- ปีดับคนดังPosted 13 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ขุดลอกคูคลอง / โดย ณ สันมหาพล
คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล
ดีใจที่เห็นคนไทยทั้งประเทศออกมาเป็นอาสาสมัครขุดลอกคูคลอง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำและทางเดินเท้า สะท้อนว่าคนไทยตระหนักดีถึงการเป็นประเทศที่มีน้ำท่วมซ้ำซากที่อาจนำพามาสู่การล่มสลาย เนื่องจากไม่มีนักลงทุนมาลงทุน ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่งประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนคาดหมายว่าจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญในอนาคตเชื่อมลาวและเวียดนาม เป็นประตูการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก 4 แห่งคือ จีน ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้
อุทกภัยน้ำท่วมช็อกนักลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ต่างเชื่อว่าภาคอีสานจะปลอดอุทกภัย และเหมาะกับการย้ายฐานการผลิตจากภาคกลางที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนกับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
ในอดีตทราบกันดีว่าประเทศไทยจะเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ทุกๆ 20 ปี เป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะชำระล้างสิ่งสกปรก ตลอดจนกำจัดแมลงและสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นภัยต่อคนและพืช แต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2485 และเกิดบ่อยครั้งขึ้น จนมีการประเมินว่าอาจเกิดทุกๆ 5 ปี และอาจจะทุกๆ 3 ปี เพราะการบุกรุกทำลายป่าและละเลยพื้นที่ต้นน้ำ ทั้งยังสร้างสิ่งปลูกสร้างปิดทางน้ำ ไม่มีแผนการป้องกันและบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาจึงไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
อย่างไรก็ตาม คนไทยมีความเป็นอาสาสมัครมาช้านาน ในอดีตน้ำไม่ค่อยท่วม เพราะมีการคมนาคมทางน้ำ จึงต้องดูแลคูคลองหนองบึง ตลอดจนแม่น้ำตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้แรงคน เนื่องจากเครื่องจักรกลยังไม่มี แรงคนล้วนเป็นอาสาสมัครที่เห็นความสำคัญของการคมนาคมทางน้ำ
สำนึกนี้หมดไปเมื่อการคมนาคมทางบกเข้ามาแทน พริบตาเดียวคนไทยเลิกสนใจการคมนาคมทางน้ำ จนพื้นที่ทางน้ำสกปรก และเผชิญกับการถูกคุกคามจากการบุกรุกและจับจองที่ดิน การทิ้งขยะ
พฤติกรรมเช่นนี้เกิดมาตลอด 60 ปีที่ผ่านมา หากอีก 60 ปีข้างหน้ายังเป็นเช่นนี้อีก ประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่อพยพคนหนีก็ต้องอยู่ไปวันๆ ไม่สามารถทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ทำประมง และการผลิตต่างๆได้อย่างเป็นระบบ เพราะจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ทุกปี กลายเป็นประเทศน้ำ นี่ยังไม่พูดถึงภัยจากสภาวะโลกร้อนที่ประเทศไทยอยู่ใกล้อ่าวและริมทะเลที่มีสิทธิจมน้ำได้
ประเทศที่เจริญแล้วจะเห็นค่านิยมความเป็นอาสาสมัคร ไม่ว่าจะไปที่ใดก็จะพบเห็นอาสาสมัครทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย สถานที่สำคัญๆจะมีอาสาสมัครคอยดูแล ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเป็นอาสาสมัครเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองและเมือง ยิ่งวันที่รำลึกสำคัญๆ อย่างวันทหารผ่านศึก วันโรคหัวใจ วันเด็กกำพร้า ฯลฯ จะมีอาสาสมัครออกมาเรี่ยไรเงิน จำหน่ายของที่ระลึกและทำกิจกรรมต่างๆ
คนไทยก็มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ มีการจัดงานประเพณีต่างๆทุกพื้นที่ตลอดทั้งปีทั่วประเทศ การจัดอาสาสมัครเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอย่างการขุดลอกคูคลองทำความสะอาดรักษาพื้นที่น้ำ จะทำให้คูคลองตลอดจนหนองบึงและแม่น้ำต่างๆทั่วประเทศสะอาดในเวลาไม่นาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
โดยเฉพาะการขุดลอกคูคลองในกรุงเทพฯ การทำความสะอาดตลาดในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างมาก ทางเดินเท้าที่สะอาด ไม่รกรุงรัง ตลาดเป็นระเบียบ หากเกิดขึ้นในทุกจังหวัดก็จะทำให้เกิดการซื้อขายในชุมชนต่างๆมากขึ้น
ในทำนองเดียวกันก็จะมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวมากขึ้น ชุมชนก็มีนักท่องเที่ยวหรือการซื้อขายเพิ่มขึ้น การทำความสะอาด การจัดพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน มีป้ายบอกเส้นทางชัดเจน มีสถานที่จอดรถ ซึ่งพื้นที่ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแม่น้ำลำคลอง สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างดี
การขุดลอกคูคลองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย โดยเฉพาะพวกนิยมธรรมชาติที่มีจำนวนมาก ซึ่งต้องการดูความงามและปรากฏการณ์ธรรมชาติใหม่ๆ ภาพแม่น้ำของไทยที่ใสสะอาด สองฝั่งที่มีวัดและบ้านเรือนรายรอบ เรือกสวนไร่นาที่มีสีเขียวและทุ่งนากว้างใหญ่
ภาพเหล่านี้จะปรากฏได้ก็ต้องเกิดความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าการรักษาความสะอาดของแม่น้ำ คูคลองต่างๆ ภูเขาสูงและป่าทึบ น้ำที่ไหลทะลักลงจากที่สูงตามธรรมชาติเป็นภาพที่หาดูได้ยาก ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องปรุงแต่ง ก็จะทำให้ตื่นตาตื่นใจยิ่ง
การสร้างอาสาสมัครไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคูคลองและรักษาแม่น้ำให้ใสสะอาด ผนวกเข้ากับประเพณีและการท่องเที่ยว ล้วนมีประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั้งสิ้น
You must be logged in to post a comment Login