วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ก่อนวันพิพากษา

On July 31, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ทิศทางการเมืองสัปดาห์นี้ถูกโฟกัสไปที่การแถลงปิดคดีจำนำข้าวที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะแถลงด้วยตัวเองที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

นอกจากต้องดูเนื้อหาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะแถลงต่อศาลฎีกาฯแล้ว สิ่งที่ต้องดูคือศาลฎีกาฯจะรับคำร้องของทีมทนายอดีตนายกฯที่ไปยื่นเรื่องซ้ำขอให้ศาลฎีกาฯส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 5 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542  ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 235 หรือไม่

ก่อนหน้านี้ทีมทนายความอดีตนายกฯได้ยื่นเรื่องต่อศาลไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันสืบพยานนัดสุดท้าย ให้ส่งตีความคำร้องโต้แย้งคัดค้านเพิ่มเติมพยาน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 277 แต่ศาลฎีกาฯเห็นว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ที่จะต้องส่งตีความ

อย่างไรก็ตาม ทีมทนายความอดีตนายกฯได้ไปยื่นเรื่องให้ส่งตีความอีกครั้งหลังจากที่มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นว่าการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามข้อกำหนดรัฐธรรมนูญมาตรา 212 เป็นสภาพบังคับไม่ใช่ให้ใช้ดุลพินิจ

หมายความว่าเมื่อมีข้อโต้แย้งต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเท่านั้น

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 212 กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า

ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคําวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดําเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคําโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคําพิพากษาของศาล อันถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่ในคดีอาญาให้ถือว่าผู้ซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทําความผิดตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5 นั้น เป็นผู้ไม่เคยกระทําความผิดดังกล่าว หรือถ้าผู้นั้นยังรับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัวไป แต่ทั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใดๆ

วันแถลงปิดคดี 1 สิงหาคมนี้จึงต้องดูว่าศาลฎีกาฯจะยืนคำเดิมคือไม่ส่งตีความหรือเปลี่ยนใจส่งตีความตามที่ทีมทนายความอดีตนายกฯยื่นคำร้อง โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาคือการยื่นตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 เป็นสภาพบังคับที่ต้องส่งตีความหรือให้ศาลฎีกาฯใช้ดุลพินิจได้ว่าคำร้องเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 212 ที่ต้องส่งตีความหรือไม่ได้

ความสำคัญของเรื่องนี้คือหากส่งตีความการนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 25 สิงหาคมอาจต้องเลื่อนออกไปเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่หากส่งไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความการอ่านคำพิพากษาดำเนินการได้ตามกำหนดเดิม

อย่างไรก็ตาม จะส่งตีความหรือไม่ หรือส่งตีความแล้วผลการตีความจะออกมาอย่างไรก็ไม่กระทบต่อสาระสำคัญคดี จะมีผลเพียงทำให้การตัดสินคดียืดเยื้อออกไปหรือไม่เท่านั้น

จะช้าหรือเร็วคดีจำนำข้าวก็ต้องถูกตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแห่งทางการเมือง


You must be logged in to post a comment Login