วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศักดิ์ศรีที่หายไป / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On August 21, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

สถานการณ์บ้านเมืองแม้ตามระยะเวลาโรดแม็พเลือกตั้งจะหดสั้นเข้ามาทุกที แต่บรรยากาศบ้านเมืองยังคุกรุ่นไม่ต่างจากรัฐประหารใหม่ๆเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งในส่วนของประชาชนและนักวิชาการ

แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วและมีหมวด 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย แต่ดูเหมือนว่าประกาศ คำสั่ง ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังมีสถานะเหนือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ปกครองบ้านเมือง

คนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับรัฐบาล คนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน (เฉพาะบางราย) ของรัฐบาลยังถูกดำเนินคดี จึงเกิดคำถามว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มีไว้ทำไม

ลองย้อนไปดูข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญหมวด 3 ที่เริ่มตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 49 ว่าได้กำหนดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เพื่อตรวจดูว่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่กฎหมายสูงสุดให้การรับรองไว้นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกำหนดในมาตรา 34 ที่ระบุไว้ชัดว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

มาตรา 35 ระบุว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชน ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่กำหนดและประกาศให้ประชาชนทราบด้วย

เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย

มาตรา 36 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆเพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

อีกมาตราที่น่าสนใจซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้คือ มาตรา 41 ระบุไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ 1.ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ 2.เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว 3.ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

มาตรา 44 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้การใช้สิทธิหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องอยู่ภายในกรอบกฎหมายอื่น และสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายอื่นจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

แต่การใช้อำนาจตามกฎหมายอื่น เช่น ประกาศหรือคำสั่ง คสช. ดำเนินการกับผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เท่ากับเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

จริงอยู่ว่าการแจ้งดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นสิทธิที่ทำได้ และผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดียังมีสิทธิที่จะพิสูจน์ความจริงได้ในกระบวนการยุติธรรม ถูกผิดอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้พิพากษา

แต่การดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองก็ส่งสัญญาณถึงการไม่เปิดกว้างรับฟังความเห็น และตอกย้ำถึงการเลือกปฏิบัติ เมื่อปรากฏว่าผู้ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีส่วนมากถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐบาล

ที่สำคัญที่สุดคือไม่ส่งเสริมบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกว่าประเทศกำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง นับถอยหลังกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้เองแม้การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านมาครบ 1 ปีเต็มแล้ว แต่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศของกรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แม้จะพบว่าร้อยละ 53.0 เห็นว่าการเมืองมีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ร้อยละ 20.3 กลับเห็นว่าการเมืองยังไม่ได้ขับเคลื่อนไปไหน และร้อยละ 19.2 เห็นว่าการเมืองไทยกำลังถอยกลับสู่ความขัดแย้งเดิมๆ

นอกจากนี้ร้อยละ 45.3 ยังไม่เชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จทันตามกรอบเวลาโรดแม็พ ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก โดยร้อยละ 34.1 เชื่อว่าน่าจะเลือกตั้งได้ตามกำหนดเดิม ร้อยละ 20.6 ระบุว่าไม่แน่ใจ

จะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมือง ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง โดยเน้นใช้กฎหมายรองมากกว่ากฎหมายหลักอย่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่เกิดบรรยากาศที่ประชาชนรู้สึกหรือเชื่อได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ตามโรดแม็พ

นี่เป็นผลกระทบจากการทำให้ศักดิ์ศรีของรัฐธรรมนูญถูกลดทอนลงไปในฐานะกฎหมายแม่บทปกครองประเทศ


You must be logged in to post a comment Login