่จะประมูลไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนที่รับจำนำคือ ข้าวขาว ประมาณตันละ 22,000-23,000 บาท ข้าวหอมมะลิ ประมาณตันละ 29,000-30,000 บาท แต่คำนึงถึงการลดความเสียหายจากภาระงบประมาณที่ต้องจ่ายเป็นค่าเก็บรักษา ค่าดอกเบี้ย ค่ารมยา ผลกระทบต่อสุขอนามัยมนุษย์และสัตว์ และสต็อกข้าวที่กดราคาข้าวในตลาด อันมีผลกระทบถึงราคาข้าวที่ชาวนาจะได้รับด้วย
7.การดำเนินการระบายข้าวของรัฐบาลชุดนี้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หากผู้กล่าวหามีหลักฐานว่าเป็นไปโดยมิชอบก็ควรดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ไม่ควรหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างลอยๆโดยไม่มีหลักฐานเพื่อหวังผลซ่อนเร้นบางประการ
กรณีนี้นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจตรวจสอบสินค้าเกษตรไทยได้ทำหนังสือถึงนางดวงพรในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ เพื่อขอซื้อข้าวที่จะเอาไปจำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภคหรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ แต่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 นางดวงพรได้มีหนังสือตอบกลับไปว่าไม่ขายข้าวดังกล่าว
อีกทั้งบริษัท ซี.พี.เอส. ตรวจสอบและรมยา จำกัด ได้ทำหนังสือถึงนางดวงพร 2 ครั้ง เพื่อขอให้ทบทวนการขาย โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 และครั้งที่ 2 วันที่ 8 มิถุนายน 2560 ซึ่งได้ขอซื้อราคากิโลกรัมละ 9 บาท แต่รัฐบาลกลับไปขายที่ราคา 4 บาท
ทำให้มีคำถามว่าเหตุใดกรมการค้าต่างประเทศถึงไม่ขายข้าวในราคา 9 บาท แต่กลับไปขายในราคา 4 บาท ทั้งๆที่บริษัท ซี.พี.เอส.ฯขอซื้อ และการที่กรมการค้าต่างประเทศบอกว่าเป็นข้าวที่คนบริโภคไม่ได้นั้นเอามาตรฐานอะไรมาวัด เพราะบริษัทเซอร์เวเยอร์ที่รัฐบาลจ้างมายืนยันว่าเป็นข้าวที่คนบริโภคได้
จะเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายให้ข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่มีประเด็นหลักคือ คุณภาพของข้าวที่นำออกมาประมูลเป็นข้าวเกรดที่มนุษย์ใช้บริโภคได้หรือเป็นเกรดที่ต้องใช้ทำอาหารสัตว์เพียงอย่างเดียว
ที่น่าสนใจและน่าหาคำตอบมายืนยันคือ ข้าวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ไม่สามารถใช้บริโภคได้จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ที่บริโภคเข้าไปหรือไม่ โดยเฉพาะข้าวที่ถูกระบุว่าเป็นข้าวเน่า ข้าวขึ้นรา เกาะกันเป็นก้อน มีกลิ่นเหม็น
เมื่อสังคมสงสัย มีทางเดียวคือให้ผู้เชี่ยวชาญมายืนยันว่าข้าวที่ประมูลนั้นเป็นเกรดที่มนุษย์ใช้บริโภคหรือเป็นเกรดที่ใช้ทำอาหารสัตว์กันแน่
คลี่ปมสงสัยได้ไม่ยากแค่เปิดโกดังเอาข้าวออกมาพิสูจน์ จะได้รู้ว่าใครพูดจริงใครโกหก มีความเสียหายที่รัฐควรจะได้รับเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อประกาศตนว่าเข้ามาล้างโกงปราบทุจริตก็ควรกล้าใช้อำนาจออกคำสั่งให้พิสูจน์เรื่องนี้
You must be logged in to post a comment Login