- ปีดับคนดังPosted 18 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เสื่อมทรุดยุติธรรม? / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
“ดิฉันอยากจะสะท้อนถึงความพยายามต่างๆในการกระทำที่เสมือนสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อชี้นำคดี ก่อนที่จะมีผลตัดสินของศาลฎีกาฯในคดีโครงการรับจำนำข้าว ในที่สุดรัฐบาลก็เลือกที่จะทำ เพราะคิดว่าตนมีอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ รวมทั้งไม่รอคำสั่งศาลปกครองที่ดิฉันได้ขอให้ทุเลาการบังคับคดีไว้
แม้วันนี้ดิฉันจะถูกอายัดบัญชีธนาคารและกำลังจะถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมดจนต้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลา คงได้แต่บอกว่าดิฉันยังเข้มแข็งและพร้อมยืนหยัดต่อสู้ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด” ผ่านการแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลอย่างหมดใจในวันที่ 1 ส.ค. นี้ค่ะ ซึ่งดิฉันก็จะทำอย่างดีที่สุด
ดิฉันขอเปลี่ยนกำลังใจจากแฟนเพจและพี่น้องประชาชนมาเป็นพลังให้ดิฉันได้มีความเข้มแข็งและอดทนค่ะ”
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊ค (25 กรกฎาคม) กรณีกระทรวงการคลังส่งรายการทรัพย์สินเป็นบัญชีธนาคาร 12 บัญชี ให้กรมบังคับคดีดำเนินการอายัด ซึ่งการบังคับคดีมีอายุความ 10 ปี โดยโจทก์คือกระทรวงการคลัง หากพบทรัพย์สินเพิ่มเติมก็สามารถส่งรายการทรัพย์สินให้กรมบังคับคดีอายัดเพิ่มได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้ร้องขอทุเลาต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งนายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง อธิบายกระบวนการว่า “การพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่ล่าช้า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำชี้แจงมาเร็วกว่าที่ศาลกำหนด การพิจารณาเพื่อมีคำสั่งก็จะเร็วขึ้นด้วย”
คนที่ให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ต้องติดตามว่า องค์คณะศาลปกครองจะทุเลาการบังคับคดีหรือไม่ เพราะ “ความเสียหาย” ได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทรัพย์สินของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่แจ้งไว้กับ ป.ป.ช. มีมูลค่ากว่า 579 ล้านบาท
นี่คืออภินิหารของกฎหมาย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Kittiratt Na-Ranong ว่า “รู้สึกรำคาญ” โดยกล่าวว่า มีเพื่อนๆถามว่ากระทรวงการคลังและกรมบังคับคดีเอาอำนาจอะไรมายึดทรัพย์นายกฯยิ่งลักษณ์โดยไม่ผ่านกระบวนการทางศาล
“ผมก็เรียนไปว่า เรื่องนี้มิได้เป็นคำตัดสินของศาลใดๆเลย แต่เป็นการที่รัฐบาลใช้อำนาจของ “พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539” ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้หวั่นเกรงว่าเมื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนแล้วจะต้องตกเป็นผู้รับผิดทางแพ่งต่อเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีข้อความสำคัญระบุอยู่ในตอนท้ายของ “หมายเหตุ” ของพระราชบัญญัติที่มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“…จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัวหรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น…”
ท่านลองถามใจตนเองนะครับว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลน่ะ นายกฯยิ่งลักษณ์
(1) จงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัวหรือ? (นายกฯยิ่งลักษณ์ทำนามีโรงสีหรือทำธุรกิจค้าข้าวอันได้ผลเจริญรุ่งเรืองเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลหรือ?)
(2) จงใจให้เกิดความเสียหายหรือ? (นายกฯยิ่งลักษณ์มุ่งให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลใช้งบประมาณของรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะตกอยู่แก่ชาวนาจำนวนกว่า 15 ล้านคน และส่งผลดีเป็นกำลังซื้อมหาศาลแก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างคุ้มค่าหรือ?)
(3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือ? (การบริหารโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่มีส่วนราชการร่วมบริหารงานอย่างบูรณาการ และมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติพร้อมด้วยอนุกรรมการอีกกว่า 10 คณะปฏิบัติหน้าที่ จะเกิดการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยนายกฯยิ่งลักษณ์ได้หรือ?
ถ้าคำตอบที่ท่านได้จากใจของท่านคือไม่ใช่..ไม่ใช่..และไม่ใช่… “สิ่งนี้คืออภินิหารของกฎหมายกระมังครับ?”
