วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วันพิพากษา / โดย ทีมข่าวการเมือง

On August 28, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“วันนี้ดิฉันก็อยู่ที่นี่ ยืนยันที่จะพิสูจน์ความจริง และหวังว่าสิ่งที่ดิฉันพิสูจน์ความจริงนี้จะทำให้ทุกอย่างรอดพ้นจากคดี เพราะเราก็เชื่อในความบริสุทธิ์ของเราในการที่จะต่อสู้”

อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์ตอนหนึ่งว่า “ไม่เคยคิดหลบหนีการพิจารณาคดี เพราะถ้าต้องการหนีก็คงทำไปตั้งแต่แรกก่อนจะขึ้นศาลแล้ว ที่ผ่านมาได้พยายามอยู่เงียบๆมานานเกือบ 2 ปี ปล่อยให้รัฐบาลบริหารประเทศ แต่บางครั้งจำเป็นต้องออกมาพูด เพราะเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจประเด็นที่คลาดเคลื่อน”

คำพูดของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า จากการต่อสู้กว่า 2 ปี 4 เดือนนั้น เธอยืนหยัดต่อสู้คดีอย่างเข้มแข็งภายใต้รัฐบาลทหาร ซึ่งถูกตั้งคำถามมากมายว่าเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมหรือไม่? เพราะภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากการรัฐประหารนั้น เห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกันว่ามีความพยายามอย่างมากที่จะใช้กลไกทั้งทางรัฐสภาและองค์กรอิสระกดดันอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ทั้งทางตรง ทางอ้อม และรวดเร็วเหนือมาตรฐาน

โดยเฉพาะ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งที่ 56/2559 ใช้อำนาจทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก และให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์กว่า 35,000 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นความเสียหายทางแพ่ง ซึ่งไม่ใช่คดีรับจำนำข้าวที่ศาลฎีกาฯจะพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เนื่องจากมีการยึดทรัพย์เป็นจำนวนมาก ต้องให้อำนาจกรมบังคับคดีเข้าไปจัดการ และยืนยันว่าอำนาจตามมาตรา 44 ไม่มีผลต่อคำตัดสินของศาลปกครองแต่อย่างใด แต่ก็หลุดคำพูดที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องจารึกว่า “อภินิหารทางกฎหมาย” เอาไว้เป็นกรณีศึกษา

การเมืองเรื่อง “ข้าวเน่า”

ประเด็นฉาวที่รัฐบาลทหารเพิกเฉยและพยายามจะไม่ให้เป็นข่าวคือ กรณีการประมูลข้าวเสื่อมสภาพในโกดังในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐ โดย .ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธานตรวจสอบคุณภาพข้าว และใช้มาตรฐานใหม่มากำหนด ทั้งการฉ่ำ (การฉ่ำคือ การเก็บตัวอย่างข้าวเปลือกที่บรรจุในกระสอบ เครื่องมือที่ใช้คือ ฉ่ำแทงข้าว และกระด้งฝัด ซึ่งจะต้องใช้ฉ่ำแทงข้าวทุกๆกระสอบเพื่อเก็บตัวอย่างข้าวใส่กระด้งฝัดข้าว โดยการใช้ฉ่ำแทงข้าวทั้งปากกระสอบ กลางกระสอบ และก้นกระสอบสลับกันไป) ข้าวแต่ละกองไม่ถึง 200 กระสอบ จากกองหนึ่งมี 20,000 กระสอบ และยังทำไม่ทั่วทั้งกองข้าวอีกด้วย นำมาสู่ประเด็นการประมูลขายข้าวเสื่อมคุณภาพในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ทั้งที่เจ้าของโกดังหลายแห่ง รวมถึงนายพศดิษ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้า องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกมายืนยันว่าเป็นข้าวดีที่คนบริโภคได้ และสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งจะทำให้ประเทศได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญนายพศดิษยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังการรัฐประหารรัฐบาล คสช. ได้มีคำสั่งโดยกระทรวงพาณิชย์ให้ยกเลิกการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่เคยติดตั้งอยู่ที่โกดังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำข้าว สั่งเปลี่ยนคณะบุคคลที่ถือกุญแจ และตั้งแต่ปี 2557-2559 กระทรวงพาณิชย์ห้ามไม่ให้มีการเปิดโกดังข้าวเพื่อรมยาตามปรกติ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวในโครงการรับจำนำข้าวได้รับความเสียหาย ซึ่งประเด็นข้าวเสื่อมคุณภาพนี้ไม่ใช่แค่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งการตัดสินของศาลฎีกาฯและการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่ยังเกิดคำถามตามมาว่ากำลังเกิดเหตุการณ์ทุจริตคอร์รัปชันที่เอาผิดหรือตรวจสอบไม่ได้เพราะได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรา 44 หรือไม่?

