- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ทำความรู้จัก “ศาลฎีกาคดีอาญานักการเมือง”
เว็บไซต์ประชาไทได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ขจรศักดิ์ สิริพัฒนกรชัย ดังนี้
ขณะที่คดีจำนำข้าวงวดเข้าไปทุกที หลายคนอาจยังไม่เข้าใจระบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปิยบุตรอธิบายปรัชญาการก่อตั้ง กระบวนการพิจารณา พลวัตของศาลนี้ในทางสากลเปรียบเทียบกับไทย คำถามเรื่องความเป็นธรรมที่มีมากขึ้นในกฎหมายฉบับใหม่ รวมถึงการไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามจำเลยร้องขอทำได้หรือไม่
แฟ้มภาพประชาไท
@ ที่มาที่ไปของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การพิจารณาคดีอาญาของนักการเมือง มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆ ระบบแรก ใช้ศาลปกติ เพราะมองว่ารัฐมนตรีกับประชาชนต้องเท่าเทียม ต้องขึ้นศาลในระบบเดียวกัน ไม่ต้องมีศาลพิเศษ มีเยอรมนี อังกฤษ ระบบที่สอง ใช้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าคดีอาญาของนักการเมืองไปคาบเกี่ยวอยู่กับรัฐธรรมนูญ ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น ออสเตรีย ระบบที่สาม ใช้ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์โดยมีแผนกคดีอาญาของนักการเมืองแยกออกมาต่างหาก เช่น สเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และระบบสุดท้ายตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเฉพาะ โดยมีนักการเมืองและผู้พิพากษาอาชีพร่วมนั่งเป็นองค์คณะพิจารณาคดีด้วยกันประเทศที่ใช้ก็มี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ กรีซ ทั้ง 4 ระบบนี้ อาจแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ใช้ระบบปกติเหมือนบุคคลทั่วไป กับกลุ่มที่แยกระบบพิเศษออกมา กลุ่มแรก ให้เหตุผลจากหลักความเสมอภาค กลุ่มที่สอง ให้เหตุผลว่าคดีอาญาที่รัฐมนตรีกระทำผิดจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวอยู่กับเรื่องนโยบายทางการเมืองหากใช้ศาลอาชีพทั้งหมดจะเปิดโอกาสให้ศาลเข้ามาแทรกแซงในทางการเมืองได้ ดังนั้นจึงควรมีมิติของนักการเมืองเข้าไปผสมด้วย ผสมมากหน่อย ก็ให้ ส.ส. ส.ว.เข้าร่วมเป็นองค์คณะพิพากษา หรือ ผสมน้อยหน่อย ก็ให้ ส.ส. ส.ว.เป็นองค์กรผู้กล่าวหาริเริ่มคดี
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทยอยู่ในกลุ่มที่สร้างระบบพิเศษเฉพาะให้กับนักการเมือง เริ่มมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเหตุผลของการตั้งศาลนี้ มีการอธิบายว่า นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันเยอะ เป็นผู้มีอิทธิพลจับไม่ได้ ลงโทษไม่ได้ จึงต้องสร้างระบบพิเศษให้กับคดีอาญาของนักการเมือง โดยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 จะเริ่มยกร่างกัน อ.ประเวศ วะสี ได้มอบหมายให้อาจารย์ นักวิชาการ ไปเขียนวิจัยหลายชิ้น มีเล่มหนึ่งว่าด้วยคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นผู้เขียน โดยนำความคิดมาจาก “la Cour justice de la Republique” หรือศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่มีหน้าที่พิจารณาคดีอาญาของรัฐมนตรี ในงานชิ้นนี้ อาจารย์บวรศักดิ์ได้อธิบายระบบของฝรั่งเศสไว้อย่างละเอียด พร้อมยังยกร่างกฎหมายเป็นตัวแบบไว้ให้ด้วย โดยอาจารย์บวรศักดิ์ให้ชื่อว่า “คณะตุลาการอาญาธร”
