วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตะกาฟุล / โดย บรรจง บินกาซัน

On August 21, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

ความรักในชีวิตและทรัพย์สินเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ มนุษย์รู้ดีว่าเคราะห์กรรมและความสูญเสียเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ มนุษย์จึงมีมาตรการสารพัดในการป้องกันความสูญเสีย ถ้าป้องกันไม่ได้มนุษย์ก็จะหาทางช่วยกันบรรเทาภาระความสูญเสีย

ชาวอาหรับก่อนหน้าสมัยอิสลามประกอบอาชีพค้าขาย โดยการนำกองคาราวานสินค้าจากที่หนึ่งไปขายยังอีกที่หนึ่ง และซื้อสินค้าจากที่หนึ่งไปขายยังอีกที่หนึ่ง ศูนย์กลางการค้ากลางทะเลทรายของอาหรับในเวลานั้นคือ เมืองมักก๊ะฮฺ

ก่อนออกเดินทางไกลไปค้าขายหรือรบทัพจับศึก พ่อค้าชาวอาหรับในเมืองมักก๊ะฮฺที่เป็นเจ้าของกองคาราวานสินค้าจะมากราบไหว้เทวรูปที่ตนเคารพสักการะและวิงวอนขอต่อเทพเจ้าให้ตนโชคดีมีชัย เดินทางปลอดภัย และค้าขายได้กำไรงามกลับมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ แต่ชาวอาหรับก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่ากลางทะเลทรายมีอันตราย 2 อย่างที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของตนได้ นั่นคือ กองโจรและพายุทะเลทราย ซึ่งหากประสบเคราะห์กรรมจาก 2 สิ่งนี้แล้ว เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองเคารพบูชาก็ไม่สามารถวิ่งมาให้ความช่วยเหลือได้

ภัยกลางทะเลทราย 2 ประการที่สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินนี้เป็นสิ่งที่พ่อค้าชาวอาหรับตระหนักดีและยอมรับ ดังนั้น เมื่อไม่อาจป้องกันความสูญเสียได้ พ่อค้าชาวอาหรับจึงมีมาตรการบรรเทาความเสียหายเพื่อให้ตนสามารถดำเนินการค้าต่อไปได้

ก่อนออกเดินทางพ่อค้าชาวอาหรับที่จะนำสินค้าไปขายยังต่างแดนจะทำข้อตกลงร่วมกันอย่างหนึ่งซึ่งเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “ตะกาฟุล” ตามข้อตกลงนี้พ่อค้าจะนำเงินจำนวนหนึ่งมาฝากไว้ให้คนผู้หนึ่งซึ่งทุกคนไว้ใจทำหน้าที่ดูแล โดยมีข้อตกลงง่ายๆว่า หากกองคาราวานสินค้าเดินทางกลับมาโดยปลอดภัย เงินจำนวนนี้จะถูกคืนให้แก่พ่อค้าเจ้าของเงิน โดยเจ้าของเงินยินดีหักเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ดูแลเงินตามที่ตกลงกัน

ถ้าหากพ่อค้าคนใดได้รับความเสียหายจากการถูกปล้นหรือสินค้าได้รับความเสียหายจากพายุทะเลทราย พ่อค้าที่เข้าร่วมวงตะกาฟุลยินดีที่จะยกเงินของตนให้แก่เพื่อนพ่อค้าที่ได้รับเคราะห์กรรมเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระความสูญเสีย

นบีมุฮัมมัดเห็นการทำธุรกรรมเช่นนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุ 12 ขวบเมื่อท่านติดตามลุงไปทำการค้าที่ซีเรีย เมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของพระเจ้าทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนอิสลามตอนอายุ 40 ปี ท่านยอมรับวิธีการตะกาฟุลว่าเป็นเรื่องดี

เมื่อท่านอพยพจากมักก๊ะฮฺไปยังเมืองยัษริบเพราะถูกต่อต้าน ท่านได้นำเอารูปแบบและวิธีการตะกาฟุลไปประยุกต์ใช้ในเมืองยัษริบ เพราะท่านรู้ดีว่าเคราะห์กรรมมิได้เกิดจากโจรและพายุทะเลทรายเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดจากการรุกรานของศัตรูที่เกลียดชังท่าน ดังนั้น ท่านจึงเรียกหัวหน้าเผ่าต่างๆในเมืองยัษริบมาประชุม และให้หัวหน้าเผ่าทำข้อตกลงว่าหากเกิดสงครามสมาชิกของแต่ละเผ่าต้องช่วยกันรับผิดชอบคนในเผ่าของตัวเองในเรื่องค่าสินไหมหรือค่าไถ่หากสมาชิกในเผ่าของตนทำให้คนในเผ่าอื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือถูกจับไปเป็นเชลย

ตะกาฟุลจึงไม่เพียงเป็นมาตรการบรรเทาความเสียหายทางด้านการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นระบบสวัสดิการทางสังคมที่สมาชิกในสังคมมีส่วนรับผิดชอบในการดูแลคนในสังคมอีกด้วย

ตะกาฟุลเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคมมุสลิมหลังสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด มันเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรมไม่มีอยู่ในคำสอนและการปฏิบัติทางศาสนา แต่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องช่วยกันดูแลรักษา


You must be logged in to post a comment Login