- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ตามรอยมวยไทยในบริบทศรีวิชัย (2) / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก
คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้เสนอแนวคิดและปฐมบทเรื่องมวยไทย มาฉบับนี้ผมมีแนวคิดสุดท้ายในการเขียนเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวคิดล่าสุดที่ได้ถกแถลงและวิวาทะกันอย่างหนักกับ ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ซึ่งเป็นนักการศึกษาที่สำเร็จมาทางปรัชญาประวัติศาสตร์ และเห็นสอดคล้องกันว่าเราจำเป็นต้องยอมรับทฤษฎีผสมผสานทางวัฒนธรรม เพราะสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากมาย มีการเดินทางด้วยหลายวัตถุประสงค์ รวมถึงการค้าขายและการแลกเปลี่ยนศิลปะวิทยาการต่างๆ
ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยน่าจะเกิดขึ้นจากเหตุผลที่อธิบายได้เช่นนี้ คือการเชื่อมโยงทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังนั้น การทำงานชิ้นนี้ให้สมบูรณ์จึงจำเป็นต้องยอมรับความหมายของประวัติศาสตร์ที่เป็นรากศัพท์ดั้งเดิมในภาษากรีกที่ว่า “Historio” หรือ “History” ซึ่งแปลว่า Investigation หมายถึง การตรวจสอบ การทำงานประวัติศาสตร์คือกระบวนการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานนั่นเอง
ดร.ณัฐวุธขอให้ผมพยายามเสนอข้อมูลและความคิดเห็นแทรกในหนังสือเล่มนี้ตามความเหมาะสม ซึ่งหลายอย่างนั้นผมอาจเห็นต่างไปบ้างจากประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่มันคือความจำเป็นในการทำงานประวัติศาสตร์ตามความหมายปรัชญาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรีกโรมันที่เรียกว่ากระบวนการตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน ตลอดจนความคิดและความเห็น
ถ้าจะให้ผมเริ่มต้นว่าศิลปะการต่อสู้ในแบบมวยไทยควรเริ่มต้นจากจุดไหน โดยส่วนตัวและจากการค้นคว้าเห็นว่าศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยคงมีการเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับชนเผ่า “เยว่จื่อ” ซึ่งเป็นนักรบรับจ้างของจีนบนเส้นทางสายไหมตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น และมารุ่งเรืองที่สุดสมัยราชวงค์ถัง ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ศรีชัยนาศ หรือจักรพรรดิศรีชัยนาศแห่งอาณาจักรศรีวิชัย
จากเหตุผลตรงนี้จึงทำให้เชื่อได้ว่ากำเนิดศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยน่าจะอยู่ในบริเวณเอเชียกลางอันเป็นบริเวณที่เรียกเป็นภาษาจีนกลางว่า “ซื่อวี่” หมายถึงภูมิภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนขยายของประเทศอุซเบกิสถาน และอาจรวมถึงประเทศทาจิกิสถานในปัจจุบัน ตลอดจนบริเวณที่เรียกว่ามณฑลกานซู หรือภูมิภาคตุนหวงของจีน
ข้อมูลต่างๆเหล่านี้จึงเชื่อมโยงได้ว่าการกำเนิดมวยไทยน่าจะมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชวงค์ถังในสมัยของบูเช็กเทียน โดยพระนางมีความเชื่อว่าตัวเองคือพระโพธิสัตว์ที่กลับชาติมาเกิด ร่องรอยความเชื่อเหล่านี้จะเห็นได้จากบริเวณถ้ำมั่วเกา ซึ่งพระนางได้สร้างหอคอยไว้แห่งหนึ่งหุ้มพระพุทธรูปไว้ถึง 9 ชั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย เป็นพระพุทธรูปที่มีสัญลักษณ์ดอกบัว ถ้ำมั่วเกาจึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการกำเนิดของมวยไทย
กำเนิดมวยไทยคงไม่มีอะไรยืนยันชัดเจน แต่เป็นลักษณะของตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาคล้ายๆกับพระโพธิธรรมแห่งวัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นสังฆนายกของจีนในราชวงค์ถังที่ได้ค้นพบวิทยายุทธ์ เช่นเดียวกับที่ตำนานเล่าว่า ถ้ำมั่วเกาเป็นถ้ำที่ใหญ่และเกิดจากนักบวชชื่อว่า “หลวงจีนหลอซุน” ได้เรี่ยไรให้สร้างถ้ำแห่งนี้ขึ้นมา ภายในถ้ำเป็นที่เก็บตำราต่างๆของพุทธศาสนา และมีภาพพุทธศิลปะมากมายที่ถูกวาดไว้บนผนังถ้ำ มีเรื่องเล่าว่า ในวันหนึ่งมีกลุ่มหลวงจีนที่กำลังภาวนาอยู่ในถ้ำต้องเผชิญหน้ากับงูใหญ่ตัวหนึ่ง จึงต้องต่อสู้ป้องกันตัว หลบให้พ้นจากการฉกของงูดังกล่าว
จุดนี้เองเป็นเรื่องเล่าถึงการกำเนิดของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งจะเป็นแบบมวยไทยหรือแบบใดไม่มีอะไรยืนยันได้ เพียงแต่เล่าต่อมาว่าเกิดศิลปะการต่อสู้ขึ้นในถ้ำที่เรียกว่า “ถ้ำหมื่นพระพุทธรูป” ซึ่งอยู่ในถ้ำมั่วเกาของภูมิภาคตุนหวง ส่วนประการอื่นๆเป็นเรื่องของข้อคิดและข้อสันนิษฐาน เป็นหลักการทั่วไปของนักประวัติศาสตร์
โดยสรุปผมจึงเห็นว่าศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยแม้จะมีกำเนิดในบริเวณดังกล่าว แต่มีวิวัฒนาการและการผสมกลมกลืนที่หลากหลาย ด้วยเหตุเช่นนี้จึงทำให้ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยมีความหลากหลายและอันตรายมากที่สุด ยกตัวอย่างพวกชนเผ่าเยว่จื่อซึ่งเป็นนักรบที่รูปร่างใหญ่โตและแข็งแรง ต้องต่อสู้กับทหารมองโกลและทหารซงหนู ซึ่งทหารจีนสู้ไม่ได้ นอกจากจะใช้ธนูและเกาทัณฑ์ยิงต่อสู้ในระยะไกล แต่พอระยะประชิดตัวต้องค้นหาวิธีสู้ด้วยการจับล็อก ทุ่ม ทับ และหักปล้ำ ซึ่งมวยไทยแต่โบราณก็มีศิลปะส่วนหนึ่งของมวยปล้ำมาเกี่ยวข้อง แล้วพัฒนาผสมกลมกลืนไป อีกตัวอย่างเช่น การยกทหารเข้ามาของกรีกในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจนถึงอินเดียตอนใต้ ได้นำการต่อสู้แบบมวยปล้ำของโรมันเข้ามาเผยแพร่ แต่มีการผสมกับการกระโดดตีลังกาและเตะถีบเข้าไปด้วย จึงเกิดศิลปะการต่อสู้ของอินเดียโบราณที่เรียกว่า “คาลายะติ” ซึ่งชี้ให้เห็นพัฒนาการของการต่อสู้ที่นำเอาการปล้ำ ทุ่ม ทับ จับหัก เข้าไปผสมกับการเตะต่อย เข้าใจว่าต่อมาการต่อสู้แบบอินเดียที่เรียกว่า “คาลาริปยัตตุ” ก็ถูกส่งผ่านมาสู่อาณาจักรจามปา กลายเป็นมวยแบบขอมโบราณที่เรียกว่า “โบกาโต้”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นเพื่อจะบอกว่ามีการส่งผ่านและปรับประยุกต์มาเรื่อยๆด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมที่หลากหลาย จนกระทั่งกลายเป็นการต่อสู้ศิลปะมวยไทยที่ใช้นวอาวุธที่มีพิษสงรอบตัว
นั่นคือการอธิบายตามความเข้าใจของผู้เขียน แต่ถ้าถามถึงความเห็นที่เป็นไฮไลท์ ผู้เขียนเห็นว่าสูงสุดของวิชามวยไทยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธนิกายมหายานเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับเรื่องของจิตสมาธิ ยกตัวอย่างพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร ซึ่งเป็นแนวทางของพระโพธิสัตว์ เป็นพระสูตรที่เผยแพร่ในช่วง 8 ปีสุดท้ายก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ซึ่งเป็นพระสูตรที่เหมาะสมสำหรับการใช้ในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นการแสดงถึงพลังชีวิตนิรันดร์ของจักรวาลและพระโพธิสัตว์ เป็นการเคารพต่อคุณค่าและคุณธรรมที่มีอยู่ในชีวิตของผู้คนทุกคนในโลกนี้
จากไฮไลท์เรื่องจิตและการแสดงถึงพลังชีวิตนิรันดร์ของจักรวาล เปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในรูปของโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้เขียนคิดว่าตรงนี้น่าจะไฮไลท์ในการรณรงค์ที่มีคุณค่าให้ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยเป็นกระบวนการหนึ่งที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพของโลกขึ้นมา
You must be logged in to post a comment Login