- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
ประชามติจบแล้ว แต่คดียังไม่จบ! / โดย ilaw.or.th
คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน
ผู้เขียน : ilaw.or.th
1 ปีที่ผ่านมา หากใครที่ติดตามข่าวสารคงจะคุ้นหูอยู่บ้างกับข่าวเหตุการณ์การจับกุมผู้รณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หรือถ้าใครยังนึกไม่ออกเราจะเล่าให้ฟัง แม้ว่าวันนี้ประชามติ 7 สิงหาคมจะจบลงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการรณรงค์หรือวิพากษ์วิจารณ์ประชามติยังคงต้องเผชิญกับคดีความ
จากการรวบรวมข้อมูลของ iLaw พบว่า มีผู้ใช้เสรีภาพจำนวนไม่น้อยกว่า 203 คนถูกดำเนินคดี โดยในจำนวนนี้ 43 คนถูกดำเนินคดีฐานขัด พ.ร.บ.ประชามติฯ ขณะที่อีก 160 คนถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
จับใครบ้าง?
คนที่โพสต์ข้อความคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญบนเฟซบุ๊ค
กรณีแรกคือ “จีรพันธ์” ชาวขอนแก่น ที่โพสต์ทั้งภาพและข้อความไปในทำนองคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อความที่มีคนเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายการออกเสียงประชามติ ต่อมาคือกรณีของ “ชูวงศ์” ทนายความและเป็นแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จ.กระบี่ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวแสดงความคิดเห็นว่า “จะไปลงประชามติ แต่จะไม่รับร่างประชามติฉบับโจรปล้นชาติ” หรืออีกกรณีหนึ่งคือ “กฤษกร” ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน จากการโพสต์ความคิดเห็นส่วนตัวว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ถูกตีความว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2
การรณรงค์เกี่ยวข้องกับประชามติ
สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์แจกเอกสารรณรงค์ประชามติและเอกสารให้ความรู้เรื่องการออกเสียงนอกเขตจังหวัด การแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญของ “จตุภัทร์” หรือไผ่ ดาวดิน และ “วศิน” ที่ตลาดภูเขียว จ.ชัยภูมิ การแจกใบปลิวโหวตโนของ “สามารถ” ที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จ.เชียงใหม่ การเผยแพร่จดหมายเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นใน จ.เชียงใหม่ หรือการตะโกนชวนคนไม่ต้องไปลงประชามติของ “วิชาญ” ที่ จ.อุบลราชธานี เหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามมาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ
จับใครอีก?
การเปิดศูนย์ปราบโกงตรวจสอบประชามติ
วันที่ 19 มิถุนายน 2559 กลุ่ม นปช. ได้นัดหมายกันเปิดศูนย์ปราบโกงเพื่อตรวจสอบกระบวนการลงประชามติในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ ราชบุรี แพร่ สกลนคร หนองบัวลำภู อุดรธานี และสุรินทร์ เป็นต้น กระบวนการเปิดศูนย์ปราบโกงอาจเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการหรือชักชวนเพื่อนๆมาถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงในจังหวัดต่างๆ ลักษณะเช่นนี้ถูกตีความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
แล้วใครอีกบ้าง?
การจัดกิจกรรมเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
การจัดกิจกรรมเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานที่ ม.ขอนแก่น เป็นการพูดคุยให้ความรู้และความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ภายหลังกลับถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่ากระทำผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ในคดีนี้ไม่เฉพาะผู้จัดกิจกรรมเสวนาเท่านั้นที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา แต่นักสังเกตการณ์กิจกรรมเองก็ตกเป็นผู้ต้องหาด้วยเช่นกัน
การถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ฉีกบัตรออกเสียง
ความสับสนของลักษณะบัตรออกเสียง ทำให้วันลงประชามติมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยกว่า 11 คนฉีกบัตรออกเสียง แต่มีเพียงกรณีเดียวที่ฉีกบัตรด้วยความตั้งใจ คือกรณีของ “โตโต้ ปิยรัฐ” โดยเขารับรู้ถึงผลของการกระทำว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 ในระหว่างที่เขาฉีกบัตรนั้น “ทรงธรรมและจิรวัฒน์” เพื่อนของปิยรัฐที่ยืนอยู่นอกหน่วยออกเสียง ได้ถ่ายวิดีโอการฉีกบัตรและเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่มองว่าลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายกับปิยรัฐในหน่วยออกเสียง ตามมาตรา 60(9) ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ
มาจนถึงวันนี้ครบรอบ 1 ปีของประชามติ 7 สิงหาคม มีผู้ที่ใช้เสรีภาพที่อยู่ระหว่างการสู้คดี 147 คน มีประชาชนอีกจำนวน 33 คนที่ต้องยินยอมปรับทัศนคติในค่ายทหารเพื่อแลกกับการสิ้นสุดคดีด้วยความยากลำบากในระหว่างการพิจารณาคดี แต่ยังพอมีข่าวดีกับเสรีภาพอยู่บ้าง อย่างการยกฟ้องคดี 1 คน และอัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คน ขณะที่ยังมีประชาชนอีกจำนวน 18 คนที่อยู่ระหว่างรอคำสั่งฟ้อง นอกจากนี้ยังมีอีก 3 คนที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหว
You must be logged in to post a comment Login