มาตรฐาน “ปนัดดา”วัด “ข้าวดี-ข้าวเน่า”?
ประเด็นสำคัญก่อนจะมีการตัดสินคดีคือ คำให้การพยานฝ่ายจำเลยคดีโครงการรับจำนำข้าวนัดสุดท้ายคือ นายพศดิษ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้า องค์การคลังสินค้า (อคส.) ยืนยันมาตรฐานโกดังและคลังสินค้าในความดูแลของ อคส. ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2554 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและคู่มือเพื่อเก็บรักษาสภาพข้าวไม่ให้เกิดความเสียหายมาโดยตลอด
ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องข้าวหายจากโกดัง นายพศดิษให้การว่า หลังการรัฐประหาร รัฐบาล คสช. ได้มีคำสั่งโดยกระทรวงพาณิชย์ให้ยกเลิกการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่เคยติดตั้งตามโกดังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำข้าว สั่งเปลี่ยนคณะบุคคลที่ถือกุญแจตั้งแต่ปี 2557-2559 และห้ามให้เปิดโกดังข้าวเพื่อรมยาตามปรกติ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวได้รับความเสียหาย
เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาเรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยข้อเท็จจริงแล้วข้าวที่เก็บไว้ในโครงการรับจำนำข้าวก่อนหน้านี้ยังมีสภาพที่สามารถจำหน่ายได้ตามปรกติ แต่ปัญหาเกิดจากคณะกรรมการ 100 ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ แต่เอามาตรฐานการกำหนดคุณภาพข้าวเพื่อการส่งออกมาเป็นเกณฑ์ตรวจวัด ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวต้องเป็นข้าวที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว จึงทำให้ข้าวในคลังและโกดังรับจำนำทั้งประเทศเป็นข้าวที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ ม.ล.ปนัดดา
ประกอบกับผู้ตรวจสอบไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้เรื่องข้าว จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล กลายเป็นที่มาของนโยบายการสั่งขายข้าวคุณภาพดีในราคาข้าวเสื่อมคุณภาพหรือข้าวเน่าในราคาที่ต่ำกว่าถึงเท่าตัว ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย ส่วนเรื่องการทุจริตข้าวถุงเมื่อปี 2556 โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการทำข้าวถุงเพื่อจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี
คำให้การดังกล่าวยังสอดรับกับคำเบิกความของนายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อดีตผู้อำนวยการ อคส. ที่ยืนยันว่าระบบดูแลเรื่องการนำข้าวสารออก ป้องกันการสวมสิทธิ ได้มาตรฐาน ไม่มีข้าวสูญหายตามที่มีการกล่าวหาว่าสูงถึง 2.5 ล้านตัน ซึ่งต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงโดยประกาศจากปลัดกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่มีข้าวหายจากคลัง อคส. และมีการปิดบัญชีที่ถูกต้อง
ขณะที่ รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยานปากสุดท้าย ได้นำผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า หากโครงการรับจำนำข้าวเดินหน้าตามระบบจนเสร็จสิ้นและไม่มีรัฐประหาร โครงการนี้ก็จะไม่มีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน แต่จะเป็นผลดี ราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากมีมาตรการสร้างความสมดุลในตลาด ให้ชาวนามีส่วนแบ่งการตลาด จากเดิมที่ผูกขาดโดยโรงสี ประโยชน์จึงเกิดกับชาวนาระดับกลางและล่าง ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศ อีกทั้งการใช้งบประมาณไม่เกิน 60% ของจีดีพี ถือว่าโครงการนี้ไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง
โดยเฉพาะประเด็นข้าวเน่านั้น พรรคเพื่อไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าไม่ได้เป็นข้าวเน่าหรือข้าวเสื่อมคุณภาพ ซึ่งสมาคมโรงสีข้าวไทยก็ออกมาระบุว่าข้าวเสียในคลังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10-20% แต่รัฐบาลกลับจัดเกรดให้เป็นข้าวเสื่อมทั้งหมดเพียงเพื่อจะมีเหตุผลในการบอกขายแค่กิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งผู้รับซื้อข้าวจะได้กำไรมหาศาล จึงมีการแย่งกันประมูล ขณะที่โกดังข้าวที่เก็บรักษาข้าวในโครงการรับจำนำข้าวหลายแห่งก็ออกมายืนยันว่าข้าวไม่เสื่อมสภาพ แม้จะทำเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์มาตรวจสอบ แต่ก็ได้รับคำตอบเพียงว่าตรวจถูกต้องแล้ว ทำให้ทางโกดังต้องแบกรับค่าเช่าและค่าค้ำประกันรวมถึงดอกเบี้ย
