วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วัดป่าสุคะโตไม่มีเอกสารสิทธิ! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On August 10, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

“ตำนานวัดป่า (สุคะโต)” อ้างว่า “ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งช่วยกันบริจาคผืนดินที่จับจองแล้วสลับแลกเปลี่ยนกันเองจนได้เป็นแปลงใหญ่ที่มีผืนป่าติดต่อกันผืนใหญ่ รวมเนื้อที่แล้วประมาณ 500 ไร่ เมื่อหลวงพ่อบุญธรรมได้ป่าขนาดใหญ่มาตั้งเป็นอารามสงฆ์แล้วนั้น ท่านก็ได้สร้างกุฏิเล็กๆอยู่อย่างสมถะ ใช้ชีวิตกลมกลืนกับป่า ปกป้องต้นไม้และสัตว์” แต่ในอีกช่วงหนึ่งก็เขียนว่า “ปี 2514 พนักงานตีตราไม้ของบริษัทสัมปทานรุกเข้ามาเกือบถึงกุฏิหลวงพ่อ พร้อมกับแสดงหลักฐานเอกสารอันถูกต้องตามกฎหมายถึงสัมปทานบัตรอันทับบนที่อารามสงฆ์ วัดป่าก็ถูกย่ำยีอย่างถูกกฎหมายจากพ่อค้าไม้ เพียง 3 วันเท่านั้นต้นไม้ที่ถูกตีตราก็ถูกโค่นจนหมดป่า” ข้อนี้แสดงชัดว่าวัดรุกเข้าไปในเขตป่า และตั้งอยู่อย่างผิดกฎหมาย

อีกบทความที่เขียนโดยพระไพศาลกล่าวไว้ว่า “ในระยะหลังๆไฟป่าได้สร้างปัญหาร้ายแรงแก่ทางวัดทุกปี เนื่องจากพื้นที่รอบวัดซึ่งเดิมเคยเป็นป่าหนาแน่นได้ถูกถางเตียนเป็นไร่มัน ไร่ข้าวโพดหมด การเผาพืชไร่เพื่อเตรียมปลูกใหม่แต่ละครั้งในช่วงหน้าร้อน ทำให้ไฟลามเข้ามาในเขตวัดจากทุกทิศทุกทางอยู่เนืองๆ” กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านเป็นผู้ทำลายป่า และอนาคตก็ไม่แน่นอนเนื่องจากความผกผันของราคา

บทความของพระไพศาลยังกล่าวว่า “ความระส่ำระสายของชาวบ้านรอบวัดอันเป็นผลจากโครงการปลูกป่าทดแทนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในเขตป่าสงวนฯ ทำให้ชาวบ้านถูกไล่ที่ไปกลายๆ ประชาชนขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตที่นั่น คิดแต่จะขยับขยายไปหาที่ทำกินใหม่ ด้วยมองไม่เห็นอนาคตว่าจะอยู่ต่อไปได้อีกกี่น้ำ ที่เคยช่วยงานส่วนรวมแข็งขัน ระยะหลังก็กลับกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ชนิดตัวใครตัวมันยิ่งขึ้นทุกที อาการกลัดกลุ้มจนต้องพึ่งยานอนหลับเวลานี้ก็ระบาดเข้ามาถึงหมู่บ้านแถบนี้แล้ว” แสดงว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านบ้างก็เป็นใบภาษีบำรุงท้องที่ (ใบ ภ.บ.ท.5) หรือเป็นใบ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับวัดป่าสุคะโตเองครอบครองพื้นที่ป่า (ดูแผนที่ DSI) อยู่ประมาณ 500 ไร่ ในบริเวณหมู่ที่ 8 บ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ (พิกัดทางภูมิศาสตร์ : Lat: 16.14821 Lon: 102.08634) และระบุว่าอยู่ในพื้นที่สวนป่าเกษตรสมบูรณ์ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อยู่ในการควบคุมของกรมป่าไม้ ซึ่ง อ.อ.ป. โอนให้แล้ว และอยู่ในความดูแลของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.9 (ท่ามะไฟหวาน) ชัยภูมิ

