วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สิทธิผู้ต้องหาเลือกทนาย สิทธิที่หายไปในยุค คสช.

On July 31, 2017

สำนักข่าวบีบีซีไทย โดยนันท์ชนก วงษ์สมุทร์ รายงานว่า ท่ามกลาง “กฎหมายพิเศษ” ที่ใช้บังคับหลังรัฐประหาร 2557 สิทธิของผู้ต้องหาในการเข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น ในขณะที่องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เช่น “สภาทนายความ” ถูกวิจารณ์ว่าไม่ออกมาคุ้มครองสิทธิ์ผู้ที่ถูกควบคุมตัว

หลังจากที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 1 วัน น.ส.ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ พร้อมกับจำเลยอีก 7 คนที่เป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ถูกส่งตัวมายังกองบังคับการปราบปราม เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น”

ทนายความหลายกลุ่มพยายามเข้าถึงตัวจำเลย แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้เข้าถึง ท่ามกลางความชุลมุนที่เกิดขึ้น น.ส.ณัฏฐิกาเหลือบไปเห็น น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเธอคุ้นหน้าคุ้นตาจากการออกสื่อในฐานะ “ทนาย-นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน”

“เราเดินออกไปบอกว่าขอเลือกทนายเองไม่ได้เหรอคะ เขา [เจ้าหน้าที่ตำรวจ] บอกว่า ‘จัดมาให้แล้วไม่เอาหรือไง’ แล้วให้พวกเราเซ็นว่ายอมรับทนายที่เขาจัดมาให้ ในขณะนั้นเราเซ็นเพราะจำเป็นว่าต้องเซ็น เพราะเขาเหมือนกับบังคับ ถ้าถามสิทธิ์ในการเข้าถึงทนาย ในวันนั้นมีทนายจากหลายฝ่ายมาก แต่เราไม่ได้พบเลย” หญิงวัย 44 ปี กล่าว

น.ส.ณัฏฐิกาพร้อมผู้ต้องหาคดี Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพน.ส.ณัฏฐิกาพร้อมผู้ต้องหาคดี “8 แอดมิน” อีก 7 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในหลายเหตุการณ์หลังรัฐประหารปี 2557 ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงไม่มีทนายความตอนถูกคุมตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร แต่กลับมีทนายความซึ่งส่วนมากมาจากสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกบตอนแถลงข่าวออกสื่อ

แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสภาทนายความฯ ไม่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขันเหมือนยุคก่อนรัฐประหาร ทั้งที่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่สภาทนายความฯ ภายใต้การบริหารของ ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความฯ ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าองค์กรพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย

“ตอนนี้เป็นยุคกฎหมายพิเศษ … [ผู้บริหารสภาทนายความฯ] ชุดที่แล้วผมไม่ทราบ เพราะเป็นผู้บริหารอีกชุดหนึ่ง แต่ในยุคนี้เราพยายามให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน แต่เราก็ต้องทำตามกรอบกฎหมาย … ว่ามันเปิดให้สภาทนายความฯ เข้ามามีบทบาทได้มากน้อยเพียงใด” ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ กล่าวกับบีบีซีไทย

คุมขัง 7 วันโดยไม่มีทนาย

น.ส.ณัฏฐิการู้สึกไม่เป็นธรรมตั้งแต่ถูกทหารมาจับกุมที่บ้าน จนกระทั่งเมื่อถึงกองปราบปราม ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกทนายความImage copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพน.ส.ณัฏฐิการู้สึกไม่เป็นธรรมตั้งแต่ถูกทหารมาจับกุมที่บ้าน จนกระทั่งเมื่อถึงกองปราบปราม ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกทนายความ

ช่วงประมาณ 6 โมงเช้าของวันที่ 27 เม.ย. ปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 20 นายยกกำลังมาที่บ้านของ น.ส.ณัฏฐิกา ก่อนควบคุมตัวเธอไปที่สถานที่ที่เธอมารู้ภายหลังว่าเป็นมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)

“เขาไม่มีหมาย และไม่ได้แจ้งอะไรเลย พูดแค่ว่าทำอะไร เขารู้หมดแล้ว” น.ส.ณัฏฐิกากล่าว

