- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เหาะเกินลงกา
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
การทำคลอดกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแม็พหรือไม่ แม้ที่ผ่านมาจะมีร่างพ.ร.ป.ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รอประกาศให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการมาแล้วหลายฉบับ
บางฉบับผ่านฉลุยไม่มีข้อท้วงติง บางฉบับมีข้อท้วงติงจากความคิดเห็นที่แตกต่างบ้าง แต่ถือเป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะของจริงกำลังจะมา
ร่างพ.ร.ป.ที่เรียกแขกมากที่สุดตอนนี้หนีไม่พ้นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส. ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไอเดียกระฉูดเสนอวิธีการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ แตกต่างจากของเดิมค่อนข้างมาก นัยว่าเพื่อแก้การขายเสียง
ไม่เพียงแต่นักการเมือง พรรคการเมืองที่ออกมาแสดงความเห็นต่างจาก กรธ. แม้แต่คนทำหน้าที่คุมเลือกตั้งอย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ออกมาชี้จุดอ่อนของการเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 ประเด็น
1.การใช้หมายเลขผู้สมัครพรรคแตกต่างกันไปในแต่ละเขต จะทำให้กกต.เกิดความยุ่งยากในการจับสลากหมายเลขแต่ละเขต เกิดความยุ่งยากในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งรายเขต เกิดความยุ่งยากในการรวมคะแนนและรายงานผล ทำให้พรรคการเมืองหาเสียงลำบาก ประชาชนเกิดความสับสนในการใช้สิทธิ์ และไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาซื้อเสียงได้
2.การเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนจาก 800 คน เป็น 1,000 คน ต่อหน่วยเลือกตั้ง แม้จำนวนหน่วยจะลดลง แต่ประชาชนจะไม่ได้รับความสะดวก ต้องเดินทางไปยังหน่วยใหม่ที่ไกลจากบ้านมากขึ้น หากมีจำนวนคนออกมาใช้สิทธิมากอาจทำให้เกิดการแออัดในการใช้สิทธิ
3.การกำหนดว่าไม่ควรใช้เขตหมู่บ้านเป็นข้อจำกัดต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากอาจจะมีการแบ่งครึ่งหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัคร จะยิ่งเป็นการสร้างความสับสนแก่ประชาชนในหมู่บ้านว่าตัวเองอยู่ในเขตเลือกตั้งใด
4.การเปิดโอกาสให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ค่าใช้จ่ายจะต้องถูกกว่าการเลือกตั้งแบบเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้ที่การใช้เครื่องจะถูกกว่าการใช้บัตรในการเลือกตั้งครั้งเดียว ควรพิจารณาถึงการเปรียบเทียบในระยะยาว และพิจารณาถึงประโยชน์ในเรื่องอื่น เช่น ความรวดเร็ว ความถูกต้อง จำนวนบัตรเสียเป็นศูนย์ ไม่ใช่มองในเรื่องต้นทุนอย่างเดียว
5.การปิดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าหน่วย โดยไม่ให้ใส่หมายเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล อาจเป็นการเปิดช่องทางให้ทุจริตการเลือกตั้ง โดยสร้างบ้านเลขที่ปลอมและใส่ชื่อผู้มีสิทธิปลอมโดยไม่ต้องระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน ทางแก้คือควรใส่หมายเลขประจำตัวแต่อาจปิดบางหลัก โดยใช้สัญญลักษณ์ xxxx เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
ความเห็นของนายสมชัยถือว่าเป็นความเห็นกลางๆจากผู้ที่ประสบการณ์ตรงจัดเลือกตั้งเห็นว่าอะไรย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงก็สะกิดเตือนให้ กรธ.รับไปพิจารณา
แต่ถ้าเป็นความเห็นต่างจากฝ่ายการเมืองจะดุเดือดกว่า อย่างกรณีของ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่สะกิดเตือนกรธ.ให้ฟังความเห็นต่าง โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดไม่ให้ผู้สมัครส.ส.กับพรรคใช้เบอร์เดียวกัน หรือข้อเสนอไม่ต้องมีเบอร์ผู้สมัคร โดยเตือนว่ากรธ.ไม่ควรเหาะเหินเกินกรุงลงกา ซึ่งเป็นสำนวนมาจากมหากาพย์รามเกียรติ์
อันมีความหมายสองอย่างคือ หลงเชื่อความสามารถของตนเกินไป และทำเกินคำสั่ง
เป้าหมายของการออกพ.ร.ป.นี้คือทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ป้องกันไม่ให้มีการซื้อเสียง แต่ดูเหมือนแนวทางที่ กรธ.ดำเนินการอยู่นั้นย้อนแย้งต่อยุคสมัย
แก้ปัญหาซื้อเสียงทำได้ง่าย หลายประเทศทั่วโลกทำสำเร็จมาแล้วคือต้องส่งเสริมพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อที่จะได้นำเสนอนโยบายแล้วทำไปปฏิบัติได้จริง หากพรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์แล้วสามารถทำได้จริง ประชาชนจะใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพิจารณาจากนโยบายเป็นหลัก
เมื่อให้น้ำหนักกับนโยบายพรรคการเมือง ตัวบุคคลและเงินซื้อเสียงจะลดความสำคัญลง
ดังนั้นการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอไม่มีทางที่จะแก้ซื้อเสียงได้
แนวคิดบอนไซพรรคการเมือง แต่ต้องการแก้ซื้อเสียงจึงเป็นความย้อนแย้ง
You must be logged in to post a comment Login