วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

อย่าทำแต่พิธีกรรม? / โดย กองบรรณาธิการ

On July 24, 2017

คอลัมน์ : โลกในกะลา

ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งรัฐบาลทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มั่นใจว่าจะไม่ล้มเหลว หลังจากให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และภาคประชาชนทั่วประเทศ ร่วมหารือและเสนอแนะ ในที่สุดก็ได้ฤกษ์อวดโฉมอย่างเป็นทางการ โดยเปิดเวทีสาธารณะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนทุกภูมิภาคตั้งแต่วันที่ 17-20 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่บรรยากาศดูเงียบเหงาไม่ต่างกับการทำประชาพิจารณ์ของภาครัฐที่เป็นเพียง “พิธีกรรม” มากกว่าต้องการความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ร่างสัญญาประชาคมที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง” ที่นำไปทำความเข้าใจกับประชาชนและเป็นเหมือนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องปฏิบัติมี 10 ข้อคือ

1.คนไทยทุกคนร่วมกันสร้างบรรยากาศปรองดอง ใช้สิทธิเสรีภาพใต้กรอบกฎหมาย ยอมรับความต่างทางความคิด ส่งเสริมสถาบันการเมืองให้เข้มแข็ง สร้างการเลือกตั้งที่สุจริตโปร่งใส ร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ แก้ปัญหาโดยระบบรัฐสภา

2.คนไทยทุกคนน้อมรับศาสตร์พระราชามาใช้ในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพสุจริตพึ่งพาตนเองได้ มีคุณธรรม จริยธรรม ร่วมสร้างความเข้มแข็งประกอบอาชีพของท้องถิ่น

3.คนไทยทุกคนยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม ไม่ส่งเสริมสนับสนุนการประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบเพื่อให้สังคมปราศจากคอร์รัปชัน

4.คนไทยทุกคนร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ยอมรับและเชื่อมั่นกระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม และมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น

5.คนไทยทุกคนสนับสนุนส่งเสริมดูแลคุณภาพชีวิต สาธารณสุข การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

6.คนไทยทุกคนเคารพเชื่อมั่น ปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนส่งเสริมกระบวนการยุติธรรรมเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง

7.คนไทยทุกคนใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข่าวสารจากสื่อต่างๆ ร่วมกันสอดส่องไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

8.คนไทยทุกคนส่งเสริมให้สังคมมีมาตรฐานตามสากลที่ไทยเป็นภาคี

9.คนไทยทุกคนสนับสนุนส่งเสริมการปฏิรูปประเทศในทุกด้านอย่างสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

10.คนไทยทุกคนเรียนรู้ ให้ความร่วมมือสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

เนื้อหาสาระไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่ เป็นเรื่องของ “คนดี” ตามแบบฉบับ “ทั่นผู้นำ” เหมือน “ค่านิยม 12 ประการ” ซึ่งมีคำถามว่าเคยถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงหรือไม่

แถมยังช่วยฉายภาพให้ประชาชนเห็นอย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมาฝ่ายใดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองด้วยการไม่เคารพกฎหมาย ไม่เล่นตามกติกา ไม่ใช้ระบบรัฐสภาแก้ปัญหาบ้านเมือง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โต้โผใหญ่ร่างสัญญาประชาคมฉบับนี้ กล่าวอย่างมั่นใจว่า “น่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี” สามารถนำไปใช้ได้เลย ถ้าประชาชนทุกคนปฏิบัติตาม ประเทศก็จะเกิดความสงบสุขและมีความปรองดอง

ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติให้เป็นจริง รัฐบาลทหารและ คสช. ที่มีอำนาจอยู่ขณะนี้ต้องเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็นว่ายึดถือปฏิบัติตามกรอบนี้และไม่แหกกฎ ประชาชนทุกภาคส่วนก็จะปฏิบัติตามแน่นอน ไม่ใช่ “ปากว่าตาขยิบ” หรือ “พูดอย่างทำอย่าง” เหมือนการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งวันนี้มีคำถามมากมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพ โดยเฉพาะคนใกล้ชิดและญาติพี่น้องของผู้มีอำนาจ