อาคารสิ่งปลูกสร้างบริเวณวัดป่าสุคะโต มีกุฏิ ศาลา อาคารปฏิบัติธรรม หอไตร ห้องน้ำ ห้องครัว (รวมประมาณ 120 หลัง) จากเริ่มต้นเพียงไม่กี่หลังเมื่อ 50 ปีก่อน มีจำนวนพระ-แม่ชีประมาณ 30-40 รูป ลูกจ้างประมาณ 4-5 คน อาคารเหล่านี้สร้างในเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ มีบ่อน้ำประมาณ 30 ไร่ ที่เหลืออีก 400 ไร่มีสภาพเป็นป่าที่ได้รับการฟื้นฟูและไม่ได้มีการใช้สอย

สิ่งที่แสดงการใช้พื้นที่ป่าในแง่หนึ่งคือ วัดป่าสุคะโตเข้าร่วม “โครงการพระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้” ของศูนย์ป่าไม้จังหวัดชัยภูมิ โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี 2538 แต่วัดป่าสุคะโตเพิ่งเข้าร่วม 4-5 ปีแล้ว โอกาสที่วัดจะสามารถอยู่ต่อไปได้จึงขึ้นอยู่กับว่าวัดไม่ทำผิดเงื่อนไขต่างๆ เช่น ไม่ทำให้พื้นที่เปลี่ยนสภาพ หรือคงสภาพป่าไว้ให้ได้มากที่สุด แม้แต่ที่ ส.ป.ก. ก็อาจถูกยึดคืนได้หากมีนายทุนเข้าครอบครอง

ถ้าดูตามนี้วัดป่าสุคะโตอาจถูกเพิกถอนได้ ถือว่าผิดร้ายแรงกว่ากรณีวัดพระธรรมกายหรือวัดที่ไปซื้อที่ น.ค.3 ซึ่งสามารถซื้อขายได้ หรืออาจซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ซึ่งไม่สามารถซื้อได้ และโดยความเป็นจริงที่ดิน ส.ป.ก.4-01 หากไม่ได้ใช้ก็ต้องคืนหลวง ไม่อาจยกให้กันเองได้

อย่างไรก็ตาม กรณีกรมป่าไม้ให้การสนับสนุนหรือเห็นชอบในระดับหนึ่งก็อาจทำให้วัดอยู่ในเขตป่าได้ตาม “โครงการพระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้” โดยอาจให้วัดช่วยจัดอบรมชาวบ้านให้รักษาและช่วยปลูกป่า หรือจะเช่าที่ป่าก็สามารถทำได้ แม้บางครั้งอาจเป็นการ “กำกวม” บ้าง เช่น กรณีศึกษา “พุทธะอิสระ” ถือครองที่ดินป่า (อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งอ้างว่ามีสัญญากับกรมป่าไม้ แต่มีการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิจากชาวบ้านในละแวกนั้น

การให้วัดเช่าที่ให้ถูกต้องก็ตาม การให้วัดร่วมมือกับทางราชการก็ตาม การออกเอกสารสิทธิให้วัดและให้วัดซื้อจากทางราชการ (โดยอาศัยปัจจัยจากการบริจาค) ย่อมจะทำให้การบริหารจัดการที่วัดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

สรุปว่าวัดพระธรรมกายซื้อที่มีโฉนดมาสร้างวัด พุทธะอิสระก็ซื้อที่มาปลูกป่าแม้ไม่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง มหาจำลองก็มีคนบริจาคที่ให้ (แม้ที่ ส.ป.ก. บริจาคไม่ได้) แต่วัดป่าสุคะโตที่พระไพศาลเป็นเจ้าอาวาสไม่มีแม้กระทั่งเอกสารสิทธิ แต่ครองที่ดินถึง 500 ไร่!?! เราจะบริหารจัดการที่ดินวัดอย่างไรดี


You must be logged in to post a comment Login