กปปส. จุดไฟรัฐประหาร

ประเด็นเรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพหรือข้าวเน่าที่ถูกเพิกเฉยถูกมองว่าเป็นการเล่นการเมืองเพื่อกำจัดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และระบอบทักษิณ เพราะคดีรับจำนำข้าวถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์และนำมาซึ่งการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หลังจากชุมนุมใหญ่ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง จนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ต้องประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่นายสุเทพและผู้ชุมนุมก็ปฏิเสธและขัดขวางการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้จัดตั้ง “สภาประชาชน” โดยใช้วาทกรรมว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งผ่านมาแล้ว 3 ปีก็ไม่มีทีท่าว่าจะปฏิรูปอะไรได้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน

ระหว่างการชุมนุมของ กปปส. นอกจากการปิดล้อมกระทรวงและหน่วยงานราชการต่างๆแล้ว นายสุเทพยังประกาศขัดขวางการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวให้กับชาวนาอีกด้วย โดยประกาศว่าถ้า กปปส. ยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จเมื่อไรจึงจะจ่ายเงินรับจำนำข้าวให้กับชาวนา แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามทุกวิธีที่จะนำเงินมาจ่ายให้กับชาวนา แต่นายสุเทพและกลุ่ม กปปส. ก็ใช้วิธีกดดันทั้งการปิดล้อมและข่มขู่ต่างๆไม่ให้ทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อนุมัติเงินมาจ่ายชาวนาตามที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินการแม้จะเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องก็ตาม รวมถึงบุกกระทรวงพาณิชย์ตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อล้มการประมูลจำนำข้าวที่จะเอาเงินมาจ่ายให้กับชาวนา

ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และมีคำวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 9 คน พ้นจากตำแหน่งและสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 10 คน จนทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ไม่มีหัวหน้ารัฐบาลในขณะนั้น

วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 นายสุเทพและแกนนำ กปปส. ประกาศ การต่อสู้ครั้งสุดท้าย (หลายครั้งสุดท้าย)ว่า หากไม่ได้รับชัยชนะจะไม่เลิกชุมนุมเด็ดขาด ทำให้กองทัพประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ และถัดมาคือวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ยึดอำนาจ ซึ่งวิกฤตการณ์การเมืองช่วงปี 2556-2557 เห็นได้ชัดเจนว่าแท้จริงแล้วต้องการโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์และล้างบาง “ระบอบทักษิณ” ให้สิ้นซาก

มหากาพย์คดีรับจำนำข้าว

ทุกวันนี้ก็ยังมีคำถามว่า รัฐประหาร 22 พฤษภาคมนั้น มีการวางแผนมาก่อนหรือไม่ โดยเฉพาะการดำเนินคดีมากมายกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และสมาชิกพรรคเพื่อไทย รวมถึงแกนนำเสื้อแดงที่สนับสนุน “ระบอบทักษิณ” แทบจะฝ่ายเดียว คดีรับจำนำข้าวนอกจากจะเป็นเงื่อนไขสำคัญล้างบาง ตระกูลชินวัตร ด้วยการยึดทรัพย์แล้ว ยังถูกมองว่าเป็นการสถาปนากลุ่มอำนาจใหม่ภายใต้กลุ่มชาตินิยมผูกขาดที่ใกล้ชิดกับกองทัพอีกด้วย คดีรับจำนำข้าวจึงวิ่งแซงทุกคดีไปอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ โดยเฉพาะคดีของพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่ม กปปส. ซึ่งวันนี้แทบไม่มีความคืบหน้า หรือบางคดีหลักฐานก็หายสาบสูญไปอย่างพิสดาร