ต่อมา ในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ร่างรัฐธรรมนูญแรกๆ กำหนดให้มี “คณะตุลาการคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกา 11 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน และสมาชิกวุฒิสภา 5 คน จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบนี้ผสมนักการเมืองกับผู้พิพากษาร่วมเป็นคณะตุลาการตามแบบของฝรั่งเศสเลย อย่างไรก็ตาม ในชั้นหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบใหม่ โดยตัดสัดส่วนที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาออกไป กำหนดให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา องค์คณะมีผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน เลือกเป็นรายคดี และให้เรียกชื่อว่า “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” และก็ใช้เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2560
เหตุที่ผมต้องเล่าย้อน เพราะว่า ที่มาของไทยมันย้อนแย้งลักลั่นกับของตะวันตก ถ้าต้องการมีระบบพิเศษของนักการเมืองก็ต้องนำส.ส.เข้ามาผสม แต่พอจะนำเข้ามาผสมก็เกิดอาการรังเกียจกลัวว่านักการเมืองจะช่วยกัน และไม่มีความรู้ในการตัดสินคดี จึงไปนำผู้พิพากษาศาลฎีกาอาชีพมาทั้งหมด ปัญหาก็คือว่าหากเชื่อว่า นักการเมืองตัดสินคดีไม่เป็น ต้องใช้ศาลอาชีพทั้งหมด แล้วแบบนี้ ทำไมถึงไม่กลับไปใช้ระบบศาลปกติ เราอธิบายกันว่า เหตุที่ไม่สามารถนำรัฐมนตรีเข้าคุกได้ซักคนเดียวในอดีตนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศาล แต่เกิดขึ้นจากตำรวจ และอัยการ ถ้าคำอธิบายนี้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เราตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” หรือป.ป.ช. ขึ้นมาทำหน้าที่แทน คดีอาญาของนักการเมืองทั้งหมดไม่ได้อยู่ในมือของตำรวจแล้ว เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.เพื่อส่งไปให้อัยการสั่งฟ้องศาล ดังนั้น เมื่อปัญหาถูกแก้ไขแล้วทำไมถึงต้องมีแผนกคดีอาญานักการเมืองขึ้นมาอีก แล้วแผนกที่ว่าก็ไม่ได้เป็นระบบใหม่ องคาพยพใหม่ ก็คือศาลฎีกานั่นแหละ ถ้าแบบนี้ ทำไมไม่ใช้กระบวนการปกติ ให้ ป.ป.ช.ทำ แล้วขึ้นสู่ศาลตามระบบปกติเหมือนคดีอาญาของบุคคลทั่วไป
ทุกวันนี้ของฝรั่งเศสที่เราไปลอกมา เขามีความพยายามที่จะยกเลิกอยู่ เพราะมองกันว่า ถ้ายังเป็นเช่นนี้นักการเมืองก็ได้เปรียบไม่เสมอภาคกับคนประชาชน โดยประธานาธิบดีคนก่อนนาย François Hollande พยายามยกเลิก มีการร่างกฎหมายเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้นำไปบังคับใช้ ล่าสุดนาย Emmanuel Macron ได้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ 2 สภาว่าเขาจะยกเลิกศาลพิเศษนี้ นั่นจึงเท่ากับว่าประเทศต้นแบบที่เราไปนำมาใช้ ก็ไม่เอาแล้ว เพราะมันทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกัน ประชาชนมองว่านักการเมืองเอาเปรียบใช้ศาลพิเศษ ที่มี ส.ส. ส.ว.เข้ามานั่งเป็นคณะตุลาการ ส่วนนักการเมืองก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงต้องมาขึ้นศาลพิเศษด้วย บางคนถึงกับบอกว่าศาลปกติดีกว่า เพราะสู้ได้หลายชั้น ผมคิดว่าภายในวาระ 5 ปีของประธานาธิบดีคนใหม่ น่าจะยกเลิกระบบศาลพิเศษในคดีอาญาของรัฐมนตรีได้แน่นอน
โดยสรุป “เหตุผลพิเศษ” ที่เรานำมาใช้อ้างในการออกแบบระบบพิเศษให้กับคดีอาญานักการเมือง คือ นักการเมืองทุจริตมาก นักการเมืองมีอิทธิพล ต้องจับนักการเมืองทุจริตเข้าคุกให้ได้ ในขณะที่ “เหตุผลพิเศษ” ที่ต่างประเทศใช้ คือ คดีอาญานักการเมืองเกี่ยวพันกับการเมืองและนโยบาย ไม่ควรปล่อยให้ศาลทำกันเอง พอของเราใช้ “เหตุผลพิเศษ” แบบนี้ ก็เลยต้องออกแบบกลไกเพื่อที่จะจัดการนักการเมืองทุจริตให้ได้ นานวันเข้าความคิดที่เน้นไปที่ crime control ก็ขึ้นมาอยู่เหนือเรื่อง due process ในทางจิตวิทยา พอเราเอา “เหตุผลพิเศษ” แบบนี้เป็นตัวตั้ง การวัดความสำเร็จ ก็ไปอยู่ที่ตัดสินเสร็จกี่คดี ลงโทษได้กี่คดี มีนักการเมืองติดคุกบ้างหรือไม่ เราจึงเห็นทิศทางของไทยตั้งแต่ 40 จน 60 ในคดีอาญาของนักการเมือง เน้นไปที่ crime control มากขึ้นๆ
@วิธีพิจารณาคดีแบบ “ไต่สวน” ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญานักการเมืองฉบับ สนช.
ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาเรามีศาลในระบบกฎหมายมหาชนเยอะขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลคดีอาญานักการเมือง ศาลเหล่านี้ใช้วิธีพิจารณาคดีในระบบไต่สวน เรามักบอกกันว่า ประเทศไทยแต่ไหนแต่ไรมาใช้ระบบกล่าวหา ที่การดำเนินกระบวนพิจารณาการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ดำเนินโดยคู่ความว่ากันเป็นหลัก ศาลอยู่ตรงกลาง แต่ระบบไต่สวน การดำเนินพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง ศาลเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก ดังนั้น ระบบไต่สวน ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี
ทั้ง 2 ระบบนี้ต่างก็มีข้อดีข้อเสีย ระบบกล่าวหา ในด้านหนึ่งทำให้ศาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในตัวคดี โดยให้เป็นเรื่องของโจทก์และจำเลยที่ต้องต่อสู้กันให้ชนะ แต่ข้ออ่อนก็มีอยู่ เพราะมีการสืบพยานเยอะจนทำให้คดีมันช้า และหากคู่ความ 2 ฝ่ายมีลักษณะไม่เท่าเทียมกันมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ศาลไม่สามารถลงไปช่วยอีกฝ่ายให้เกิดความเท่าเทียมกันได้ จึงทำให้ระบบไต่สวนถูกนำเข้ามาใช้ อย่างน้อยที่สุดคู่ความจะถ่วงเวลาไม่ได้และ หากสิ่งใดไม่จำเป็นต่อคดีศาลสามารถสั่งให้ตัดทิ้งได้ สามารถเร่งรัดได้มากขึ้น ในกรณีที่คู่ความอยู่ในสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน ศาลสามารถใช้มาตรการเพื่อทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายมีสถานะเท่าเทียมกันได้ เช่น คดีในศาลปกครอง ผู้ถูกฟ้อง คือ หน่วยงานราชการ ซึ่งมักครอบครองเอกสารราชการอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญไว้ หากผู้ถูกฟ้องไม่ยอมนำเอกสารเหล่านี้เข้ามาในคดี เพราะเกรงว่าจะทำให้ตนแพ้ ศาลก็ใช้อำนาจเรียกเข้ามาได้
การดำเนินคดีอาญานักการเมือง มี ป.ป.ช. ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีและชี้มูลความผิด ทำสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากเทียบกับของฝรั่งเศส ศาลคดีอาญารัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี แต่มีหน้าที่พิพากษาอย่างเดียว ระบบของฝรั่งเศสมี 3 ส่วนซ่อนอยู่ ส่วนแรก คือองค์คณะรับฟ้อง ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องและกลั่นกรอง หากรับฟ้องถึงจะไปส่วนที่สอง นั่นคือ องค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คนเป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้เสร็จ ถ้ามีมูลถึงจะส่งไปที่องค์คณะ 15 คนที่ประกอบไปด้วย ส.ส. 6 ส.ว 6 และผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 3 เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคดีในสองประเด็น คือ มีความผิดหรือไม่ และลงโทษเท่าไร
กรณีของไทย ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย จากนั้นก็ชี้มูลความผิดและให้อัยการเป็นผู้เสนอฟ้องไปยังศาล จึงมีนักวิชาการและผู้พิพากษาจำนวนมาก มองว่าเช่นนี้ก็เท่ากับให้ป.ป.ช.เป็นทำหน้าที่เสมือนกึ่งตุลาการที่ทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี ทำนองเดียวกับของฝรั่งเศส โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองไม่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ทำหน้าที่ชี้ขาดคดีเท่านั้น รัฐธรรมนูญกับกฎหมายคดีอาญานักการเมืองของเราจึงเขียนชัดเจนว่าให้ศาลยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลัก แต่ศาลอาจจะแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามสมควร นัยนี้ คือ การแบ่งแยกองค์กรแสวงหาข้อเท็จจริงออกจากองค์กรตัดสินคดี ป.ป.ช แสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์ ส่วนศาลทำหน้าที่ตัดสินคดี การแสวงหาข้อเท็จจริงโดยศาลเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น
ตอนผมทำวิจัยเรื่องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี 2554-2555 ได้ไปค้นคว้าเอกสาร บทความต่างๆ พบว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนมากและนักวิชาการ เห็นว่าป.ป.ช.ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์แล้วก่อนส่งให้ศาล หากสำนวนสมบูรณ์แล้ว ศาลก็ดูแต่ข้อกฎหมาย และพิพากษาอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วางแนวเอาไว้ตอนปี 2546 ว่า ที่กฎหมายบอกให้ยึดสำนวนป.ป.ช. เป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าศาลทำอะไรไม่ได้เลย ศาลยึดตามสำนวน ป.ป.ช. แต่สามารถไต่สวนได้อีก
@เปิดช่องศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่ม
ในมาตรา 6 ตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญานักการเมืองฉบับใหม่โดยเฉพาะในวรรคแรก เขียนเน้นมากขึ้นกว่าเดิม “ให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการรับฟังข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้แม้ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลให้โอกาสแก่คู่ความในการโต้แย้งพยานหลักฐานนั้นแล้ว ก็ให้ศาลรับฟังได้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น” พอเขียนแบบนี้แล้วเท่ากับว่า ที่บอกให้ศาลยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักนั้น ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะในท้ายที่สุดศาลก็ลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เต็มที่อยู่ดี ตกลงแล้ว เราต้องการให้ ป.ป.ช.เป็นอะไรกันแน่ ถ้าจะเอากันแบบนี้ จะมี ป.ป.ช. ไปทำไม ต่อไป ทำสำนวนหลวมๆ มา เอกสารไม่กี่ชิ้น พยานหลักฐานไม่มาก เสร็จแล้วมาถึงศาล ให้ศาลจัดการเอง แบบนี้หรือ?