เธออ้างว่าถูกปิดตาและคลุมศีรษะด้วยถุงดำ ระหว่างการเดินทาง 2-3 ชม. เมื่อถึงจุดหมาย เธอถูกซักถามจนถึงช่วงกลางคืน

“เขาจะใช้วิธีของเขาในการพูดจาให้ยอมรับในสิ่งที่เขาต้องการ เขาจะยัดให้ได้ว่ารับเงินมาจากคนนี้ ทำงานให้คนนี้นะ อ้างว่าเห็นแชทเรา ซึ่งอนุมานได้ว่าโดนแฮ็กเฟซบุ๊กแล้ว” เธอกล่าว “ตอนนั้นไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นการร้องขอทนายเป็นเรื่องทีหลังเลยด้วยซ้ำ แม่บอกว่าขอติดต่อยังไม่ได้เลย”

ทั้งนี้ คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ระบุว่า ข้าราชการทหารมีอำนาจเรียกตัวบุคคลมาเพื่อสอบสวน โดยสามารถควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ทหารจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหาไม่ได้

นายคิงสลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโสโครงการเอเชีย-แปซิฟิคของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า อำนาจของ คสช. ที่จะทำการกักขังดังกล่าวโดยปราศจากทนายความนั้น ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งบัญญัติไว้ว่าประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิ์ในการเข้าถึงทนายความทันทีที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ

นายคิงส์ลีย์Image copyrightKINGSLEY ABBOTT
คำบรรยายภาพนายแอ๊บบอตกล่าวว่า การกักขังดังโดยปราศจากทนายความนั้น ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

“ผมเคยถามทหารนายหนึ่งว่าทำไมบุคคลที่ถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหาร ไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่จำเป็นต้องมีทนายความ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ถูกตั้งข้อหาทางอาญา” นายแอ๊บบอตกล่าว

แต่ในทางปฏิบัติ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา คำให้การของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหาร มักถูกตำรวจหยิบไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ งานวิจัยของสำนักงานอัยการเกี่ยวกับการดำเนินคดีความมั่นคงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุว่า ศาลจะไม่รับฟังคำรับสารภาพในชั้นซักถาม ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร เพราะเป็นพยานบอกเล่า ยกเว้นมีทนายความหรือบุคคลที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการซักถามด้วย ในกรณีนี้ ศาลจะรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น ๆ ได้

“การใช้คำให้การที่ได้มาโดยการซักถามโดยที่ไม่มีทนายความอยู่ด้วย เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น ละเมิดสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม หากคำให้การที่ได้จากการถูกควบคุมตัวโดยทหารถูกนำมาใช้ในลักษณะนี้ ก็ยิ่งบ่งบอกถึงความจำเป็นที่ผู้ถูกควบคุมตัวต้องได้รับการเข้าถึงทนายความนับตั้งแต่ตอนที่เขาถูกควบคุมตัว” นายแอ๊บบอทกล่าว

มทบ.11Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่มีหมายศาล ซึ่งภายหลังได้รับการเปิดเผยว่าบุคคลเหล่านั้นจะถูกควบคุมตัวไปที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11

ทนายจัดหา

กฎหมายไทยกำหนดให้ทนายความนั่งฟังการสอบปากคำร่วมกับผู้ต้องหาในคดีอาญาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งสภาทนายความฯ ได้ก่อตั้งอนุกรรมการโครงการทนายความอาสาและการเข้าฟังการสอบปากคำเด็กและผู้ใหญ่ในชั้นสอบสวน โดยมี น.ส.เยาวลักษ์ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นอนุกรรมการของโครงการดังกล่าวในขณะนั้น

โดยทนายความที่จะเข้าไปร่วมฟังการสอบปากคำ ต้องเป็นทนายความอาสาที่ผ่านการคัดเลือก อบรม และขึ้นทะเบียนกับสภาทนายความฯ ซึ่งปัจจุบันมีทนายความอาสาที่ขึ้นทะเบียนกับสภาทนายความฯ ทั่วประเทศประมาณ 8,000 คน

