- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ยุคสงครามโดรน / โดย ณ สันมหาพล
คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล
การใช้โดรนทำสงครามเกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามอาหรับ-อิสราเอลปี 2516 เมื่อกองทัพอิสราเอลปล่อยโดรนที่ใช้ซ้อมยิงอาวุธทางอากาศเพื่อหลอกกองทัพอียิปต์ให้ยิงขีปนาวุธป้องกันเครื่องบินโจมตี ปรากฏว่าอียิปต์ยิงจนหมดคลัง ทำให้กองทัพอิสราเอลส่งเครื่องบินโจมตีจนกองทัพอียิปต์วายวอด
ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้วงการอาวุธเร่งพัฒนาและผลิตโดรน ซึ่งสหรัฐได้นำไปใช้กับกลุ่มก่อการร้ายในหลายประเทศ มีการเก็บยอดผู้เสียชีวิตจากการถูกโดรนรบสหรัฐโจมตีเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วว่ามีจำนวนกว่า 6,000 คน
ปัจจุบันการพัฒนาโดรนรบได้ดำเนินการถึงรุ่นในอนาคต (future model) นอกเหนือจากประเทศมหาอำนาจแล้ว ยังมีประเทศที่พัฒนาโดรนอีกเกือบ 20 แห่ง เช่น อินเดีย ปากีสถาน กรีซ สเปน ตุรกี บัลแกเรีย และแอฟริกาใต้ โดยทำผ่านบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการบิน
ต้นแบบโดรนรบในอนาคตที่พูดถึงกันมาก อาทิ Dark Sword ของจีน ซึ่งเผยโฉมให้เห็นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นโดรนรบที่แผ่ปีกกว้างและเรดาร์จับไม่ได้ ไม่แตกต่างจากโดรนรบ Boeing X-45 ของสหรัฐที่เรียกว่า Warrior Eagle หรืออินทรีนักรบ โดยวงการอาวุธถือว่ารุดหน้าที่สุด รองลงมาคือ BAE Taranis พัฒนาโดย BAE บรรษัทอากาศยานสหราชอาณาจักร และทดลองบินครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งมีน้ำหนักถึง 8,000 กิโลกรัม เท่าเครื่องบินรบรุ่น Hawk ที่บรรษัทนี้ผลิต ถือเป็นโดรนรบที่ใหญ่ที่สุด ปลอดเรดาร์ และติดอาวุธที่ใช้ทั้งโจมตีและป้องกันตัวเอง
ที่สำคัญคือ full autonomy ทำทุกอย่างได้โดยอัตโนมัติ ครอบคลุมถึง think for itself รู้จักดูแลตัวเอง คือเวลาออกปฏิบัติการถ้าเจอปัญหาขัดข้องโดรนจะคิดหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง เหมาะอย่างยิ่งกับการทำสงครามโดรน เพราะถ้าโดรนพลาดไม่สามารถทำลายเป้าหมายได้ก็จะบินกลับไปโจมตีอีกครั้งหรือหลายครั้งจนกว่าจะสำเร็จ
ส่วนโดรนรบ Boeing X-45A ของสหรัฐ ซึ่งจีนลอกไปผลิตเลียนแบบภายใต้โครงการ Joint Unmanned Combat Air Systems (J-UCAS) หรือโครงการร่วมพัฒนาระบบการรบทางอากาศไม่ใช้คนระหว่างกองทัพเรือและกองทัพอากาศ สหรัฐมอบให้สำนักงาน DARPA เป็นผู้ดูแล ส่วนผู้พัฒนาและผลิตคือบริษัทสร้างเครื่องบินโบอิ้ง เพราะถือเป็นบริษัทชั้นเยี่ยมทั้งผู้บริหารและผู้พัฒนา โดรนรบที่สร้างขึ้นจึงได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยม คือมีคุณสมบัติที่ล้ำยุคครบถ้วน แล้วยังติดตั้งระบบโจมตีที่แม่นยำ แทบไม่มีโอกาสพลาด สามารถบรรทุกระเบิดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็ก (Small-Diameter Bomb) เพื่อทำลายกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดินได้อีกด้วย
โดรนรบสุดยอดลำนี้จะนำไปประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐเพื่อเพิ่มแสนยานุภาพในการรบ สามารถส่งไปถึงเป้าหมายเพื่อโจมตีข้าศึกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความสำคัญมากในสงครามโดรน เพราะยุทธศาสตร์การสู้รบในอนาคตเป็นสงครามในจินตนาการที่ต้องมองอย่างทะลุปรุโปร่งและสามารถโจมตีประเทศเป้าหมายได้อย่างราบคาบ ต้องไม่ให้ประเทศศัตรูสามารถส่งโดรนรบมาโต้ตอบได้
ดังนั้น ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์ การมีโดรนรบอาจเป็นผลดีต่อสันติภาพโลกก็ได้ เพราะทำให้ประเทศที่ใช้กำลังทหารในการป้องกันประเทศตระหนักถึงสงครามรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการทำให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของคำว่าสันติภาพ
ความคิดที่แต่ละประเทศจะทุ่มงบประมาณทางทหารก็จะเปลี่ยนไปเป็นการนำไปใช้ส่งเสริมระบบสวัสดิการแทน ซึ่งหลายประเทศจำเป็นต้องยกระดับสวัสดิการให้ได้มาตรฐานหรือดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้ดีก็จะถูกดูถูกเหยียดหยามต่างๆว่าเพิกเฉยการดูแลประชาชน
มีการคาดการณ์ว่าหลายประเทศอาจลดงบประมาณทางทหารถึงขั้นอาจยุบรวมกองทัพ จากเดิมมีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ก็อาจเหลือเพียงกองทัพโดรน กองทัพไทยก็ควรปฏิรูปและตั้งกองทัพโดรนรบได้แล้ว รวมถึงการผลิตโดรนรบได้เอง โดยระยะแรกอาจจำเป็นต้องซื้อระบบและอุปกรณ์การติดตั้งยานลำเลียงโดรน ยานลำเลียงอาจเป็นเครื่องบินและเรือรบที่ปลดระวางแล้วก็ได้ ซึ่งราคาถูกจนแทบไม่น่าเชื่อ
แต่ที่มีความสำคัญอย่างมากคือ ระบบควบคุมบังคับโดรนรบ ซึ่งเป็นวิทยาการชั้นสูงไม่น้อยไปกว่าการสร้างโดรนรบที่มีประสิทธิภาพ
You must be logged in to post a comment Login