วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

อยู่ที่การปฏิบัติ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On August 28, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

การปราบโกงที่เป็นข้ออ้างหนึ่งของการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 แม้กว่า 3 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปกครองประเทศ ประชาชนไม่รู้สึกว่าการทุจริตโกงกินในบ้านเมืองลดลงอย่างที่คาดหวังมากนัก แต่ความพยายามแก้โกงก็พอมีความคืบหน้าให้เห็นบ้าง

สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ การออกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … หรือกฎหมาย 4 ชั่วโคตร ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบในวาระแรกไปแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน จากนี้ก็เป็นขั้นตอนการแปรญัตติก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวาระที่ 2 และ 3 ก่อนออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ความน่าสนใจของร่างกฎหมายนี้คือ ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตจะไม่เป็นความผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาอีกต่อไป จะขยายไปถึงบุพการี คู่สมรส พี่น้องทั้งร่วมและต่างบิดามารดา และบุตร หากบุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด

เพื่อไม่ให้คนโกงใช้วิธีแบบศรีธนญชัยเลี่ยงกฎหมาย ในร่างกฎหมายให้คำจำกัดความคำว่า “คู่สมรส” อย่างชัดเจนว่าหมายรวมถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียน แต่ก็มีปัญหาว่าจะตีความไปถึงภริยาน้อยหรือกิ๊กที่ไม่ได้อยู่กินกันแบบเปิดเผยด้วยหรือไม่

ในกรณีของ “ญาติ” ได้เขียนไว้ค่อนข้างครอบคลุมคือ หมายถึงบุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรสของบุตร พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา บุตรบุญธรรม หรือผู้รับบุตรบุญธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และระบุให้เกิดความชัดเจนด้วยว่า “ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวพันโดยทางพฤตินัยหรือนิตินัย”

ส่วนพฤติกรรมที่เข้าข่ายมีความผิดตามร่างกฎหมายกำหนดว่า “ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้” โดยมีคำขยายความไว้ชัดเจนว่าพฤติการณ์เหล่านี้ถือเป็นความผิด 1.การปลดหนี้หรือลดหนี้ให้เปล่า 2.การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย 3.การเข้าค้ำประกันโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม 4.การให้ค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียมการเป็นตัวแทน 5.การขายหรือการให้เช่าซื้อทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าที่เป็นจริงตามที่ปรากฏในท้องตลาด

6.การซื้อหรือการเช่าซื้อทรัพย์สินสูงกว่ามูลค่าที่เป็นจริงตามที่ปรากฏในท้องตลาด 7.การให้ใช้สถานที่ ยานพาหนะ หรือทรัพย์สิน โดยไม่คิดค่าเช่าหรือค่าบริการ หรือคิดค่าเช่าหรือค่าบริการน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่นโดยปรกติทางการค้า 8.การให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ หรือคิดค่าบริการน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่นโดยปรกติทางการค้า 9.การให้ส่วนลดในสินค้าหรือทรัพย์สินที่จำหน่าย โดยให้ส่วนลดมากกว่าที่ให้แก่บุคคลอื่นโดยปรกติทางการค้า 10.การให้เดินทาง หรือขนส่งบุคคลหรือสิ่งของโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่นโดยปรกติทางการค้า

11.การจัดเลี้ยง การจัดมหรสพหรือการบันเทิงอื่นให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่นโดยปรกติทางการค้า 12.การให้บริการวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร กฎหมาย หรือบัญชี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่นโดยปรกติทางการค้า 13.การให้รางวัล 14.การชำระเงินล่วงหน้าหรือการคืนเงินให้ในภายหลัง 15.การอื่นใดซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้นั้นได้รับประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หรือไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย

นอกจากการให้หรือรับอันอาจคำนวณเป็นเงินได้โดยตรงแล้ว ยังกำหนดให้พฤติการณ์เหล่านี้เป็นความผิดด้วยคือ

1.การกำหนดนโยบายหรือเสนอให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายหรือร่างกฎหมายซึ่งเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียเกินกว่าส่วนได้เสียตามปรกติที่บุคคลทั่วไปมีอยู่ ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล การถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ถือเป็นการมีส่วนได้ส่วนเสียเกินกว่าปรกติ

2.การใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่เป็นความลับอยู่ ซึ่งเจ้าตัวได้รับรู้จากการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่โดยทุจริต

3.การริเริ่ม เสนอจัดทำหรืออนุมัติโครงการของรัฐโดยทุจริต หรือเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

4.การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติหน้าที่อยู่เพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎ หรือทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดออกข้อกำหนดภายหลังว่าทรัพย์สินใดนำไปใช้ได้หรือใช้ไม่ได้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ

5.การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด โดยข้อห้ามนี้ให้บังคับใช้แก่คู่สมรสหรือบุตรของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย และหากเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของคู่สมรสหรือบุตร หรือรู้แล้วแต่เพิกเฉยไม่แก้ไข ให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นรับโทษเช่นเดียวกับคู่สมรสหรือบุตรด้วย

สำหรับอัตราโทษสูงสุดตามร่างกฎหมายนี้คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำต้องระวางโทษ 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามทำให้เห็นว่ามีความคืบหน้าในการปฏิรูปกระบวนการเอาผิดคนทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็มีข้อท้วงติงอยู่พอสมควรว่าการออกกฎหมายในลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อรัฐ

กล่าวคือ การกำหนดให้เอาผิดได้ 4 ชั่วโคตร เป็นการตีความกว้างมากเกินไป เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าทำความผิด คนรอบตัวจะได้รับความเดือดร้อนกันหมดทั้งที่อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นการกระทำผิดที่ถูกกล่าวหา ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งกันได้ ทำให้ไม่มีใครอยากเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

คนที่เห็นต่างมองว่าการบังคับใช้กฎหมายควรยึดหลักการสากลที่หลายประเทศใช้กัน กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริต การจะขยายความไปเอาผิดถึงใครนั้นให้ดูที่พยานหลักฐานที่มีเป็นสำคัญ หากบ่งชี้ว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิด ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในวง 4 ชั่วโคตรหรือไม่ก็ต้องตามไปเอาผิดทั้งอาญาและแพ่ง

ทั้งความพยายามออกกฎหมายใหม่ๆมาใช้ปราบโกงและคำท้วงติงถือว่าเป็นเจตนาที่ดีทั้ง 2 ฝ่าย

ถ้าจะมีปัญหาก็มีอย่างเดียวคือ “ปัญหาในทางปฏิบัติ” ไม่ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไรหากปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา

ที่สำคัญคือหากปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาแทบไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เพราะเท่าที่มีอยู่ก็มากพอที่จะปราบโกงได้แล้ว อย่าว่าแต่ 4 ชั่วโคตรเลย 7 ชั่วโคตร 10 ชั่วโคตรก็เอาผิดได้ หากผู้เกี่ยวข้องทำหน้าที่กันอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา


You must be logged in to post a comment Login