น.ส.เยาวลักษ์เล่าว่า โครงการดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าผู้ต้องหามีทนายความที่ญาติติดต่อให้ ทนายความจากสภาทนายความฯ จะถอนตัว เพราะถือเป็นทนายความที่ผู้ต้องหาเลือก อีกทั้งจะไม่ทำตัวเข้าไปเป็น “ตราประทับ”

“กรณี 8 แอดมินเพจเป็นกรณีศึกษาตรงที่ว่า เราเป็นทนายความที่ญาตินำมา และทางตำรวจไม่ให้เราเข้าพบเพื่อเป็นทนายความให้ทั้ง 8 คน ทางสภาทนายความฯ ก็ไม่ได้ถอนตัว นอกจากไม่ถอน ทนายยังออกมาพูดอีกว่าผู้ต้องหาไม่ได้ถูกข่มขู่ คุกคาม ซึ่งอันนี้ไม่ใช่บทบาททนายเลย” น.ส.เยาวลักษ์กล่าว “หลังจากนั้น ทนายความที่ตำรวจจัดหามาให้ ก็แถลงข่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจริง ๆ แล้วทนายไม่มีสิทธิ์ไปรับรองแถลงข่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

นส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์Image copyrightYAOWALAK ANUPHAN
คำบรรยายภาพนส.เยาวลักษ์เคยถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบผู้ต้องหาในคดี “8 แอดมิน”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ นายกสภาทนายความฯ บอกว่าไม่ทราบเรื่อง แต่โดยหลักการ ผู้ต้องหามีสิทธิ์จะเลือกทนายความอยู่แล้ว

“ทนายความเองเขามีมารยาททนายความอยู่แล้ว เขาจะไม่แย่งกัน แล้วอีกอย่างผู้ต้องหาสามารถบอกเลิกหรือถอนการเป็นทนายได้ตลอด เพราะฉะนั้นเขามีสิทธิ์ที่จะใช้ทนายที่เขาประสงค์ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว” ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์กล่าว

ไม่เพียงแต่เฉพาะการควบคุมตัวที่ค่ายทหารเท่านั้น แต่นายกัณต์พัศฐ์ สิงห์ทอง ทนายความสมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่า ภายหลังการรัฐประหาร มีหลายกรณีที่ทนายความถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอก่อนหน้านั้น

“พอยุคหลังๆ ยิ่งผู้ต้องหาคดีร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคงมักจะถูกปฏิเสธ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะอ้างว่าเขามีทนายอยู่แล้ว เป็นทนายที่ทางตำรวจจัดมาให้บ้าง เป็นทนายของสภาทนายความฯ บ้าง ทั้งที่บางครั้งผู้ต้องหาเขาขอเราเลย” นายกัณต์พัศฐ์กล่าว

พร้อมยกตัวอย่างกรณีการวางระเบิดหน้าศาลอาญารัชดาฯ ที่ผู้ต้องหาขอให้กลุ่ม สกสส. เป็นทนายความให้ แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่ให้พบ โดยอ้างว่ามีทนายความจากสภาทนายความฯ แล้ว ทั้งที่เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาในการให้บุคคลที่ให้ความไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวน หรือการแจ้งข้อกล่าวหา

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า โดยหลักการแล้ว พนักงานสอบสวนไม่สามารถกีดกันไม่ให้ทนายความเข้ามาพบผู้ต้องหา และเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหา ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ที่จะเลือกทนายความ

“สมมุติมาถึงพร้อมกัน ผู้ต้องหาต้องเป็นคนเลือก พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิ์เลยที่จะบอกว่า ‘ผมจัดให้แล้ว'” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว และปฏิเสธว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดี “8 แอดมิน”

บทบาทที่ลดลงไป

ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความฯImage copyrightNANCHANOK WONGSAMUTH/BBC THAI
คำบรรยายภาพว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตำแหน่งนายกสภาทนายความฯ เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว หลังจากเมื่อ 18 ปีก่อน สภาทนายความฯ อยู่ภายใต้การบริหารงานของนายสัก กอแสงเรือง และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ซึ่งอยู่ในคณะทำงานและทีมหาเสียงทีมเดียวกัน

บีบีซีไทยได้คุยกับนักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน 4 คน ซึ่งกล่าวตรงกันว่า ไม่เห็นบทบาทของสภาทนายความฯ ในการออกมาพูดถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร ในฐานะองค์กรที่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย และไม่ออกมาคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกควบคุมตัว

ขณะที่ยุครัฐบาลประชาธิปไตย สภาทนายความฯ มีบทบาทในหลายเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะ เช่น กรณีการหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ที่ถูกสังหาร กรณีสื่อมวลชนที่ถูกฟ้องร้องจากการทำหน้าที่ และการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกดำเนินคดี

“ถ้าเปรียบเทียบกับยุคที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเห็นบทบาทของสภาทนายความฯ ที่แอคทีฟมาก โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย ตรงกันข้าม หลังรัฐประหาร ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมองไม่เห็นว่าจะคลี่คลายดีขึ้นเมื่อไหร่ แต่บทบาทสภาทนายในเรื่องนี้ รวมถึงการแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ กลับเงียบหายไปในยุคที่ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย Human Rights Watch กล่าว

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความฯ ที่ดำรงตำแหน่งมา 3 สมัย รวมถึงช่วงหลังรัฐประหาร ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย โดยบอกให้ไปสัมภาษณ์ นายกสภาทนายความฯ คนปัจจุบัน

ทำเนียบนายกสภาทนายความฯ
ชื่อ ปีที่ดำรงตำแหน่ง
ดร.คำนวณ ชโลปถัมภ์ 2529-2532
นายประธาน ดวงรัตน์ 2532-2535
นายสัก กอแสงเรือง 2535-2538, 2541-2545, 2545-2547, 2553-2556
นายเกษม สรศักดิ์เกษม 2538-2541
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ 2547-2550, 2550-2553, 2556-2559
ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ รุยาพร 2559-ปัจจุบัน

ที่มาสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ นายกสภาฯคนปัจจุบันบอกว่า เรื่องในอดีตเป็นอย่างไร ไม่ขอพูดถึง แต่เขายืนยันว่าสภาทนายความฯ ไม่เลือกข้าง พร้อมช่วยเหลือประชาชนหมด

“ที่ผ่านมาคนอาจจะมองภาพสภาทนายความฯ แบบหนึ่งก็ได้ … แต่ยุคที่ผมเป็นนายก ผมถือว่าผมเปิดรับหมด ผมไม่ได้มีอะไร เราก็ถือว่าเราช่วยเหลือหมด อีกอย่าง คนที่ถูกกล่าวหา บางทีเขามีทนายของเขาอยู่แล้ว เขาถึงใช้ศูนย์นั้นศูนย์นี้ เพราะเขาดูแลกันอยู่แล้วในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขา … เพราะทนายกลุ่มนี้คือบุคคลซึ่งทางกลุ่มเขาเชื่อถือกันอยู่ แต่สภาทนายความฯ ช่วยในภาพกว้าง ซึ่งเราไม่ได้เจาะจงลงไปกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์กล่าว

ทั้งนี้ สภาทนายความฯ เป็นองค์กรที่ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาล ผ่านกระทรวงยุติธรรม ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นทนายความกว่า 80,000 คนทั่วประเทศแล้ว ก็ยังให้คำปรึกษาและดำเนินคดีให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้

ส่วนบทบาทของสภาทนายความฯ ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในยุคที่ยังเป็นรัฐธรรมนูญเพิ่งเริ่มบังคับใช้ สภาทนายความฯ ก็แสดงความเห็นและแสดงบทบาทได้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ก็มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 77 ที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมาย

“อีกสักระยะหนึ่ง พอมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมา มันก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งก็ปรับเปลี่ยนได้ ตามรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพต่างๆ ซึ่งก็เป็นกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ เราจะได้ว่ากันตามนั้น เราก็จะเข้าไปมีบทบาทได้เต็มที่” เขากล่าว


You must be logged in to post a comment Login