ที่ผ่านมาศาลลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งศาลอ้างว่าเป็นระบบไต่สวน ศาลจึงมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้มาก อย่างไรก็ตาม ระบบไต่สวน ไม่ได้หมายความถึงระบบอะไรก็ได้ที่ศาลจะใช้ตามความต้องการ แต่อำนาจต่างๆ ตามระบบไต่สวนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานที่ให้หลักประกันสิทธิแก่คู่ความในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ได้แก่ หลักการต่อสู้โต้แย้ง หลักความเสมอภาคระหว่างคู่ความ ดังนั้น ระบบไต่สวน จึงเป็นระบบที่ให้ศาลเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินกระบวนพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาและการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ต้องเคารพหลักการต่อสู้โต้แย้งและหลักความเสมอภาคระหว่างคู่ความด้วย
ในกรณีที่ศาลใช้มาตรการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อเท็จจริงใดมา ก็ต้องเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้ง และการใช้มาตรการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของศาลนั้นก็ต้องไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ
วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในประเทศไทย รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเขียนไว้ชัดว่าให้ใช้ระบบไต่สวน แต่ยังเขียนด้วยว่า ในการพิจารณาคดี ให้ใช้สำนวน ป.ป.ช. เป็นหลัก นั่นหมายความว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์แล้ว ส่วนศาลมีหน้าที่ชี้ขาดพิพากษา หากศาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก กฎหมายก็ยอมให้ทำได้ แต่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น หากศาลจะใช้ข้อยกเว้น ด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระบบไต่สวน ก็ต้องไม่ทำให้ความเสมอภาคระหว่างโจทก์และจำเลยเสียไป หากรักษาดุลยภาพตรงนี้ไว้ไม่ดี ก็จะกลายเป็นว่า ศาลลงไปช่วย ป.ป.ช. ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดกับจำเลย
ผมคิดว่า ป.ป.ช.ควรต้องทำหน้าที่นี้ หากเรายอมให้ ป.ป.ช.แสวงหาข้อเท็จจริงแบบไม่สมบูรณ์ แล้วก็ทำสำนวนให้เสร็จๆ ไปเพื่อชี้มูลความผิดไปก่อน แล้วเดี๋ยวให้ศาลฎีกาไปว่ากันเอง รับไปจัดการต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็กลายเป็นว่า ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นเดียวเป็นทั้งองค์กรผู้ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริง และเป็นทั้งองค์กรพิพากษาด้วย ลงไปหาทุกอย่างแล้วพิพากษาเอง เท่ากับไปรวมอำนาจอยู่ที่เดียว ไม่ได้ดุลยภาพ ศาลแบบนี้มีที่เดียว คือ ศาลไคฟงของเปาบุ้นจิ้น
ลองคิดเปรียบเทียบกับการดำเนินคดีอาญาตามระบบปกติดู ตำรวจ อัยการ ทำสำนวนมา ถ้าบรรยายฟ้องไม่ดี บรรยายไม่ครบองค์องค์ประกอบความผิด ข้อเท็จจริงอ่อนมาก ตัดสินลงโทษไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้องไป เราอาจเคยเห็นหลายคดีที่สะเทือนขวัญ ที่เป็นข่าวดังๆ สังคมคาใจมากว่าศาลยกฟ้องได้อย่างไร ก็อธิบายกันว่า สำนวนมันอ่อนมาแต่แรก พยานหลักฐานไม่สมบูรณ์มาแต่แรกแล้ว ศาลก็ต้องยกฟ้องไป แต่พอเป็นคดีอาญาของนักการเมือง บอกให้เอาสำนวนป.ป.ช.เป็นหลัก ถ้าสำนวนอ่อน ข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็จะกระทบกับหลักความเสมอภาคของคู่ความ พอฝ่ายโจทก์ทำมาไม่ดี ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มโดยอ้างอำนาจตามระบบไต่สวน แบบนี้จำเลยเขาก็ย่อมรู้สึกได้ว่าศาลต้องการเล่นงานเขาใช่หรือไม่
