วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อย่าคิดว่า‘หนี’

On July 26, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

คดีจำนำข้าวที่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นจำเลยฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตสร้างความเสียหาย พลันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดวันอ่านคำพิพากษา 25 สิงหาคมที่จะถึงนี้ก็มีความเห็นและบทวิเคราะห์ออกมามากมาย

หนึ่งในบทวิเคราะห์คือการตั้งข้อสังเกตว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ อาจหนีไม่มาฟังคำตัดสินเดินตามรอยเท้าพี่ชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่บทวิเคราะห์นี้อาจเป็นหมันเมื่อมีความชัดเจนจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์แล้วว่า “ไม่หนี”

ทั้งนี้ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ใจความว่า

“ดิฉันอยากจะสะท้อนถึงความพยายามต่างๆในการกระทำที่เสมือนสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อชี้นำคดี ก่อนที่จะมีผลตัดสินของศาลฎีกาฯ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว แต่ในที่สุดรัฐบาลก็เลือกที่จะทำ เพราะคิดว่าตนมีอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ รวมทั้งไม่รอคำสั่งศาลปกครองที่ดิฉันได้ขอให้ทุเลาการบังคับคดีไว้

แม้วันนี้ ดิฉันจะถูกอายัดบัญชีธนาคาร และกำลังจะถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมด จนต้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลา คงได้แต่บอกว่าดิฉันยังเข้มแข็ง และพร้อมยืนหยัดต่อสู้ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจว่า ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ผ่านการแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลอย่างหมดใจ ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ค่ะ ซึ่งดิฉันก็จะทำอย่างดีที่สุด

ดิฉันขอเปลี่ยนกำลังใจจากแฟนเพจและพี่น้องประชาชน มาเป็นพลังให้ดิฉันได้มีความเข้มแข็งและอดทนค่ะ

ถึงจะไม่ได้ประกาศว่าจะอยู่ฟังคำตัดสิน แต่เมื่อประกาศอย่างมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ประมาณได้ว่าไม่หนีแน่

สเต็ปต่อไปคือรอดูการแถลงปิดคดีในวันที่ 1 สิงหาคมว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะแถลงอะไรบ้าง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้หนึ่งที่ออกความเห็นไว้อย่างน่าสนใจผ่านการโพสต์ลงเฟซบุ๊ก Kittiratt Na-Ranong โดยระบุถึงการใช้คำสั่งทางปกครองยึดทรัพย์อดีตนายกฯว่า

การยึดทรัพย์ไม่ได้ใช้กระบวนการทางศาล แต่เป็นการใช้อำนาจของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้หวั่นเกรงว่าเมื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนแล้ว จะต้องตกเป็นผู้รับผิดทางแพ่งต่อเอกชน ตามประมวญกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีข้อความสำคัญระบุอยู่ในตอนท้ายของ หมายเหตุ ของพระราชบัญญัติ ที่มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

…จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น …

ท่านลองถามใจตนเองนะครับว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลน่ะอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์

1.จงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือ? (อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ทำนา มีโรงสี หรือทำธุรกิจค้าข้าว อันได้ผลเจริญรุ่งเรือง เมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล หรือ?)

2.จงใจให้เกิดความเสียหาย หรือ? (อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ มุ่งให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลใช้งบประมาณของรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะตกอยู่แก่ชาวนาจำนวนกว่า 15 ล้านคน และส่งผลดีเป็นกำลังซื้อมหาศาลแก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างคุ้มค่า หรือ?)

3.ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ? (การบริหารโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ที่มีส่วนราชการร่วมบริหารงานอย่างบูรณาการณ์และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ พร้อมด้วยอนุกรรมการอีกกว่า 10 คณะปฏิบัติหน้าที่ จะเกิดการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้หรือ?)

ถ้าคำตอบที่ท่านได้จากใจของท่านคือ ไม่ใช่… ไม่ใช่… และไม่ใช่… สิ่งนี้ คือ อภินิหารของกฎหมาย กระมังครับ?

จากโพสต์นี้จับความได้ว่า “อภินิหารของกฎหมาย” เกิดได้ทุกเวลา


You must be logged in to post a comment Login