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่ผู้สื่อข่าว NBTV ได้ลงไปตรวจสอบโกดัง “คลังวรโชติ 2” จ.อ่างทอง ซึ่งระบุว่าข้าวกองที่ 4 ในคลังเสื่อมคุณภาพ น.ส.อิศราภรณ์ คงฉวี กรรมการผู้จัดการ จึงทำหนังสือคัดค้านฉบับแรกก่อนมีการเปิดประมูลข้าวไปที่กรมการค้าต่างประเทศเพื่อขอคัดค้านการระบายข้าวคลังวรโชติ (หลังที่ 2) สู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน เพราะได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากการประกาศผ่านเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศว่า คลังวรโชติ 2 เป็นหนึ่งในกว่า 200 คลังทั่วประเทศที่จะต้องถูกระบายข้าวออกไปเพราะข้าวไม่ได้มาตรฐาน ซึ่ง น.ส.อิศราภรณ์ยืนยันว่าข้าวที่เก็บรักษาดำเนินการตามกรรมวิธีที่กระทรวงพาณิชย์และ อคส. กำหนดไว้ทุกอย่าง จึงไม่เข้าใจว่าหลักฐานข้าวที่มีอยู่ที่ปรากฏออกไปไม่ได้มาตรฐานอย่างไร?
“ปิยบุตร” ชี้ เป็นตัวอย่างการใช้กฎหมายที่ผิด
คดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นประเด็นสำคัญทั้งทางกฎหมายและวิชาการคือ กรณีทนายจำเลยยื่นคำร้องว่ามาตรา 5 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 212 แต่ศาลฎีกาฯกลับเห็นว่า “ตามคำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้น” ยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “จึงให้ยกคำร้องของจำเลย”
นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายมหาชน ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul ว่า “ไม่ถูกต้อง” เพราะ “การตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญแบบรูปธรรม หรือ concrete control ในประเทศไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราใช้ระบบ “บังคับส่ง” หมายความว่า เมื่อคู่ความโต้แย้งมาศาลแห่งคดีต้องส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเสมอ เพราะมาตรา 212 ไม่มีส่วนที่ให้ศาลแห่งคดีใช้ดุลยพินิจไม่ส่งได้”
นายปิยบุตรอธิบายว่า เงื่อนไขการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมีเพียงว่าต้องเป็นประเด็นกฎหมายที่ใช้แก่คดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้มาก่อน ในเมื่อรัฐธรรมนูญเพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน จึงยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้แน่ๆ
“จำเลยไม่ได้โต้แย้งการใช้อำนาจของศาลว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยเขาโต้แย้งว่ากฎหมายที่ใช้กับคดีขัดรัฐธรรมนูญ แล้วศาลฎีกาฯไปบอกว่าตนเองให้โอกาสคู่ความเต็มที่แล้วทำไม??? คนละเรื่องเลยครับ.. ดังนั้น ศาลฎีกาฯจึงไม่มีอำนาจใดๆที่จะไปวินิจฉัยไม่ส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ”
นายปิยบุตรยังให้ความเห็นกรณีศาลฎีกาฯวินิจฉัยไม่ส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญว่า มั่นใจว่านักศึกษาที่เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญทั้ง ป.ตรีและ ป.โท ตอบคำถามเรื่องนี้และวิจารณ์เรื่องนี้ได้สบายๆ ไม่สลับซับซ้อนอะไร เดี๋ยวนี้นักศึกษาเรียนกฎหมายสนุกขึ้น เพราะมีตัวอย่างการใช้กฎหมายที่ผิด การบิดผันการใช้กฎหมาย เกิดขึ้นในชีวิตจริงบ่อยๆ เรียกได้ว่าเรียนเสร็จไม่นาน นักศึกษาจะเห็นตัวอย่างที่ผิดได้ทันที
ถ้าคิดว่าจำเลยต้องการ “ประวิงเวลา” คดีก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บอก แต่การอ้างว่าประเด็นที่จำเลยโต้แย้งว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญนั้น “ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย” ไม่ใช่หน้าที่ของศาลฎีกาฯ ศาลฎีกาฯไม่ต้องกังวลใจเรื่องเหล่านี้
ถ้าประเด็นที่จำเลยโต้แย้งเป็นประเด็นเรื่องกฎหมายที่จะใช้แก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้แล้ว ศาลฎีกาฯซึ่งเป็นศาลแห่งคดีไม่มีอำนาจใดๆทั้งสิ้นนอกจากส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญสถานเดียว นี่เป็นระบบ “บังคับส่ง” ที่เราใช้มาตั้งแต่ปี 2550 และ 2560 ก็ใช้ต่อ
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยที่จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่สงสัย จึงไม่ส่งตีความ รัฐบาลจะส่งก็ต่อเมื่อมีความสงสัยจากนายกรัฐมนตรี และไม่ทราบว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยมายื่นหรือยัง ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้เอาความสงสัยของคนอื่นมาเป็นเหตุต้องส่งไปทุกเรื่อง แต่กำหนดให้เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
อีก 10 ปี “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ก็ยังอยู่?