@ปลดล็อคพิจารณาคดีลับหลังจำเลย – ให้สิทธิในการตั้งทนายสู้ แต่การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอาจมีผลต่อการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเคร่งครัดกับเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยมาก มีข้อยกเว้นให้ทำได้ไม่กี่เรื่องใน ป.วิอาญา มาตรา 172 ทวิเท่านั้น แนวของศาลไทยจึงไม่ยอมพิจารณาลับหลังจำเลยโดยเด็ดขาด เว้นแต่เข้าข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม กรณีคดีอาญาของนักการเมืองกลับต่างออกไป เรายอมให้มีการดำเนินคดีลับหลังจำเลยได้ ตั้งแต่เริ่มใช้ระบบนี้ ในข้อกำหนดของศาลฎีกา 2543 ข้อ 10 เขียนไว้ชัดว่า ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้จำเลยมาปรากฏตัวในศาลในการพิจารณาคดีนัดแรกเสียก่อน หากไม่มา ศาลจะพิจารณาคดีต่อไม่ได้ แต่ถ้ามานัดแรก แล้วนัดต่อๆ มา ไม่มา หรือหนีไป ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยได้ โดยศาลมองว่า การนำตัวจำเลยมานัดแรก แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมเข้าสู่อำนาจของศาลแล้ว หากต่อมาหลบหนีไป ก็สามารถพิจารณาลับหลังได้
ที่ผ่านมา มีกรณีการพิจารณาลับหลังจำเลยเกิดขึ้นหลายกรณีแล้ว เช่น คดีกล้ายาง ซึ่งมีจำเลยหลายคน บางคนมา บางคนไม่มา รวมทั้งคดีที่ดินรัชดาด้วย แต่ก็มีอีกหลายคดีที่ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยต่อไปไม่ได้ เพราะจำเลยไม่มาศาลตั้งแต่นัดแรก ได้แก่ คดีที่คุณทักษิณถูกฟ้องหลายคดี
การพิจารณาคดีอาญานักการเมืองแบบลับหลังจำเลยนี้ ขัดหลักการต่อสู้โต้แย้ง และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ในขณะที่ระบบวิธีพิจารณาความอาญาปกติของไทย ยอมให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอย่างจำกัดมาก มีการอธิบายว่า วิธิพิจารณาความอาญานักการเมืองยอมให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ เพราะการพิจารณาคดียึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก เป็นการพิจารณาในทางเอกสารเป็นหลัก แม้จำเลยไม่อยู่ก็สามารถพิจารณาได้ เพราะศาลแทบไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเท่าไรแล้ว เนื่องจากใช้สำนวนของ ป.ป.ช. เหตุผลนี้ ก็พอรับฟังได้อยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า เกือบทุกคดี ศาลไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเสมอ เรียกบุคคล เรียกเอกสารใหม่มาสืบกันอยู่เสมอ เมื่อจำเลยไม่อยู่ ก็น่าคิดว่าการพิจารณาคดีต่อไปจะกระทบสิทธิในการต่อสู้หรือไม่
ร่างใหม่ที่ สนช.เพิ่งโหวตกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปลดล็อกหมดเลย ต่อจากนี้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทั้งหมด จากเดิมต้องเอาเขามาศาลให้ได้ครั้งหนึ่งก่อน แต่จากนี้แม้ว่าจะนำจำเลยมาศาลไม่ได้ ศาลก็ประทับรับฟ้องได้เลยแล้วออกหมายจับ ผ่านไปสามเดือนยังจับไม่ได้ ศาลก็พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทันที ตามที่ปรากฏในมาตรา 26, 27
กรธ.หลายท่านอ้างถึงกฎหมายฝรั่งเศส ที่จริงแล้วกฎหมายฝรั่งเศสมีปัญหาในตัวของมันอยู่หลายเรื่อง แต่ก่อนฝรั่งเศส อนุญาตให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เรียกว่า “contumace” โดยระบบกฎหมายฝรั่งเศสมองว่าจำเลยสมัครใจที่จะสละสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพราะหนี ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายหากศาลอยากดำเนินคดีลับหลังก็ทำได้ โดยในการพิจารณาลับหลังนี้ พิจารณาจากเอกสารเป็นหลัก ไม่มีการสืบพยานบุคคล ไม่มีการโต้แย้งทางวาจา ไม่มีลูกขุน และจำเลยที่หลบหนีไปจะตั้งทนายเข้ามาสู้คดีไม่ได้
ต่อมา ในปี 2001 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงโทษฝรั่งเศส เพราะการดำเนินคดีลับหลังจำเลยที่ตัดสิทธิทนายจำเลยไม่ให้เข้าแก้ต่างในคดีนั้น ละเมิดต่อหลักการต่อสู้โต้แย้ง ขัดกับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามมาตรา6 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป จึงทำให้ฝรั่งเศสต้องแก้กฎหมายในปี 2004 เพื่อยกเลิก “contumace” และมาใช้วิธีพิจารณาลับหลังจำเลยในลักษณะที่ว่าถ้าหากจำเลยหนีไป แล้วอยากให้มีทนายมาสู้ก็ทำได้ แต่ถ้าจำเลยไม่มา ทนายก็ไม่มา ศาลมีทางเลือกว่าจะเลื่อนคดีออกไปหรือพิพากษาลับหลังไปเลยก็ได้ทำได้สองแบบ โดยจำเลยอุทธรณ์ไม่ได้ แต่ถ้าตามจับได้แล้วคดียังอยู่ในอายุความก็ต้องพิจารณาคดีใหม่อีกรอบหนึ่ง ทั้งหมดนี้ใช้กับคดีอาญาทั่วไป แต่ในส่วนคดีอาญาของนักการเมืองกฏหมายฝรั่งเศสยังกำหนดให้ดำเนินคดีแบบ “contumace” ได้อยู่เฉพาะในความผิดอาญาที่มีโทษสูงระดับอุกฤษฏ์โทษ ซึ่งเป็นไปได้ว่ากฎหมายคดีอาญาทางการเมืองของฝรั่งเศสน่าจะขัดกับกฎหมายอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปอีกเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหาในอนาคต เพราะระบบศาลพิเศษของฝรั่งเศสคงถูกยกเลิกไปเร็วๆ นี้
ที่ กรธ.อ้างว่าฝรั่งเศสก็ยอมให้ใช้ ก็มีส่วนถูก อีกประเทศที่มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยมาก คืออิตาลี อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมให้มีการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย หรือยอมให้มีแบบจำกัดจริงๆ ดังนั้น เรื่องแบบนี้จึงเป็นนิตินโยบายโดยแท้ ถ้าประเทศไหนยอมให้มีการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย แล้วจะขัดกับอนุสัญญายุโรป หรือ ICCPR หรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นเอา ซึ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาติตาม ICCPR ยอมรับให้มีการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ในฐานะเป็นข้อยกเว้น แต่ต้องมีมาตรการที่สร้างหลักประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้งของจำเลยไว้ด้วย
ผมเห็นว่า หากเรายอมให้พิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย อาจส่งผลถึงกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ได้ ในกรณีที่จำเลยหลบหนีไปต่างประเทศ ต่อมาศาลดำเนินคดีลับหลังจำเลย และพิพากษาลงโทษจำเลย จึงต้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จำเลยที่หลบหนีอยู่นั้น มักคัดค้านขอให้ประเทศที่ตนอยู่นั้นไม่ส่งกลับ โดยใช้ข้ออ้างว่า คดีของตนเกิดจากการพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งหลายกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ข้ออ้างนี้ใช้คัดค้านการส่งตัวกลับได้สำเร็จ
@จับตาคดี “ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์” หลัง ม.67 บทเฉพาะกาลมีผลย้อนหลัง
มาตรา 67 บทเฉพาะกาล ร่างแรกที่ทาง กรธ.เสนอ บอกว่าบทบัญญัติในกฎหมายประกอบฉบับใหม่นี้ไม่ให้ใช้แก่คดีก่อนหน้านั้น เว้นแต่เรื่องอุทธรณ์ นั่นเท่ากับว่าในสายตาของกรธ.มองว่า การอุทธรณ์เป็นคุณ จึงย้อนหลังได้ จำเลยมีสิทธิสู้คดีอีกชั้น ส่วนเรื่องอื่นเป็นโทษมีผลย้อนหลังไม่ได้ แต่เมื่อร่างไปถึง สนช.มีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 67 อย่างมีนัยสำคัญ กฎหมายใหม่ให้ใช้กับคดีที่ฟ้องมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด เท่ากับว่าคดีของคุณทักษิณ กับคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องใช้ตามกฎหมายใหม่นี้ นั่นคือหากไม่ปรากฏตัวศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ระยะเวลาที่หลบหนีไม่นำมานับรวมเป็นอายุความ การหลบหนีไม่เป็นเหตุให้นำ ป.อาญา มาตรา 98 มาใช้ อย่างคดีที่ดินรัชดาที่คุณทักษิณโดนจำคุก 2 ปี หากผ่านไป 10 ปีนับจากวันพิพากษา ก็ไม่ต้องรับโทษแล้ว แต่กฎหมายใหม่ไม่ให้นำมาตรา 98 มาใช้ ดังนั้น จะผ่านไปกี่ปี โทษจำคุก 2 ปีนี้ก็ยังอยู่ แล้วก็คดีที่ฟ้องคุณทักษิณไว้ และศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวเพราะคุณทักษิณไม่มาศาลตั้งแต่แรก คดีพวกนี้ ศาลสามารถพิจารณาลับหลังได้