เว็บไซต์ waymagazine.org ได้สรุปไทม์ไลน์คดีรับจำนำข้าวนับตั้งแต่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาจนถึงวันที่ศาลฎีกาฯจะพิพากษาคดีรวมเป็นเวลาถึง 6 ปีกับ 2 วัน หรือ 2,194 วัน ถือเป็น มหากาพย์จำนำข้าว ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าศาลฎีกาฯจะมีคำตัดสินว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ผิดหรือไม่ผิดก็ตาม

เริ่มจากนโยบายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์แถลงต่อรัฐสภามีวรรคตอนสำคัญคือ ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้านโยบายจำนำข้าวในราคาสูงถึง 15,000-20,000 บาทต่อตันตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ซึ่งเป็นถ้อยแถลงที่สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อสังคมไทย สิ่งที่ตามมาคือ ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ก็มีเสียงคัดค้านท้วงติงทั้งจากนักวิชาการและนักการเมืองที่ตั้งคำถามทั้งเรื่องความโปร่งใสและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการบิดเบือนกลไกตลาด ก่อนถึง “วันพิพากษา” 25 สิงหาคม เราลองมาดูกันว่าเมื่อ 5 ปีก่อนจนถึงวันนี้ มีใครเกี่ยวข้องและเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการกล่าวหาคดีนโยบายรับจำนำข้าว ที่สุดท้ายไม่ได้ถูกกล่าวหาว่า “โกง” แต่ถูกกล่าวหาว่า “ละเว้น ปล่อยให้มีการโกง” ทั้งช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนมาถึง “วันพิพากษา” ดังนี้

23 สิงหาคม 2554

หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยระบุว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา 15,000-20,000 บาท/ตัน

7 ตุลาคม 2554

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มนโยบายรับจำนำข้าวฤดูกาลแรกปี 2554/2555 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนตามนโยบายรับจำนำข้าวกว่า 3,260,685 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 59.78 ล้านไร่

15 ตุลาคม 2555

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ยื่นเรื่องต่อนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ให้ไต่สวนนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ข้อหาเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายและทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 ว่าด้วยรัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม

6 พฤศจิกายน 2555

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสนอต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

3 ธันวาคม 2555

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อ ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 146 ราย ยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนนโยบายรับจำนำข้าว โดยตั้งประเด็นความโปร่งใสของการระบายข้าวผ่านสัญญารัฐต่อรัฐกับประเทศจีน

5 มิถุนายน 2556

นพ.วรงค์ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวค้างเก่าในโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 เป้าหมายในการยื่น ป.ป.ช. เน้นไปที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายข้าวและนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว

9 กรกฎาคม 2556

นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าระบุไต่สวน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.การดำเนินโครงการ โดย ป.ป.ช. ขอเอกสารไปยังส่วนราชการต่างๆ 7 หน่วยงาน 2.การระบายข้าว ป.ป.ช. ได้ขอและได้รับเอกสารข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 6 หน่วยงาน

3 ธันวาคม 2556

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่ามีมูลทุจริตโครงการจีทูจี จึงมีมติขยายการไต่สวนไปอีก 5 กลุ่มบุคคล โดยในคำแถลงระบุว่า “การที่รัฐกำหนดการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนั้นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายจากการขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554-มิถุนายน 2556 อีกทั้งปริมาณการส่งมอบข้าวไปยังจีนส่งไปเพียง 375,000 ตันเศษ จากปริมาณที่ต้องส่งมอบตามสัญญาจำนวน 4.8 ล้านตัน ซึ่งกรมศุลกากรยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีข้าวส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรแต่อย่างใด

16 มกราคม 2557

ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรงพร้อมผู้เกี่ยวข้องรวม 15 ราย ในความผิดกรณีการขายข้าวแบบจีทูจี และให้ไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่

20 มกราคม 2557

กลุ่ม กปปส. ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเพื่อไทยระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 ถึงพฤษภาคม 2557 มีการปิดล้อมธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่เพื่อคัดค้านการนำเงินฝากของประชาชนมาช่วยเหลือโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการทุจริต

28 มกราคม 2557

ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แทนการตั้งคณะอนุกรรมการ ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาต่ออดีตนายกรัฐมนตรีในเดือนถัดมา การดำเนินการไต่สวนกระทำควบคู่กันทั้งในกรณีคำร้องขอให้ถอดถอนและคำร้องขอให้ดำเนินคดีอาญา มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง โดยนายวิชาและนายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

18 กุมภาพันธ์ 2557

ป.ป.ช. มีมติเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์มาพบในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหากรณีละเลยการระงับความเสียหาย และปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยระบุความผิดว่า “ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นการจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 178 อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270”

20 กุมภาพันธ์ 2557

น.ส.ยิ่งลักษณ์เขียนเฟซบุ๊คระบุว่า ป.ป.ช. มีกระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม ใช้เวลาในการดำเนินคดีเพื่อแจ้งข้อหากับตนเพียง 21 วัน ทั้งที่ตนไม่ใช่ผู้ปฏิบัติแต่กลับถูกกล่าวหา จึงตั้งข้อสังเกตกระบวนการไต่สวน 3 ประเด็นได้แก่ 1.มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2.บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาเพียง 21 วัน และ 3.การปฏิเสธการขอเลื่อนคดีของจำเลย

31 มีนาคม 2557

น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาชี้แจงหลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติไม่อนุญาตให้ขยายเวลาตามที่ร้องขอ 45 วัน เป็นการชี้แจงด้วยลายลักษณ์อักษรและให้ปากคำด้วยวาจาประมาณ 25 นาที โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบพยานเพิ่มเติมประมาณ 10 ปาก

30 เมษายน 2557

ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์แย้งกรณี ป.ป.ช. ตัดพยาน 7 ปาก พร้อมกล่าวหา ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ หนึ่งในทีมทนายความ ระบุว่า “การที่ ป.ป.ช. ตัดพยานทั้ง 7 ปาก และไม่ลงพื้นที่ตรวจสต็อกข้าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นการด่วนสรุปและละเลยไม่ตรวจสอบหลักฐาน ไม่ให้ความเป็นธรรมกับนายกฯ ถือเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่สุจริต ทีมทนายความกำลังรวบรวมหลักฐานพฤติกรรมไม่ชอบของ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบในการตัดพยาน”

8 พฤษภาคม 2557

ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ชี้มูลให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ดำเนินคดีอาญาด้วยมติเอกฉันท์ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ชี้มูลความผิดโดยจำแนกผู้ถูกกล่าวหาเป็น 3 กลุ่มคือ 1.นักการเมือง 3 คน ได้แก่ นายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว และ พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2.เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต  อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และ 3.เอกชน 15 ราย

19 กุมภาพันธ์ 2558

อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาฯข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

19 พฤษภาคม 2558

ศาลฎีกาฯพิจารณาคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนัดแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นต่อศาลขอให้พิจารณาคดีลับหลัง แต่ศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกนัด หากไม่สามารถมาศาลในนัดใดจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลเป็นคราวๆไป

21 และ 28 กรกฎาคม 2558

ศาลฎีกาฯนัดตรวจพยานหลักฐาน ก่อนถึงวันนัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลฎีกาฯจึงกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานใหม่เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2558

15 มกราคม 2559

ไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกครอบคลุมพยานโจทก์ 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจขอความร่วมมือมวลชนที่มาให้กำลังใจห้ามชูแผ่นป้ายขนาดใหญ่ ทำได้เพียงมอบดอกไม้และส่งเสียงให้กำลังใจ

24 มิถุนายน 2559

ศาลฎีกาฯไต่สวนพยานโจทก์นัดสุดท้าย อัยการสูงสุดนำนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว เบิกความต่อเพิ่มเติม ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาฟังการไต่สวนด้วยเช่นกัน

5 สิงหาคม 2559

เริ่มไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดแรก ขณะที่จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด รวม 42 ปาก (5 สิงหาคม 2559-21 กรกฎาคม 2560)