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายระหว่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊คถึงคดี “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ว่า 10 ปีผ่านมา “ทักษิณ” ยังไม่หายไป แล้วอีก 10 ปีผ่านไปคิดว่า “ยิ่งลักษณ์” จะหายไปหรือ? ถ้าใครมอง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เป็น “ภัยต่อบ้านเมือง” ก็โปรดใช้ 2 สิ่งจำเป็นเข้าจัดการ
1.“กระบวนการยุติธรรม” ที่เป็นปรกติ ไม่เลือกปฏิบัติ มีหลักฐานและเหตุผลรองรับที่กระจ่างชัดตั้งแต่ต้นจนจบ ย้ำว่า “ตั้งแต่ต้นจนจบ” เพราะหลายคนเข้าใจว่าความยุติธรรมขึ้นอยู่กับ “ศาล” ที่ตัดสินคดีเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าสำนวนข้อเท็จจริง บัญชีตัวเลข พยานหลักฐาน ที่รวบรวมจัดทำมาตั้งแต่ต้น (หรือแทรกเข้ามาระหว่างทาง) ศาลไม่ได้เป็นคนรวบรวมเองทั้งหมด สิ่งใดหากผิดมาตั้งแต่ต้นจะมาทำให้ถูกทั้งหมดตอนสุดท้ายคงไม่ง่ายนัก
2.“สนามการเมือง” ที่ดึงดูดให้ “คนคุณภาพหน้าใหม่” กล้าเสนอตัวมาทำงานเพื่อบ้านเมือง ย้ำว่า “หน้าใหม่” เพื่อไม่ให้ลืมว่าคนที่สนับสนุนนักการเมืองกลุ่มใดพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนไปสนับสนุนตัวเลือกที่ดีกว่า “สำหรับพวกเขา” แต่คนที่ดีกว่าสำหรับเขานั้นอยู่ไหน? ประเทศไทยมีตัวเลือกให้ประชาชนได้เท่านี้เองหรือ? หากเราต้องการดึงคนใหม่ที่มีคุณภาพให้กล้าเข้ามาเป็นตัวเลือก เราต้องมี “สนามการเมือง” ที่มีกติกามั่นคงแน่นอน และ “ชนะกันที่ใจประชาชน” หาใช่ “พลิกผันไปตามปากกระบอกปืน”
ดังนั้น หากใครคิดจะจัดการกับ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ในฐานะ “ภัยต่อบ้านเมือง” โปรดอย่าลืมหรือทำลาย 2 สิ่งนี้ แต่ถ้าใครมอง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” (หรือคนใหม่ๆ) เป็น “ภัยต่อพวกตนเอง” ก็คงไม่แปลกใจหากเขาจะทำทุกอย่างให้ “คนไทย” ต้องอยู่กับ “กระบวนการยุติธรรม” ที่บิดเบี้ยว และ “สนามการเมือง” ที่ปิดแคบ เพราะสุดท้ายแล้ว “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” อาจไม่ได้เป็นปัญหาที่แท้จริงสำหรับเขาเลย แต่กลับกลายเป็น “ตัวพวกเขาเอง” ต่างหากที่ไม่อาจอยู่รอดได้หากไม่ใช้วิธีการแบบนี้
สิงหาคมเดือนเดือด!