ตามหลักแล้ว การใช้กฎหมายอาญาให้มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายไม่สามารถทำได้ ความเห็นทั้งในทางตำราและคำพิพากษา บอกว่า “กฎหมายอาญา” ที่ห้ามใช้ย้อนหลังเป็นผลร้าย หมายถึง กฎหมายอาญาในส่วนสารบัญญัติเท่านั้น ได้แก่ การกำหนดฐานความผิด การกำหนดองค์ประกอบความผิด การกำหนดโทษ ส่วนกฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติ หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความ ไม่อยู่ในความหมายนี้ ดังนั้น จึงใช้ย้อนหลังได้ กฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติ ก็เช่น เขตอำนาจศาล การจัดองค์กรศาล เงื่อนไขการฟ้องคดี อายุความ พยานหลักฐาน เป็นต้น ดังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ เขตอำนาจศาล พยานหลักฐาน วิธีพิจารณาความ หากประสงค์ให้ใช้กับคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้า หรือการกระะทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ก็สามารถกำหนดลงไปให้ชัดเจนได้ในกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นอยู่ คือ หากกฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความที่ใช้ย้อนหลังนั้น มีอิทธิพลต่อกฎหมายอาญาส่วนสารบัญญัติ ส่งผลต่อความรุนแรงของโทษ อัตราโทษ ทำให้จำเลยต้องรับโทษเพิ่มขึ้น เช่นนี้ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายอาญาส่วนสบัญญัตินั้นย้อนหลังได้
กรณีมาตรา 67 นี้ เขียนไว้แบบทั่วไป เพราะคงไม่มีใครกล้าเขียนกฎหมายเพื่อเจาะจงมาใช้กับคนใดคนหนึ่งแบบระบุชื่อลงไปแน่ จะมาเจาะจงเขียนว่ากฎหมายนี้ให้ใช้กับนายทักษิณ คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าดูบริบทแวดล้อมประกอบกัน ใครๆ ก็คงมองออกว่าการย้อนหลังนี้ต้องการใช้กับใคร คดีใด คุณคำนูณ คุณสุริยะใส ออกมาอธิบายเป็นฉากๆ ผู้สื่อข่าวเห็นแล้วก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ยังเอาไปสัมภาษณ์ผู้ร่างเลย
ผมเห็นว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาบริบทการเมืองไทยตั้งแต่ 2548 ประกอบด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหลายกรณีมีปัญหา มีข้อวิจารณ์จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในหลายๆ คดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พูดง่ายๆ คือ คดีที่พัวพันกับการเมืองอันเป็นผลมาจาก “ตุลาการภิวัตน์” มีคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัย มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม คณะนิติราษฎร์จึงเคยเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร แล้วเอาคดีพวกนี้มาเริ่มต้นใหม่ตามระบบปกติ พอมาวันนี้ มีการออกกฎหมายใหม่ย้อนหลังไปถึงคดีพวกนี้อีก แล้วคนออกเป็นใคร ก็เป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารทั้งนั้น ช่วงเวลาแห่งการออกคือตอนไหน ก็เป็นช่วงเวลาหลังรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลเลือกตั้งจากกลุ่มการเมืองกลุ่มเดิม ผมจึงเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ไม่ชอบธรรมเท่าไร โอเค อาจอธิบายจากหลักกฎหมายไปว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าเราพิจารณาตลอดสาย มันเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2549 ต่อเนื่องมาถึง 2557
@ระบบ “Concrete control” ของไทย หากคู่ความยื่นเรื่องตรวจสอบกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ศาลแห่งคดีต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเสมอ
ฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์ได้เสนอคำร้องต่อศาลฎีกาให้ส่งประเด็นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ในกรณีที่ศาลจะนำกฎหมายมาใช้แก่คดี หากคู่ความเห็นว่า กฎหมายนั้นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ คู่ความอาจเสนอคำร้องให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ศาลแห่งคดีของคุณยิ่งลักษณ์ก็คือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะไม่ส่งประเด็นนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่? คำตอบ คือ ไม่ได้ การตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญแบบรูปธรรม หรือ concrete control ในประเทศไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราใช้ระบบบังคับส่ง หมายความว่า เมื่อคู่ความโต้แย้งมา ศาลแห่งคดีต้องส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเสมอ เพราะ มาตรา 212 ไม่มีส่วนที่ให้ศาลแห่งคดีใช้ดุลยพินิจไม่ส่งได้ เงื่อนไขเบื้องต้นของ 212 มีเพียงต้องเป็นประเด็นเรื่องกฎหมายที่จะใช้แก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ ซึ่งกรณีที่เราพูดถึงอยู่นี้ เป็นกรณีที่โต้แย้งว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ขัดรัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 พึ่งประกาศใช้เอง