“ผมไปบังคับได้หรือ ที่ผ่านมาเราก็อำนวยความสะดวกในเรื่องปรองดอง ซึ่งการปรองดองก็คือการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทุกขั้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆก็แล้วแต่ ก็ต้องไปดูว่า 10 ประเด็นเหล่านี้จะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร จะต้องทำอะไรบ้าง ประเด็นสำคัญคือ การประท้วง การชุมนุมอะไรต่างๆที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูด้วยว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมายด้วย รับกันได้หรือไม่ ก็ใช่ที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลัก แต่ก็มีกฎหมายลูกเยอะแยะไปหมด ตรงนี้เป็นสิ่งที่จะต้องชัดเจนในการลงนาม คนที่รับผิดชอบหากปรองดองไม่สำเร็จก็คือคนไทยทั้งประเทศที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน”

น้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ยังพูดแบบเดิมๆ โยนปัญหา โยนความผิดไปให้นักการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ กองทัพไม่เคยขัดแย้ง และเสียสละเข้ามาแก้วิกฤตบ้านเมือง แต่ฝ่ายที่เห็นต่างยืนยันว่ากองทัพคือส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

ดังนั้น การจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริงต้องยอมรับความจริงและทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถอนรากถอนโคน ไม่ใช่ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น”

เช่นเดียวกับผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพที่มักย้ำว่าให้เลิกขุดคุ้ยปัญหาและความขัดแย้งในอดีต แต่ให้มองไปข้างหน้า แต่ฝ่ายที่สูญเสียและถูกกระทำก็ยืนยันว่า “หากความจริงไม่ปรากฏ ความปรองดองก็ไม่เกิด” เช่นเดียวกับ “หากความยุติธรรมไม่มี ความปรองดองก็ไม่เกิด”

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็อยู่ที่ทุกฝ่ายเต็มใจและจริงใจที่จะนำไปปฏิบัติหรือไม่ อย่างที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งคำถามว่าร่างสัญญาปรองดองจะถูกนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร เพราะไม่มีแผนขั้นตอนในการปฏิบัติ

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา ให้รัฐบาลทำให้ร่างสัญญาประชาคมไม่ใช่เป็นแค่นามธรรม แต่ต้องจับต้องได้และสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศจึงจะเกิดกระบวนการเรียนรู้และร่วมกันปฏิบัติ

ขณะที่นายวรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้แสดงความเห็นว่า เรื่องการเมืองต้องการให้มีความชัดเจนว่าเมื่อไรจะมีการคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน และเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากในสมัยหน้าตนไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯแล้วสามารถหาเสียงโดยออกนโยบายที่แตกต่างไปจากยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้หรือไม่ จะถูกจับติดคุกหรือดำเนินคดีหรือไม่หากเสนอนโยบายที่แตกต่าง

“คำถามสุดท้ายครับท่าน บทนำที่เขียนว่าให้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมคิดว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยพอสมควร มีมากด้วย แต่ผมอยากทราบว่าท่านน่ะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยขนาดไหน ท่านจะคืนประชาธิปไตยให้หรือไม่ และจะคืนให้เมื่อไร”

คำถามของนายวรัญชัยที่กล่าวทิ้งท้ายและความเห็นของฝ่ายการเมืองสะท้อนถึงสิ่งที่ขาดหายไปของร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่ต้องการให้ลืมอดีต ไม่สร้างปัญหาใหม่ในอนาคต และไม่ละเมิดกฎหมาย แต่ตราบใดที่ไม่ยอมรับความจริงและทำความจริงให้ปรากฏ ความปรองดองก็ไม่เกิด!


You must be logged in to post a comment Login