21 กรกฎาคม 2560

ศาลฎีกาฯนัดไต่สวนพยานฝั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์นัดสุดท้าย ศาลไต่สวนพยานจำเลยจนจบ 3 ปาก ทนายจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 และคำร้องเพิ่มเติมลงวันที่ 11 และ 17 กรกฎาคม 2560 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 212 โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 25, 235 วรรคหก ขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ก่อนที่ศาลจะยกคำร้องของจำเลย

1 สิงหาคม 2560

น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจาระบุว่า ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม การตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเนื่องจากมั่นใจในความบริสุทธิ์ ทว่าไม่เคยได้รับการไต่สวนภายใต้หลักนิติธรรมจาก ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ทั้งโต้แย้งการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่ และระบุว่าในอนาคตจะไม่มีผู้นำคนใดกล้าเสนอนโยบายช่วยเหลือประชาชน

วันพิพากษา

วันที่ 25 สิงหาคม 2560 นอกจากคนไทยทั้งประเทศจะติดตามข่าวว่าศาลฎีกาฯจะตัดสินอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ รวมถึงนายบุญทรงและพวกอย่างไรแล้ว ทั่วโลกก็จับตามองเช่นกัน ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักและนักวิชาการมองว่า หากศาลฎีกาฯตัดสินว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มีความผิดและต้องถูกจำคุกก็จะยกชั้นการต่อสู้ ทำให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ต่างกับนางออง ซาน ซูจี ที่ถูกรัฐบาลพม่ากักบริเวณเป็นเวลาหลายปีกว่าจะได้รับอิสรภาพและกลายเป็นผู้นำคนสำคัญของพม่าในปัจจุบัน

พอล แชมเบอร์ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ถ้าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดจะกลายเป็นวีรสตรี และทำให้ประชาชนที่สนับสนุนยิ่งเกิดความศรัทธาเหมือนนางออง ซาน ซูจี ที่สำคัญยังทำให้มีคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะกับคนในตระกูลชินวัตร

ขณะที่บรรยากาศก่อนถึงวันที่ 25 สิงหาคม รัฐบาลทหารและกองทัพได้ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามข่มขู่เอาผิดรถที่นำประชาชนเดินทางมา หรือการพยายามดำเนินคดีกับนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์

กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งระงับใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์พีซทีวี ทำให้สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) ออกแถลงการณ์ประณามว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่ามีการใช้เจ้าหน้าที่รัฐและทหารไปกดดันประชาชนถึงในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ภาคเหนือซึ่งสนับสนุนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ

การยืนหยัดต่อสู้อย่างเข้มแข็งยิ่งทำให้คำพูดของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ว่า ไม่หนี และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แม้คำพิพากษาอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะไม่ทำให้รัฐบาลทหารสั่นคลอน แต่ย่อมทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองแน่นอน แม้ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่า “คำพิพากษา” จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องบวกนัก

อย่างที่นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับสำนักข่าวดีพีเอในเยอรมนี (Deutsche Presse Agentur) ว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลทหารและฝ่ายยิ่งลักษณ์ต่างถอยไม่ได้ทั้งคู่ ถ้าศาลยกฟ้องยิ่งลักษณ์ การรัฐประหารย่อมหมดความชอบธรรม

ถ้า “วันพิพากษา” ยังคงเป็น 25 สิงหาคม 2560 ไม่มี อภินิหารทางการเมือง ใดๆมาเลื่อนออกไป หรือเกิดกรณีพิเศษภายใต้ “ระบอบพิสดาร” จนเกิดอภินิหารที่ล็อกถล่มทลายแล้วละก็..

..วันพิพากษา 25 สิงหาคม 2560 อาจไม่ใช่เป็นแค่ วันพิพากษาจำเลยเท่านั้น แต่ คำพิพากษาย่อมจะมีผลผูกพันไปจนชั่วลูกหลานเหลนโหลนในภายหน้า และอาจถูกจารึกว่า..

25 สิงหาคม 2560 เป็น วันพิพากษากระบวนการยุติธรรมไทยไปด้วยโดยปริยาย!!??


You must be logged in to post a comment Login