มาตรา 5 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ระบุว่า “การพิจารณาคดีให้ศาลยึดตามรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร” ฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์โต้แย้งว่ามาตรานี้ขัดต่อมาตรา 235 วรรค 6 รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า “การพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนของป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาและเพื่อประโยชน์ต่อความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้” ขณะที่ศาลได้นำมาตรา 5 มาใช้กับคดีแล้ว โดยศาลได้อนุญาตให้ป.ป.ช.นำพยานหลักฐานที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนป.ป.ช.เพิ่มเข้ามา ทางจำเลยจึงโต้แย้งว่า นี่ไม่ได้อยู่ในสำนวนป.ป.ช. แต่ศาลอนุญาตให้นำเข้าโดยอ้างมาตรา 5 ว่า ศาลต้องยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักก็จริง แต่ศาลอาจไต่สวนเพิ่มเติมได้ตามสมควร
เท่าที่ผมตามความเห็นต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าว มีความเห็นเป็น 2 แบบ แบบแรกเห็นว่า มาตรา 5 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ว่าถ้อยคำจะต่างกัน แต่เนื้อหาไม่ได้ต่างกัน และเป็นเอกลักษณ์ของระบบไต่สวนอยู่แล้วที่ให้อำนาจศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ แบบสอง เห็นว่าขัด เพราะว่ามาตรา 5 บอกว่าศาลสามารถไต่สวนเพิ่มได้ตามสมควร คำว่า “ตามสมควร” เป็นดุลพินิจแท้ๆ ของศาล แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรรค 6 กำหนดว่า ศาลสามารถไต่สวนเพิ่มเติมได้ “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” เท่านั้น การไต่สวนของศาลนี้เป็นข้อยกเว้น ทำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งก็คือหลักประกันสิทธิของคู่ความทั้งหลาย เช่น การต่อสู้โต้แย้ง ความเสมอภาคระหว่างคู่ความ
มีข้อสังเกตน่าสนใจจากตัวร่างใหม่ที่สนช.โหวตผ่าน ในร่างแรกที่ กรธ.เสนอ มาตรา 6 เขียนเหมือนกับมาตรา 5 ของกฎหมายปัจจุบัน คือ “ตามสมควร” แต่พอถึงชั้น สนช. ได้แก้ไขมาตรา 6 ใหม่ โดยเขียนให้โดยมีนัยยะให้ล้อไปกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค 6 โดยเพิ่มคำว่า”และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” เข้ามา นัยนี้หมายความว่า ถ้อยคำ “ตามสมควร” กับ “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” นี้มีนัยต่างกันจริงๆ เพราะ ถ้ามีนัยไม่ต่างกัน สนช ก็ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนถ้อยคำนี้ให้ล้อตามรัฐธรรมนูญใหม่
เมื่อศาลฎีกาส่งประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลก็จะพิพากษาคดีจำนำข้าวไม่ได้ จึงมีคนคิดกันว่านี่คือการประวิงเวลาไว้ ผมคิดว่าถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ยังมีโอกาสถ่วงเวลา เพราะศาลแห่งคดีต้องหยุดกระบวนพิจารณาไว้เลย แต่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราได้แก้ปัญหานี้ไป โดยกำหนดว่า เมื่อศาลแห่งคดีส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลแห่งคดีสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ เพียงแต่ต้องรอการพิพากษาไว้ก่อน และในการตรวจสอบว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญคงใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่นาน
You must be logged in to post a comment Login