วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บรรทัดฐานป.ป.ช.

On August 3, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

คำพิพากษายกฟ้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ทั้งหมดถูกยื่นฟ้องคดีเนื่องจากร่วมกันออกคำสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เนื่องจากเห็นว่าการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากลทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายบาดเจ็บ 417 คน

ผลการตัดสินคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการใช้กำลังควบคุมการชุมนุมที่อาจมีขึ้นในครั้งต่อไป

ที่สำคัญจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ เนื่องจากหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นป.ป.ช.ทำการไต่สวนและลงมติชี้มูลความผิดนายสมชาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เพื่อมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต เป็นผู้สั่งการ และเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าสู่รัฐสภา

ชี้มูลความผิด พล.อ.ชวลิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา

ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง ที่ไม่สั่งระงับเหตุการณ์เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ชี้มูลความผิด พล.ต.ท.สุชาติ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และเป็นเจ้าของพื้นที่ มีความผิดวินัยร้ายแรงและอาญา

อย่างไรก็ตาม เมื่อป.ป.ช.ส่งสำนวนไปให้อัยการแล้วอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 เนื่องจากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ และแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมอัยการกับป.ป.ช.ขึ้นมาพิจารณาสำนวนใหม่อัยการสูงสุดก็ยืนยันคำสั่งเดิมคือไม่ฟ้องคดีต่อศาลเพราะเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะฟ้องร้องเอาผิดได้

แม้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ป.ป.ช.ได้ดำเนินการยื่นฟ้องร้องคดีเองต่อศาลฎีกาฯเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558

การไต่สวนพยานในชั้นศาลสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมาและศาลฎีกาฯมีคำสั่งยกฟ้องในวันที่ 2 สิงหาคม 2560 เนื่องจากเห็นว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทำตามแผนควบคุมการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อทำร้ายผู้ชุมนุม และการชุมนุมไม่ได้เป็นไปอย่างสงบ เพราะภายหลังเกิดเหตุในพื้นที่พบระเบิดปิงปอง เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้โล่ผลักดันผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกเหล็ก หัวนอต ลูกแก้ว ขว้างปาไม้ ขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ และการปิดล้อมอาคารรัฐสภาก็นำรั้วลวดหนามที่คล้ายกับที่ใช้ในทางการทหารและแผนกั้นเหล็กมาวางไว้ที่กลางถนน อีกทั้งยังนำยางรถยนต์ขวางทางดังกล่าว และลาดน้ำมันไว้บนพื้นผิวจราจรด้วยการชุมชุมนั้นจึงไม่ได้เป็นการที่ชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ผลการตัดสินคดีนี้มีความน่าสนใจตรงที่ช่วยสะท้อนบรรทัดฐานการทำงานของป.ป.ช. เพราะเมื่อเปรีบเทียบกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่มีคนได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากและปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการใช้อาวุธสงครามพร้อมกระสุนจริงในการควบคุมฝูงชน

แต่กรณีนี้ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องให้สอบเอาผิด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. โดยเห็นว่าการให้เจ้าหน้าที่มีอาวุธปืนพร้อมกระสุนติดตัวเพื่อป้องกันตนและใช้ระงับเหตุการณ์เฉพาะหน้าซึ่งเป็นไปตามหลักสากล เนื่องจากมีคำสั่งศาลว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ ส่วนกรณีเกิดการบาดเจ็บล้มตายให้เป็นความรับผิดชอบเฉพาะบุคคลผู้ทำให้เกิดเหตุหากพิสูจน์ได้ว่าการกระทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายนั้นเป็นไปโดยไม่บริสุทธิ์ เลือกปฏิบัติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองเหตุการณ์นั้นได้เป็นส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความแตกแยกขัดแย้งทางความคิดในหมู่ประชาชนขยายวงกว้างขึ้น

โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นมวลชนของกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่าย


You must be logged in to post a comment Login