เดือนสิงหาคมถือเป็นเดือนเดือดของการเมืองไทย เพราะไม่ใช่แค่การตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าวอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์วันที่ 25 สิงหาคมเท่านั้น ในช่วงเช้าวันเดียวกันศาลฎีกาฯยังนัดตัดสินคดีทุจริตระบายข้าว (แบบจีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก 28 คน เนื่องจากศาลเห็นว่าหลักฐานในคดีเชื่อมโยงกัน ทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวน มีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้ง 2 สำนวน โดยทั้ง 2 คดีจะมีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาวันที่ 1 สิงหาคม และยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 สิงหาคม
นอกจากนี้วันที่ 2 สิงหาคม ศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษาคดีอดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในคดีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องข้อกล่าวหาความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จึงเป็นเรื่องธรรมดาถ้าจะมีมวลชนมาให้กำลังใจทั้ง 3 คดีจำนวนมาก แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเตือนมวลชนที่จะมาให้กำลังใจว่า ทุกคดีตัดสินโดยศาล ไม่ใช่ คสช. เป็นผู้ตัดสิน อยากให้สังคมเข้าใจ ถ้าไม่ได้ทำผิดจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร การมาชุมนุมนอกศาลถือว่าผิดกฎหมาย รัฐบาลไม่สกัดกั้น แต่อยากให้มวลชนสะกดใจตนเองมากกว่า ไม่เห็นด้วยที่จะนำมวลชนไปชุมนุมจำนวนมาก เพราะไม่มีผลต่อการตัดสินคดี ผิดก็คือผิด อะไรที่ขัดแย้งอยากให้เบากันบ้าง เพราะสุดท้ายคนที่เดือดร้อนคือประชาชน หากเดินทางมาศาลเองก็ไม่ผิด แต่หากมีการนำรถไปรับส่งถือว่ามีความผิดชัดเจน
โดยเฉพาะคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ซึ่งตัดสินวันเดียวกับนายบุญทรง ต้องจับตามองว่าที่รัฐบาลทหารและกองทัพบอกว่าไม่ขัดขวางประชาชนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจนั้นจะเป็นอย่างที่พูดหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก บอกว่า หากขอร้องกันได้ก็อยากให้ติดตามข่าวนอกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งเตือนว่าหากมีการจัดมวลชนมาถือเป็นความผิด เพราะไม่ใช่เป็นการมาแบบธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการมาเพื่อกดดันศาลอีกด้วย
ที่น่าวิตกกว่าคือ การสร้างกระแสของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่พยายามให้ข่าวในลักษณะให้เกิดความเข้าใจผิดหรือบิดเบือน อย่างกรณีนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่าผู้จะมาให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถูกจ้างมา โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง เช่นเดียวกับล่าสุดที่กล่าวว่าจะมีการปลุกระดมมวลชนกดดันศาลในวันที่ 25 สิงหาคม โดยอ้างว่าครั้งแรกมีการใช้มวลชนทั่วประเทศกดดันศาลในคดีซุกหุ้น และครั้งที่สองศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคฐานโกงเลือกตั้ง
ส่วนวันที่ 25 สิงหาคมนั้น นายไพศาลอ้างเป้าหมายการปลุกระดมว่า “1.ตั้งเป้า 10 ล้านคน เต็มแม็กไปเลยเผื่อจะลบสถิติ กปปส. ที่เคยมีคนถึง 7 ล้านได้ 2.ทุกภาคทุกสายขอให้ขอเบิกเงินก่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะลาภใหญ่กำลังมาตามพระราหู 3.รับเงินมาแล้วอย่าเพิ่งจ่ายเด็ดขาด ให้เก็บไว้อย่างดี แต่ให้ปล่อยข่าวว่าจ่ายทั่วถึงแล้ว สำหรับค่าจองรถวางแค่ 5% ก่อน”
จึงมีคำถามง่ายๆว่า ถ้าเป็นความจริงและมีหลักฐานแน่นหนาขนาดนี้ทำไมไม่เอาหลักฐานมายืนยันเพื่อส่งให้รัฐบาลจัดการกับผู้อยู่เบื้องหลัง หากพูดลอยๆโดยไม่มีหลักฐานก็ไม่ต่างกับการปลุกระดมเสียเอง หรือเสี้ยมเพื่อให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่งในฐานะที่นายไพศาลเป็นถึงที่ปรึกษา “พี่ใหญ่แห่ง คสช.” ก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและกองทัพก็วิตกกังวลไม่น้อยหากมีมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสน หรือหากเป็นจำนวนล้านจริงก็ยากที่รัฐบาลทหารและกองทัพจะจัดระเบียบหรือควบคุมสถานการณ์ได้
