วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ขาประจำ?

On August 17, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ประกาศรายชื่อกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับผู้ผ่านคัดเลือกเข้าเป็นคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน มีใครได้ไปต่อบนถนนสายอำนาจในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปบ้างคงทราบกันไปแล้ว ซึ่งส่วนมากก็พวกขาประจำที่นั่งทำงานมาหลายเวที ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

กรอบเวลาการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านตามกฎหมายขีดเส้นเอาไว้ 1 ปีจะต้องรังสรรค์ผลงานออกมาให้ประชาชนได้ชื่นชม แต่ว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใจร้อนอยากให้ประชาชนเห็นผลงานเร็วกว่านั้นจึงประกาศขีดเส้นเร่งผลงานออกมาอวดประชาชนให้ได้ใน 8 เดือนนับจากนี้

งานของคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านไม่มีอะไรมาแค่เอาผลการศึกษาของสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาวางแผนกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติเพื่อแปลงผลการศึกษาให้ออกมาเป็นผลงานจริง

นอกจากคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านแล้วภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้รัฐบาลจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือ “ซุปเปอร์บอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ” ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง และภายในสิ้นเดือนกันยายนจะต้องแต่งตั้ง คณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ชาติที่มีหน้าที่ยกร่างยุทธศาสตร์ชาติใน 6 ด้าน ขึ้นมาอีกคณะหนึ่งเพื่อร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เห็นรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านแล้ว พวกที่ขาลอยจากอำนาจไม่ว่าจะเป็นข้าราชการวัยเกษียณ หรืออดีตสปช. อดีตสปท.ที่ถูกยุบไปตามวาระ ทำให้คนในฝ่ายสนับสนุนกลุ่มอำนาจปัจจุบันที่อกหักผิดหวังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านยังได้ลุ้นกันยาวๆว่าจะมีชื่อติดอยู่ในบัญชีซุปเปอร์บอร์ดยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

หากไม่มีชื่อติดอยู่ในสองชุดที่จะตั้งนี้ก็ไม่ถือว่าสิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะยังมีโอกาสได้ไปนั่งเป็นอนุกรรมการคณะต่างๆที่จะแต่งตั้งขึ้นมาช่วยกันทำงานวางยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปด้านต่างๆอีกมากมายหลายคณะ

เรียกว่าตกขบวนเที่ยวนี้ก็นั่งรอที่สถานีเพราะยังมีขบวนต่อไปให้ได้ขึ้น

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ระบุแม้ส่วนตัวจะเคารพในความรู้ความสามารถของทุกคน แต่เมื่อเห็นรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านก็มีข้อสรุปในใจว่า เนื้องานของคณะนี้คงเป็นไปแบบตามใจแป๊ะ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนกันเองที่วนเวียนทำงานให้คสช.มาแล้วในบทบาทต่างๆ จึงขอขนานนามว่า กรรมการปฏิรูปคณะนี้ว่าเป็นชุดรวมญาติ หลักประกันเพื่อลูกหลานมีงานทำ ซึ่งแบ่งออก 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ลูก(น้อง)ลุงตู่ หมายถึงกลุ่มข้าราชการและอดีตข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ 2.หลานลุงกำนัน หมายถึง กลุ่มคนทั้งภาครัฐ เอกชน และนักเคลื่อนไหวที่เคยมีบทบาทบนเวทีกปปส. และ3.ลูกเรือแป๊ะ หมายถึง กลุ่มที่เคยมีตำแหน่งในแม่น้ำ5 สาย

“การปฏิรูปซึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จคือความหลากหลายทางความคิดและการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่เป็นได้เพียงผู้ชม ผมไม่ได้ปรามาสก่อนที่ทุกท่านจะได้ลงมือทำงาน แต่พูดเพราะเห็นว่าประเทศนี้ก็เป็นของประชาชนอย่างพวกผมเหมือนกัน จึงเป็นห่วงว่าการปฏิรูปที่กำลังพูดถึงกันจะกลายเป็นการปฏิสังขรณ์รัฐราชการ ภายใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยมให้มีอิทธิพลในบ้านเมืองไปอีกนาน”

แม้นายณัฐวุฒิจะถูกมองว่าฝ่ายเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองแต่คำกล่าวของนายณัฐวุฒิก็มีประเด็นให้น่าคิด

ตั้งแต่รัฐประหารเราสูญสิ้นงบประมาณไปกับการปฏิรูปแล้วเท่าไหร่ ตั้งกรรมการตั้งสภากันมาแล้วกี่คณะกี่ชุด ในห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเราได้ผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมแล้วบ้าง

พวกหน้าเก่าชื่อเดิมๆนั่งเป็นกรรมการ เป็นสมาชิกสภาที่ตั้งกันขึ้นมาแล้วกี่คณะ และจะได้เป็นกรรมการหรือสมาชิกสภาอีกกี่คณะที่จะแต่งตั้งขึ้นอีกในวันข้างหน้า

คำถามคือคนเหล่านี้มีผลงานปฏิรูปอะไรเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนหรือไม่ ประเทศมีเพียงคนกลุ่มนี้กลุ่มเดียวที่ต้องแต่งตั้งเท่านั้นหรือ ทุกครั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มักมีคำอธิบายทำนองว่าอย่ารีบร้อนติเตียน หน้าตาอาจไม่ดีแต่ขอให้รอดูผลงานก่อน อย่าติเรือทั้งโกลนเขายังไม่เริ่มทำงานเลย ฯลฯ

ทั้งนี้ หากพิจารณาดีๆนี่ไม่ใช่การติเรือทั้งโกลนเพราะขาประจำเหล่านี้ส่วนมากนั่งทำงานปฏิรูปมาแล้วหลายสถานะลุกจากวงนั้นก็มานั่งวงนี้ ลุกจากวงนี้ก็ไปนั่งวงโน้นวนเวียนไปอย่างนี้มาตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา


You must be logged in to post a comment Login