วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

หมู่บ้านเม่น / โดย วรวุฒิ สารพันธ์

On August 14, 2017

คอลัมน์ : เรื่องเล่าต่างแดน

ผู้เขียน : วรวุฒิ สารพันธ์

ในบ้านเรามีชาวบ้านและชุมชนหลายแห่งที่ร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติรวมทั้งสิงสาราสัตว์หลายชนิด

เห็นโครงการแนวนี้แล้วชื่นใจครับ

พืชและสัตว์ในบ้านเราจำนวนมากที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ถ้าไม่เลี้ยง ไม่อนุรักษ์ มีแต่ทำลายอย่างเดียว ฟันธงได้เลยว่าพืชและสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ดังกล่าวจะหายสาบสูญแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว

มีชุมชนหนึ่งที่ทำโครงการอนุรักษ์สัตว์อย่างจริงจัง กลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ ชื่อบ้านสุวรรณตะไล หรือหมู่บ้านวัดเด่น อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี สัตว์ที่อนุรักษ์คือแย้ เลยได้สมญานามว่า “หมู่บ้านอนุรักษ์แย้”

ใครอยากทักทายแย้ไปที่บ้านสุวรรณตะไลไม่มีผิดหวังครับ

ที่อังกฤษมีหมู่บ้านอนุรักษ์สัตว์เช่นกัน โดยเบอร์ตัน เฟลมิง (Burton Fleming) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีประชากรเพียง 450 คน ในภาคตะวันออกของประเทศ เป็นชุมชนหนึ่งที่มีชื่อเสียงจากกิจกรรมนี้

สัตว์ที่ชาวเบอร์ตัน เฟลมิง อนุรักษ์ ได้แก่ เม่น (Hedgehog) สัตว์ขนแหลมคล้ายติดหัวลูกดอกไว้เต็มตัว ใครไม่เคยเห็นก็ดูจากภาพประกอบครับ

จากการทำโครงการนี้ สื่อท้องถิ่นจึงให้สมญานามเบอร์ตัน เฟลมิง ว่า “หมู่บ้านเม่น”

หลายคนเห็นเม่นแล้วรู้สึกสยิวขนของมัน แต่มีไม่น้อยที่หลงเสน่ห์สัตว์ชนิดนี้ บอกว่าน่ารัก น่าเลี้ยงอย่างยิ่ง

โครงการเลี้ยงและอนุรักษ์เม่นของเบอร์ตัน เฟลมิง ริเริ่มโดยแกนนำชุมชนคนหนึ่งชื่อเคท เมอร์เซอร์ ที่รู้สึกว่าบรรยากาศของหมู่บ้านซบเซา ขาดชีวิตชีวา หลังจากไม่ค่อยเห็นเม่นเพ่นพ่านเหมือนเมื่อก่อน

เหตุที่เม่นแทบสูญพันธุ์ไปจากเบอร์ตัน เฟลมิง คือยังมีอยู่แต่มีน้อยมาก เนื่องจากถูกน้ำทำลายช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2012)

เมอร์เซอร์นำแนวคิดฟื้นชีพเม่นไปหารือโรงพยาบาลรักษาและพัฒนาพันธุ์เม่นที่อยู่ใกล้เคียง

ปรากฏว่าโรงพยาบาลเห็นดีเห็นงามด้วย พร้อมกับมอบเม่นให้ไปขยายพันธุ์ 52 ตัว โดยปล่อยให้หากินตามธรรมชาติในป่ารอบบ้าน รวมทั้งสวนในบ้าน

เมอร์เซอร์และเพื่อนบ้านทั้งชุมชนดีใจที่โรงพยาบาลมอบเม่นให้ มีการขุดรูในสวนให้เม่นได้อาศัย จัดสวนให้เม่นหากินได้อย่างปลอดภัย และมีการทำป้ายเตือนคนขับรถให้ระวังเม่นด้วย

ที่โรงพยาบาลรวมทั้งสื่อสนับสนุนชาวเบอร์ตัน เฟลมิง ในเรื่องนี้ เนื่องจากเม่นในอังกฤษมีแนวโน้มเสี่ยงสูญพันธุ์ ขณะที่ชาวเบอร์ตัน เฟลมิง มีจุดประสงค์อื่นพ่วงด้วย

นั่นคือ ต้องการให้หมู่บ้านมีบรรยากาศเหมือนในอดีต และต้องการให้ลูกหลานรู้จักเม่น ได้เห็นเม่นตัวเป็นๆเหมือนยุคปู่ย่า


You must be logged in to post a comment Login