ที่สำคัญหากมีประชาชนจำนวนมากมาให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ คงไม่ได้สะท้อนให้เห็นความรักและศรัทธาที่ประชาชนมีต่ออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความนิยมในพรรคเพื่อไทยและนโยบายประชานิยมที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่ข่าวเล็กๆในบ้านเราเท่านั้น แต่สื่อและรัฐบาลทั่วโลกก็จับตาว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะถูกตัดสินอย่างไร ซึ่งไม่ว่าผิดหรือไม่ผิดก็ย่อมส่งผลต่อการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลทหารและ คสช. แน่นอน
แม้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะให้ความเห็นว่า หากศาลฎีกาฯพิพากษาว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มีความผิดก็ยังมีช่องทางในการต่อสู้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 เปิดช่องให้มีสิทธิอุทธรณ์ แต่ต้องให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีผลบังคับใช้ก่อน หากระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล การอุทธรณ์ทำได้ทั้งฝ่ายจำเลยและโจทก์ หากศาลตัดสินว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ผิดหรือยกฟ้อง อัยการโจทก์ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันเช่นกัน
นายปิยบุตรตั้งข้อสังเกตความเห็นของนายมีชัยที่ชี้แนะช่องทางอุทธรณ์โดยให้รอกฎหมายใหม่ประกาศใช้ก่อน จะเป็นคุณแก่จำเลยกว่า แล้วให้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ดูเหมือนดี แต่นี่คือ “สัญญาณ” บางอย่างหรือเปล่า?
เสื่อมทรุดยุติธรรม?
ไม่ว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาอย่างไร ท่าทีล่าสุดของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศชัดเจนว่า “ไม่หนี” เพราะยืนยันว่า “ไม่ผิด” ทั้งยังมีกำลังใจที่เข้มแข็ง และอดทนที่จะต่อสู้จนถึงที่สุด ยิ่งฝ่ายยึดอำนาจมีความพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อชี้นำคดีก่อนจะมีผลตัดสินก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นความแปลกประหลาดและความเสื่อมทรุดของกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ตอกย้ำว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบพิสดาร
ความเข้มแข็งและอดทนของอดีตนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทยจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจเผด็จการได้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจ้องชนิดตาไม่กะพริบ
อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่เปรียบเสมือน “แมวน้อย” ตัวเล็กๆที่ถูก “พยัคฆ์” รอขย้ำในอีกไม่กี่วันนี้ อาจแปรสภาพจาก “แมวน้อย” ที่ร้อง “แม้ว..แม้ว..” กลายเป็น “สัญลักษณ์การต่อสู้” กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น อย่างที่กล่าวกันว่า “ฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด ถึงจะผิดก็ไม่ต้องรับโทษ แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ทำอะไรก็ผิดไปหมดทุกเรื่อง ติดคุกติดตะรางกันเป็นปรกติ” ซึ่งล้วนแต่สวนทางกับแนวทางการสร้างความปรองดองที่สุดท้ายก็เป็นแค่ “ลมปาก”
“แมวน้อย” ที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ถูกห้ามลงแข่งเลือกตั้ง ถูกยึดทรัพย์ ถูกกล่าวหาจนเป็นคดีตั้งแต่ต้นทางกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว จากหลักฐานที่บิดเบือนที่ใส่พานจะเอาผิดข้อหา “โกง” ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้โกง เลยกล่าวหาในข้อหา “ไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้มีการโกง” ซึ่งนับเป็นข้อหาที่ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันในการกล่าวหาแล้ว เชื่อว่าแทบไม่มีนายกฯคนไหนในอดีตหรือปัจจุบันจะรอดพ้นไม่ถูกดำเนินคดี แต่ทำไมจึงเกิดขึ้นเฉพาะนโยบายรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ?
ทำไม “พยัคฆ์” ที่คุยโอ่ว่าเป็น “ลูกผู้ชายอกสามศอก” จึงหวาดกลัว “แมวน้อย” ยิ่งนัก?
หรือเป็นเพราะเสียงร้อง “แม้ว.. แม้ว..” ที่ 10 ปีผ่านมาแล้ว รัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้งในรอบ 10 ปี ทั้งรัฐบาลพี่ทั้งรัฐบาลน้องก็ยังได้ยินเสียง “แม้ว.. แม้ว..” ไม่จบสิ้นเสียที!!??
You must be logged in to post a comment Login