วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ยึด!

On July 28, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมายืนยันเงินในบัญชีที่ถูกอายัดได้ถูกถอนออกไปแล้วนั่นเท่ากับว่ากระบวนการยึดทรัพย์ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ซึ่งเป็นการออกคำสั่งทางปกครองให้ยึดทรัพย์โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจศาลได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามจากข้อสงสัยที่ว่าทำไมไม่รอผลการตัดสินจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกมาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ก่อนหากศาลชี้ว่าผิดจึงดำเนินการยึดทรัพย์

ในตอนแรก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกมาบอกว่าจะรอผลตัดสินจากศาลก่อน และยืนยันด้วยว่าหากศาลตัดสินว่าไม่ผิดกระบวนการต่างๆต้องยกเลิก

อย่างไรก็ตามแค่ข้ามมาอีกวันเหตุการณ์กับกลับตาลปัตรเมื่อ “บิ๊กตู่” ออกมาบอกว่าการยึดทรัพย์โดยใช้คำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดเป็นคนละส่วนกันกับคดีที่ศาลพิจารณาอยู่

“เป็นคนละเรื่องกัน การอายัดบัญชีเป็นเรื่องของมาตรการทางการปกครอง ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งนี้อาจมีสามคดีก็เป็นได้ คือ หากศาลตัดสินว่าผิดก็ต้องมีการชดใช้ เป็นอีกคดีหนึ่ง ขณะที่คดีเก่าก็ต้องดำเนินการต่อไป และขณะนี้มีการขอบรรเทาศาลอยู่ (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นศาลปกครองสั่งทุเลาการยึดทรัพย์) หากศาลให้ทุเลาก็ต้องหยุดก่อน  ถ้าศาลไม่ให้ทุเลาก็ทำต่อ ยึดทรัพย์ต่อก็เป็นเรื่องมาตรการทางปกครอง ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสิทธิร้องศาลปกครองได้ ไม่ใช่ยึดแล้วต้องยึดเลย ร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้ จึงขออย่านำมาปะปนกัน”

จากสิ่งที่ท่านผู้นำพูดสรุปได้ว่าการดำเนินการกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอนนี้มี 3 คดีคือ 1.ยึดทรัพย์โดยใช้คำสั่งทางปกครองซึ่งต้องเดินหน้าต่อไป 2.ความผิดทางอาญาที่อัยการเป็นโจยท์ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯที่จะตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคม และ 3.หากศาลฎีกาฯตัดสินว่ามีความผิดจะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งตามมาอีกคดี

เช่นเดียวกับมือกฎหมายรัฐบาลอย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันทำนองเดียวกันว่ากรณีจำนำข้าวมีอยู่หลายคดีคดีอาญาของนักการเมืองนั้นไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมซึ่งหากศาลฎีกาฯตัดสินว่า มีความผิดก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีแพ่งต่อไป ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการยึดทรัพย์โดยใช้คำสั่งทางปกครอง โดยกรณีนี้มีอายุความ 10 ปีตรวจพบทรัพย์สินอะไรบ้างก็ต้องยึด หากไม่ดำเนินการจะถือว่าเจ้าหน้าที่บกพร่อง

“ทรัพย์สินที่ตรวจพบแยกเป็นสองส่วนคือสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ เงินฝากอยู่ในธนาคารต่างๆ ที่ตอนนี้ตรวจพบแล้วว่ามีอยู่ 10-20 บัญชี รวมแล้วเป็นจำนวนเงินไม่มาก จำเป็นต้องถูกอายัดไว้ก่อน ถูกฟรีซเอาไว้ เพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายจ่ายโอน การที่กรมบังคับคดีถอนเงินจากบัญชีออกมาเก็บไว้ก่อนมีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย แต่ยังไม่ถูกยึดมาเป็นของหลวง อีกกรณีคืออสังหาริมทรัพย์ คือที่ดิน บ้าน คอนโดฯ ได้ถูกตรวจพบว่า มีประมาณ 37 รายการ มีมูลค่าจำนวนหนึ่ง แต่ขอไม่ระบุตัวเลข ซึ่งกรมบังคับคดี ได้ประสานกับกรมที่ดินเพื่อขอฟรีซทรัพย์นั้นไว้เช่นกัน เพื่อไม่ให้มีการทำธุรกรรม จำหน่าย จ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดเข้ารัฐเช่นกัน และยังไม่ถูกนำมาขายทอดตลาด”

ไฮไลต์สำคัญจากการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุคือการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า หากศาลฎีกาฯตัดสินว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ผิดเงินที่กรมบังคับคดีถอนออกมาต้องคืนให้น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ คำตอบที่ได้คือ

“เป็นคนละส่วนกัน ระหว่างคำตัดสินของศาลฎีกาฯกับคดีแพ่ง”

ดังนั้นไม่ว่าวันที่ 25 สิงหาคมศาลฎีกาฯจะตัดสินออกมาอย่างไรการยึดทรัพย์โดยใช้คำสั่งทางปกครองจะดำเนินการต่อไปหากไม่มีคำสั่งให้ยกเลิก หากตัดสินว่าผิดก็จะไปเอาผิดทางแพ่งให้ชดใช้อีกทางหนึ่ง

สรุปคืออย่างไรก็ยึดทรัพย์

หากยังปล่อยให้หน่วยงานทางปกครองตั้งเรื่องเอง สั่งยึดอายัดทรัพย์เองโดยไม่รอการพิจารณาของศาลแบบนี้ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร การพิจารณาของศาลยังจะมีความหมายอยู่อีกหรือ กลายเป็นว่าหน่วยงานทางปกครองยิ่งใหญ่กว่าศาลหรือ

เป็นประโยคคำถามจากนายนพดล หลาวทอง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่สังคมต้องร่วมกันหาคำตอบ


You must be logged in to post a comment Login