วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศิริราชจับมือซินโครตรอนลงนามความร่วมมือพัฒนาวิจัยด้านการแพทย์

On July 24, 2017

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาวิจัยด้านการแพทย์ครั้งแรกของไทยโดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อรองรับการแข่งขันในระดับสากล โดย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต  ศิลธรรม ปลัดกระทรวงฯ  และคณะผู้บริหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน  ณ     ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างปัญญาในสังคม  สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังคงดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคประชาชน ภาคสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ร่วมกันระดมความคิด ผนึกกำลังกันขับเคลื่อน ผ่านโครงการบันทึกความร่วมมือ กิจกรรม หรืองานวิจัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูง และเข้ามาร่วมวิจัยกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งจะเป็นการยกระดับการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์ทั้งในด้านคุณภาพ ความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ เกิดการนำไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนดำเนินงานภายใต้พันธกิจการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน รวมถึงการให้บริการแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการถ่ายทอด การเรียนรู้เทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีแสงขั้นสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยหลากหลายด้าน อาทิ ด้านอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ด้านวัสดุศาสตร์ ยางและพอลิเมอร์ สิ่งแวดล้อม โบราณคดี อีกทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และอีกหนึ่งงานวิจัยที่เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจะเข้าไปตอบโจทย์ได้นั่นคือ งานวิจัยทางการแพทย์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งการลงนามครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประตูโลกวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนให้มาเจอกับงานวิจัยด้านการแพทย์ พร้อมทั้งยังเป็นการขยายฐานงานวิจัยของแสงซินโครตรอนให้ครอบคลุมในทุกมิติของงานวิจัยอย่างแท้จริง นอกจากความร่วมมือด้านงานวิจัยแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านพัฒนากำลังคน ทั้งด้านการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพื่อให้คนไทย พร้อมเข้าสู่งานวิจัยในระดับสากล”

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลตระกนักถึงความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์ โดยเฉพาะด้านอาหารและยา การพัฒนาระบบของไหลจุลภาคสำหรับโรคติดเชื้อ ผลึกศาสตร์ของโปรตีนก่อโรค และแอนติบอดีจำเพาะ ตลอดจนวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์” เพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะเข้ามาร่วมวิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมสำหรับวงการการแพทย์ของไทย และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้จริง โดยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจะเข้ามาช่วยไขปริศนา และต่อยอดข้อมูลงานวิจัยทางด้านนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อวงการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาวิจัยด้านการแพทย์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยกันสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทยอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของวงการแพทย์ของไทยในระดับสากล และส่งผลต่อการมีสุขภาพดีของคนภายในประเทศต่อไป


You must be logged in to post a comment Login